แหล่งน้ำจืด – ขณะที่งานวิจัยส่วนใหญ่มักจะให้ความสำคัญกับความแตกต่างของความหลากหลายทางชีวภาพทั้งในเขตร้อนชื้นและเขตอบอุ่น ยังมีอีกประเด็นสำคัญที่กลับไม่ได้รับการศึกษามากเท่าที่ควรนั่นคือความรุ่มรวยของชนิดพันธุ์ในแหล่งอาศัย 3 ประเภทสำคัญของโลกนั่นคือ บนบก ในมหาสมุทร และแหล่งน้ำจืด
.
งานวิจัยชิ้นล่าสุดโดยนักชีววิทยาจาก University of Arizona ศึกษาสาเหตุของความหลากหลายทางชีวภาพบนบก ในมหาสมุทร และในแหล่งน้ำจืดระดับโลก รวมทั้งหาคำอธิบายที่เป็นไปได้ของสาเหตุดังกล่าว พวกเขาพบว่าทะเลสาบ แม่น้ำ และลำธาร แม้จะคิดเป็นสัดส่วนจิ๋วจ้อยของพื้นผิวโลก แต่พื้นที่ดังกล่าวกลับเป็นบ้านของสัตว์และพืชหลากหลายชนิดพันธุ์ ข้อค้นพบดังกล่าวเป็นส่วนเสริมสำคัญในการทำงานอนุรักษ์ทั่วโลก
การศึกษาชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Ecology Letters โดยมีนักวิจัยหลังคือ Cristian Román-Palacios และ John J. Wiens จาก University of Arizona และ Daniela Moraga-López นักศึกษาปริญญาเอกจาก Pontificia Universidad Católica ในประเทศชิลี
ถึงแม้มหาสมุทรจะครอบคลุมพื้นที่ 70 เปอร์เซ็นต์ของพื้นผิวโลก แต่ชนิดพันธุ์พืชและสัตว์กว่า 80 เปอร์เซ็นต์กลับพบอยู่ในบกหรือราว 28 เปอร์เซ็นต์ของพื้นผิวโลก การศึกษาพบว่า แม้แหล่งน้ำจืดคิดเป็นพื้นที่เพียง 2 เปอร์เซ็นต์ของพื้นผิวโลก แต่นับว่าเป็นพื้นที่ที่มีชนิดพันธุ์หลากหลายที่สุดต่อตารางเมตร
การศึกษาชิ้นนี้ครอบคลุมชนิดพันธุ์สัตว์และพืช 99 เปอร์เซ็นต์ที่เรารู้จัก ทีมวิจัยคาดว่าชนิดพันธุ์สัตว์ 77 เปอร์เซ็นต์นั้นอาศัยอยู่บนบก 12 เปอร์เซ็นต์อาศัยในมหาสมุทร และ 11 เปอร์เซ็นต์อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืด ขณะที่พืชพรรณนั้นมีเพียง 2 เปอร์เซ็นต์อาศัยอยู่ในมหาสมุทร และ 5 เปอร์เซ็นต์อาศัยในแหล่งน้ำจืด
ทีมวิจัยยังสนใจประเด็นที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่าการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ด้านพันธุกรรมระหว่างกลุ่มชนิดพันธุ์ (phylogenetic diversity) ซึ่งวัดความใกล้ชิดของแต่ละชนิดพันธุ์โดยเทียบเคียงกับสัตว์ชนิดอื่นๆ เมื่อทีมวิจัยพิจารณาความสัมพันธ์ด้านพันธุกรรมระหว่างกลุ่มชนิดพันธุ์ พวกเขาพบว่าความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งน้ำจืดนั้นสูงกว่าบนบกและในมหาสมุทรเกือบสองเท่าทั้งในสัตว์และในพืช
Palacios กล่าวว่าความสัมพันธ์ด้านพันธุกรรมระหว่างกลุ่มชนิดพันธุ์ในระดับสูงนั้นสะท้อนถึงความสำคัญอย่างยิ่งในการอนุรักษ์ระบบนิเวศน้ำจืด “รูปแบบของระบบนิเวศน้ำจืดขนาดใหญ่จะคล้ายกับการทำงานศิลปะกระเบื้องโมเสก โดยกลุ่มสัตว์และพืชในแหล่งน้ำจืดจะเหมือนกับชิ้นส่วนจากชนิดพันธุ์บนบกและในน้ำ ดังนั้น การคุ้มครองพื้นที่ดังกล่าวจะช่วยอนุรักษ์กลุ่มชนิดพันธุ์สัตว์และพืชที่หลากหลายอย่างยิ่ง”
ในทางกลับกัน ชนิดพันธุ์สัตว์และพืชที่พบได้บนบกพบเพียงไม่กี่กลุ่มอนุกรมวิธาน อาทิ เห็ดรา ไส้เดือน หอย และสัตว์มีกระดูกสันหลัง ทีมวิจัยจึงสรุปว่าการอนุรักษ์แหล่งน้ำจืดจะช่วยคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพและประวัติศาสตร์การวิวัฒนาการได้มากกว่าเมื่อเทียบกับพื้นดินหรือมหาสมุทรในขนาดพื้นที่เดียวกัน
“การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ด้านพันธุกรรมระหว่างกลุ่มชนิดพันธุ์ทำให้เรามีโอกาสอนุรักษ์ประวัติศาสตร์การวิวัฒนาการที่สำคัญยิ่งเอาไว้” Wiens กล่าว พร้อมกับระบุว่าการกระจายตัวของกลุ่มอนุกรมวิธานในแต่ละแหล่งอาศัยช่วยอธิบายรูปแบบความสัมพันธ์ด้านพันธุกรรมระหว่างกลุ่มชนิดพันธุ์ได้อย่างดีเยี่ยม
ทีมวิจัยยังพบว่าความรุ่มรวยของชนิดพันธุ์ยังสามารถอธิบายได้ด้วยระดับความแตกต่างของอัตราการกลาย (Diversification rates) ในแต่ละแหล่งอาศัยอีกด้วย กล่าวคือจำนวนของชนิดพันธุ์ที่ถือกำเนิดขึ้นในพื้นที่ภายในกรอบระยะเวลาเดียวกัน หากแหล่งอาศัยเอื้อให้เกิดการกลายของชนิดพันธุ์ได้รวดเร็วกว่า ก็จะมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงกว่า อัตราการกลายสามารถอธิบายได้ด้วยหลายปัจจัย อาทิ ความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการอธิบายเรื่องอัตราการกลายในมุมมองของ Wiens
“จำนวนชนิดพันธุ์บนบกอาจเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าในมหาสมุทรเนื่องจากบนบกมีอุปสรรคทางภูมิศาสตร์การขัดขวางการกระจายพันธุ์ที่มากกว่าเมื่อเทียบกับในมหาสมุทรที่สิ่งมีชีวิตสามารถเดินทางได้อย่างเสรี” เขากล่าว “อุปสรรคเหล่านี้ดูจะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดชนิดพันธุ์ใหม่ๆ ในแหล่งอาศัย ไม่ว่าจะเป็นสัตว์หรือพืชก็ตาม”
ส่วนคำอธิบายอื่นๆ เช่น แหล่งอาศัยนั้นมีสิ่งมีชีวิตก่อนแหล่งอาศัยอื่นกลับไม่สนับสนุนข้อค้นพบสักเท่าไหร่
“เรามีหลักฐานที่ค่อนข้างชัดเจนว่ามหาสมุทรเป็นแหล่งอาศัยแรกที่มีสิ่งมีชีวิต ก่อนที่จะขยับมายังน้ำจืดและบนบกในท้ายที่สุด นี่คือข้อเท็จจริงสำหรับทั้งสัตว์และพืช ดังนั้น ความหลากหลายทางชีวภาพที่สูงกว่าบนบกไม่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลที่ว่าเกิดขึ้นเพราะแหล่งอาศัยนั้นมีสิ่งมีชีวิตขึ้นมาก่อน”
นอกจากคำอธิบายข้างต้นแล้ว ยังมีข้อเสนออื่นๆ ว่าด้วยปัจจัยที่ทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น ผลิตภาพทางชีววิทยาซึ่งหมายถึงความรวดเร็วในการเติบโตของพืชหรือขนาดของพื้นที่ ซึ่งยังไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์
.
ถอดความและเรียบเรียงจาก Freshwater habitats are fragile pockets of exceptional biodiversity, study finds
ผู้เขียน
บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก