หลังจากการถกเถียงเป็นเวลา 2 วันระหว่างรัฐมนตรีด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมในการประชุมทางไกล เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กลุ่มประเทศ G7 ได้บรรลุข้อตกลงพร้อมเดินหน้าตามคำสัญญาที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส พร้อมทั้งลดการใช้ “ถ่านหิน” และทำให้อุตสาหกรรมพลังงานในประเทศมีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเท่ากับศูนย์ภายในสิ้นทศวรรษหน้า
.
ญี่ปุ่น ประเทศที่ให้เงินทุนสนับสนุนถ่านหินอันดับต้นๆ ของโลกเทียบเคียงได้กับประเทศจีน แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยจนกระทั่งใกล้เสร็จสิ้นการประชุม เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นยังแสดงท่าทีกังวลว่าหากญี่ปุ่นตัดสินใจไม่ให้ทุนสนับสนุนโครงการถ่านหิน จีนก็จะเข้ามาสวมบทบาทดังกล่าวแทนและก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในต่างประเทศซึ่งมีประสิทธิภาพต่ำกว่าโรงไฟฟ้าที่ออกแบบโดยญี่ปุ่น
ขณะที่ประเทศสมาชิก G7 อื่นๆ ประกอบด้วยสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมัน และแคนาดา ต่างเห็นพ้องต้องกันให้หยุดให้เงินทุนสนับสนุนโครงการถ่านหิน ที่ผ่านมาประเทศในกลุ่ม G7 และเศรษฐกิจสำคัญของโลกที่ไม่ใช่สมาชิก G7 ไม่ว่าจะเป็นจีนหรือเกาหลีใต้ ต่างมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการให้เงินทุนพัฒนาโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลในประเทศที่ยากจนกว่า โดยเฉพาะญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ซึ่งช่วยประเทศที่ขาดแคลนทุนรอนเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน
อย่างไรก็ดี องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) ระบุว่าการพัฒนาโครงการเชื้อเพลิงฟอสซอลแห่งใหม่ทั้งหมดต้องหยุดภายในปีนี้เพื่อให้โลกมีโอกาสที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ภายหลังการล็อคดาวน์เมื่อปีที่ผ่านมา นักวิเคราะห์พบว่าการบริโภคถ่านหินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ปีนี้อาจเป็นปีที่มีการปล่อยแก๊สเรือนกระจกเพิ่มขึ้นมากที่สุดอันดับต้นๆ ในหน้าประวัติศาสตร์
จอห์น เคอร์รี่ (John Kerry) ผู้แทนพิเศษว่าด้วยประเด็นสภาพภูมิอากาศกล่าวว่าสหรัฐอเมริกามีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันนโยบายเพื่อให้สอดคล้องกับการจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการทยอยลดการใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน พร้อมทั้งยุติการดำเนินการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ไม่มีเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์
เขายังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่าการตัดสินใจของ G7 นับเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญในการบรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีสที่ทุกประเทศจะต้องร่วมมือกันจำกัดไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยควรจำกัดไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสหากเป็นไปได้ นักวิทยาศาสตร์เสนอว่าหากจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ทั่วโลกต้องลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในทศวรรษนี้ พร้อมทั้งบรรลุเป้าหมายการปล่อยแก๊สเรือนกระจกสุทธิเท่ากับศูนย์ภายใน 30 ปีข้างหน้า
บาร์บารา ปอมปิลี (Barbara Pompili) รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมจากฝรั่งเศสกล่าวว่า “ฉันยินดีที่ได้เห็นว่าสมาคม G7 สามารถบรรลุข้อตกลงสำคัญนี้ได้ นั่นคือจุดจบโดยสมบูรณ์ของการสนับสนุนโดยรัฐให้มีการผลิตไฟฟ้าโดยถ่านหินในต่างประเทศ นี่คือสัญญาณสำคัญในการบอกว่าถ่านหินคือพลังงานของอดีตและไม่มีที่ยืนในภูมิทัศน์การผลิตพลังงานในอนาคต มันยังเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด”
“นี่คือการตัดสินใจที่ยากลำบากของญี่ปุ่น และฉันยินดีอย่างมากที่ญี่ปุ่นสามารถตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาด” เธอสรุป
เกาหลีใต้ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ให้เงินทุนสนับสนุนโรงไฟฟ้าต่างหินในต่างแดน ได้บรรลุข้อตกลงว่าจะยุติการดำเนินการลักษณะนี้เช่นกัน ทำให้เหลือเพียงจีนเพียงประเทศเดียวที่ยังให้เงินทุนสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ในการประชุม COP26 จีนจะถูกจับตามองในฐานะประเทศที่ปล่อยแก๊สเรือนกระจกมากที่สุดในโลก แต่ยังไม่มีแผนในระดับชาติเพื่อจัดการลดระดับการปล่อยแก๊สเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม
“เวลาของเรากำลังในการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกทั่วโลก 45 เปอร์เซ็นต์ภายในอีก 10 ปีข้างหน้ากำลังจะหมดลง นั่นหมายความว่าทุกประเทศทั่วโลกต้องส่งแผนการลดแก๊สเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรมและสามารถบรรลุได้ภายในปีนี้ การลงทุนครั้งใหญ่เพื่อบรรลุเป้าหมายในอีกหนึ่งทศวรรษจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในอีก 30 ปีข้างหน้า นั่นคือการยุติโครงการถ่านหินแห่งใหม่ตั้งแต่วันนี้ ทยอยปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในกลุ่มประเทศโออีซีดีภายในทศวรรษนี้ และปิดโรงงานถ่านหินทั้งหมดบนโลกภายในอีก 20 ปีข้างหน้า” เอมินานา โมฮัมหมัด (Amina Mohammed) รองเลขาธิการสหประชาชาติกล่าวในที่ประชุม
ถอดความและเรียบเรียงจาก Richest nations agree to end support for coal production overseas
ผู้เขียน
บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก