นกฟลามิงโกตายนับพัน เหตุภัยแล้งรุนแรงในตุรกี

นกฟลามิงโกตายนับพัน เหตุภัยแล้งรุนแรงในตุรกี

ทุกๆ ปี นกฟลามิงโกจะบินมาพักและอาศัยแหล่งน้ำของทะเลสาบทูซ ประเทศตุรกี เป็นที่วางไข่ เลี้ยงลูก ก่อนบินอพยพไปหากินที่อื่นต่อ

ในบันทึกถึงความอุดมสมบูรณ์ระบุว่า ปี 2018 มีนกฟลามิงโกเกิดใหม่ประมาณ 10,000 ตัว

แต่ปีนี้เหลือเพียง 5,000 ตัว

ซ้ำร้าย ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ความแห้งแล้งที่ถาโถมาสู่ประเทศตุรกี ทำให้น้ำในทะเลสาบเหือดแห้ง

ปรากฎเพียงเศษเกลือแห้งกรังและซากนกฟลามิงโกทั้งน้อยและใหญ่นอนกลายเกลื่อนบนพื้นดินแตกระแหง

ในการประเมินจำนวน คาดว่าอาจมีนกฟลามิงโก(แห้ง)ตายมากถึงหนึ่งพันตัว

ซากศพส่วนใหญ่เป็นนกวัยเด็กที่ยังบินไม่ได้

นักสิ่งแวดล้อม อธิบายว่านี่เป็นผลพวงหนึ่งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ได้บ่มเพาะความรุนแรงให้กับภูมิภาคนี้มาสักระยะแล้ว

ทะเลสาบทูซ เป็นทะเลสาบน้ำเค็มที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ และเป็นแหล่งทรัพยากรเกลือที่สำคัญของภูมิภาค

ในความหมายของระบบนิเวศ – ที่นี่เป็นพื้นที่คุ้มครอง ได้รับการประกาศให้เป็นแหล่งอนุรักษ์นกของประเทศ

นอกจากนี้ยังมีพืชมากกว่า 279 สายพันธุ์ มี 39 รายการเป็นพืชเฉพาะถิ่น และ 4 รายการใกล้สูญพันธุ์ มีแมลง 129 สายพันธุ์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 15 สายพันธุ์

ในปี 2013 เคยได้รับการเสนอชื่อให้เป็นแหล่งมรดกโลกต่อยูเนสโก

แต่เนื่องจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของทะเลสาบทูซหร่อยหรอลง พื้นที่อนุรักษ์แห่งนี้จึงยังถูกบรรจุไว้ใน “บัญชีรายชื่อเบื้องต้น” ของอนุสัญญามรดกโลกเท่านั้น

ในรายงานที่เกี่ยวเนื่อง กล่าวถึงอุณหภูมิเฉลี่ยในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตุรกีเผชิญความแห้งแล้งถี่ขึ้น

ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา ปริมาณน้ำฝนของภูมิภาคลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

เกษตรกรบางรายหันไปพึ่งพาน้ำบาดาล

จากเดิมที่เคยขุดลึก 20 เมตร วันนี้ต้องเจาะหาน้ำในความลึกไม่ต่ำกว่า 100 เมตร

ต่อความแห้งแล้งที่เกิดขึ้น ยังนำไปสู่การแย่งชิงน้ำในทะเลสาบจากกลุ่มเกษตรกร

มีรายงานถึงการผันน้ำออกจากทะเลสาบ และปิดกั้นทางน้ำที่ไกลเข้ามาหมุนเวียนเป็นกลไกทางธรรมชาติของทะเลสาบแห่งนี้

นักอนุรักษ์บางคนตั้งข้อสังเกตว่าประเด็นนี้อาจมีส่วนทำให้ทะเลสาบเหือดแห้งจนหมด อันนำไปสู่โศกนาฎกรรมหมู่ของนกฟลามิงโก

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของตุรกีปฏิเสธถึงความเชื่อมโยงนี้

ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าประเทศตุรกีอาจเจาะวิกฤตภัยแล้งขั้นรุนแรงภายในทศวรรษหน้า

ซึ่งจะกระทบต่อทั้งมนุษย์และสัตว์มากกว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน

 


อ้างอิง

ผู้เขียน

Website | + posts

โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน