‘ปลาสะนากยักษ์’ สายพันธุ์ปลาหายาก ซึ่งเชื่อกันว่าได้สูญพันธุ์ไปจากน่านน้ำกัมพูชาแล้ว แต่กลับถูกจับโดยชาวประมงบริเวณใกล้เขื่อนไฟฟ้าเซซานสอง ในจังหวัดสตึงแตรง
ทีมนักวิทยาศาสตร์ต่างพากันตกตะลึงเมื่อได้พบกับปลาสะนากยักษ์ สายพันธุ์ปลาหายาก ซึ่งเชื่อกันว่าได้สูญพันธุ์ไปจากน่านน้ำกัมพูชาแล้ว แต่กลับถูกจับโดยชาวประมงบริเวณใกล้เขื่อนไฟฟ้าเซซานสอง ในจังหวัดสตึงแตรง
Thach Panara หัวหน้าห้องปฏิบัติการ สถาบันวิจัยและพัฒนาการประมงน้ำจืด สังกัดกรมประมง ให้สัมภาษณ์กับพนมเปญโพสต์ว่า ไม่เคยพบตัวอย่าง ปลาสะนากยักษ์ (Aaptosyax grypus) ในแม่น้ำโขงที่น่านน้ำของกัมพูชามาเป็นเวลากว่าสองทศวรรษ ทีมทรัพยากรประมงของฝ่ายบริหารคาดว่าปลาสายพันธุ์นี้คงสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่การพบเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมได้สร้างความประหลาดใจให้กับทีมงานเป็นอย่างมาก
นักวิทยาศาสตร์กล่าวต่อว่า พวกเขาพบปลาสะนากยักษ์ในกัมพูชาครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2542 และไม่เคยคาดหวังว่าจะพบปลาสายพันธุ์นี้อีกครั้งหนึ่ง
สำหรับปลาสะนากยักษ์ที่พบมีน้ำหนัก 6 กิโลกรัม แต่น่าเสียดายที่มันตายเสียก่อน อย่างไรก็ตาม ซากปลาก็ยังถือเป็นทรัพยากรที่มีค่าสำหรับการวิจัย นักวิทยาศาสตร์จะตรวจสอบอย่างละเอียดเพื่อหาเบาะแสเกี่ยวกับรูปแบบชีวิตของสัตว์หายากชนิดนี้
“เรารู้สึกเสียใจที่มันตายไปแล้ว แต่ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ซากก็ยังสำคัญสำหรับเรา นี่อาจบ่งชี้ว่ายังมีพวกมันอาศัยอยู่ในน่านน้ำของกัมพูชา” เขากล่าวเสริม
โดยตัวอย่างที่ได้มานั้นกำลังถูกตรวจสอบที่ห้องปฏิบัติการสถาบันวิจัยและพัฒนาการประมงน้ำจืด สังกัดกรมประมง เพื่อตรวจสอบว่าปลาสะนากยักษ์ที่พบเป็นสายพันธุ์บริสุทธิ์หรือเป็นปลาเพาะเลี้ยงที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมแล้ว
Chea Seila ผู้จัดการโครงการ Wonders of the Mekong อธิบายว่าปลาสะนากยักษ์จะจับปลาตัวเล็กเป็นอาหารและใช้ชีวิตในแอ่งน้ำลึกของแม่น้ำโขงทางตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชาที่มีพรมแดนติดกับลาวและประเทศไทย เนื่องจากปลามีการเคลื่อนไหวในการว่ายหาเหยื่อ มันจึงติดอวนจับปลาได้ง่าย และในทศวรรษที่ผ่านมาคาดว่าจำนวนปลาน่าจะลดลงเกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์
ผู้จัดการโครงการเสริมว่า ขณะนี้ประชากรในประเทศลาวและประเทศไทยคาดว่าจะสูญพันธุ์เนื่องจากการประมงเกินขนาดและการพัฒนาเขื่อนตามแม่น้ำโขงทำให้เกิดการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย
“จากการศึกษาล่าสุดซึ่งดำเนินการในปี พ.ศ. 2560 – 2561 ระบุว่า ปลาสะนากยักษ์น่าจะสูญพันธุ์ในกัมพูชาแล้ว และยังพอพบได้ในประเทศไทยและลาว แต่ก็มีโอกาสพบน้อยมากๆ” เธอกล่าว
อย่างไรก็ตาม การพบในหนล่าสุดได้เพิ่มความหวังใหม่สำหรับนักวิจัยและนักอนุรักษ์
แม้ว่ายังไม่สามารถระบุตำแหน่งที่แน่นอนของประชากรกัมพูชา แต่การจับปลาได้พิสูจน์ว่าปลายังคงมีอยู่และจำเป็นต้องมีความร่วมมือมากขึ้นในการค้นหาสายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์นี้
Kung Chanthy หัวหน้าเครือข่ายประมงชุมชนใน Borei O’Svay จังหวัดสตึงแตรง กล่าวว่า ปลาสะนากยักษ์นั้นหายากมาก ชาวประมงในชุมชนของเขาไม่มีใครเคยจับได้สักตัวในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา
“เมื่อ 20 ที่แล้ว เราเคยจับได้เป็นระยะๆ แต่ก็จับได้ไม่บ่อยนัก เท่าที่จำได้ผมคิดว่าเป็นปลาสากน้ำจืด แต่พ่อแม่ของผมรู้จักมันดี และบอกว่ามันคือปลาสะนากยักษ์ และราคาของมันก็ใกล้เคียงกับปลาสะอี”
ปลาสะนากยักษ์สามารถเติบโตได้ยาวถึง 130 เซนติเมตร และหนักได้ถึง 30 กิโลกรัม มีเกล็ดเล็กและปากใหญ่คล้ายกับเต่าโดยมีกรามล่างที่เด่นชัด ปลาสะนากยักษ์ไม่มีหนวดไม่เหมือนญาติน้ำจืดหลายๆ ตัว
สปีชีส์นี้จัดอยู่ในประเภทใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งในรายการแดงของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN)
เรียบเรียบจาก Return of Mekong giant salmon carp raises hopes
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม