5 ประเด็นสำคัญในรายงาน IPCC เกี่ยวกับผลกระทบและการปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน

5 ประเด็นสำคัญในรายงาน IPCC เกี่ยวกับผลกระทบและการปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน

ภาวะโลกร้อน – รายงานล่าสุดจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ของ UN กล่าวถึงผลกระทบ การปรับตัว และความเปราะบางที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
.

เอกสารนี้เป็นรายงานการค้นพบข้อมูลใหม่ทั้งหมด ในช่วงที่อุณหภูมิของโลกเราร้อนเฉลี่ยที่ 1.1 องศา ซึ่งส่งผลกระทบทั้งต่อระบบธรรมชาติและมนุษย์ และความสามารถในการปรับตัวของเราจะถูกจำกัดมากขึ้นเมื่อความร้อนเพิ่มขึ้นทุกๆ ระดับ

ต่อไปนี้คือประเด็นสำคัญห้าประการในรายงานฉบับใหม่
.

1. ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นหากละเลยภาวะโลกร้อน

นับตั้งแต่รายงาน IPCC ฉบับก่อนหน้าเกี่ยวกับผลกระทบและการปรับตัวในปี 2014 คลื่นความร้อน ความแห้งแล้ง ไฟป่า และความรุนแรงอื่นๆ ได้เพิ่มความถี่และความรุนแรงเกินกว่าความแปรปรวนที่เกิดตามธรรมชาติ อันตรายเหล่านี้ได้สร้างความเสียหายอย่างมากต่อระบบนิเวศทั่วโลก และในบางกรณีก็นำไปสู่ความสูญเสียที่ไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบางชนิด มนุษย์เองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ในด้านความไม่มั่นคงทางอาหารและน้ำที่ขาดแคลน อุบัติการณ์ของโรคที่เกิดจากอาหาร น้ำ และพาหะนำโรคที่มากขึ้น รวมถึงเรื่องสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แย่ลง

หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ให้ความสำคัญต่อภาวะโลกร้อน อันตรายจากสภาพอากาศเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกแต่ละครั้ง จะเพิ่มการสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้น
.

2. การปรับตัวกำลังมาถึงขีดจำกัด

รายงานระบุว่ามาตรการปรับตัวต่อสภาพอากาศในปัจจุบันของโลกส่วนใหญ่ไม่ได้ผลเสมอไป อันที่จริง มีทั้งขีดจำกัด ‘ยาก’ และ ‘ง่าย’ ในระบบธรรมชาติ การปรับตัวที่ยากหมายความว่าต้องไม่มีการแทรกแซงโดยมนุษย์เลย (นอกเหนือจากการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก) สามารถสร้างความแตกต่างได้ ตัวอย่างเช่น แนวปะการังน้ำอุ่นอาจหายไปโดยสิ้นเชิงหากอุณหภูมิของมหาสมุทรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คุณไม่สามารถ “ปรับตัว” ให้เข้ากับสิ่งนั้นได้

ในระบบของมนุษย์ ข้อจำกัดที่ไม่ยากรวมถึงอุปสรรคต่างๆ เช่น การเงินไม่เพียงพอและการวางแผนที่ไม่ดี ซึ่งสามารถแก้ไขได้ผ่านการกำกับดูแลที่ครอบคลุมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดที่รุนแรง เช่น ปริมาณน้ำในเกาะเล็กๆ ที่จำกัด เนื่องจากทะเลที่เพิ่มขึ้นและสภาพอากาศที่รุนแรงอาจหมายถึงน้ำทะเลปนเปื้อนน้ำจืด และเมื่อเราสูญเสียเกาะหนึ่งไปสู่ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น จะไม่มีการสิ่งใดๆ นำเกาะนั้นกลับคืนมาได้อีก

IPCC ยังพบว่าการปรับตัวไม่สามารถป้องกันการสูญเสียและความเสียหายได้ทั้งหมด ซึ่งแต่ละที่จะได้รับผลกระทบที่แตกต่างกันและไม่เท่าเทียมกัน
.

3. ‘การปรับตัวที่ขาดประสิทธิภาพ’ อาจทำให้สิ่งต่างๆ แย่ลงได้

IPCC อ้างถึงหลักฐานของการปรับตัวที่เพิ่มความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการปรับตัว ตัวอย่างหนึ่ง คือ การก่อกำแพงเพื่อป้องกันถิ่นฐานจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น กลับกลายเป็นการปิดกั้นน้ำฝนทำให้ไม่สามารถระบายออกจากพื้นที่ได้ ซึ่งนำไปสู่อุทกภัยที่ก่อให้เกิดอันตรายรูปแบบใหม่ น่าเสียดายที่มีหลักฐานมากมายเกี่ยวกับการปรับตัวที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้น และสิ่งนี้ส่งผลกระทบโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนชายขอบและคนที่ด้อยโอกาส

สำหรับรายงานล่าสุดนี้ IPCC ยังได้ใช้ความพยายามอย่างมีสติในการนำนักปรัชญา นักมานุษยวิทยา และผู้เขียนคนอื่นๆ จากหลากหลายสาขาวิชา ซึ่งอาจไม่ถูกมองว่าเป็นพื้นที่ดั้งเดิมของงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นี่หมายถึงการใช้สังคมศาสตร์เชิงคุณภาพมากขึ้น และให้ภาพที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นในหัวข้อต่างๆ เช่น ความเปราะบางและความยุติธรรมของสภาพอากาศ

ไม่เหมือนกับรายงาน IPCC อื่นๆ ก่อนหน้านี้ รายงานนี้พยายามเชื่อมโยงความรู้ของชนพื้นเมืองเข้าไว้ด้วย อย่างไรก็ตาม มีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดใน IPCC เกี่ยวกับประเภทของความรู้ที่สามารถรวมไว้ได้ โดยที่สิ่งใดๆ ที่ไม่ถูกตรวจสอบ หรือยังมีความคลางแคลงโดยประเทศสมาชิก แม้ว่ารายงานฉบับใหม่นี้เป็นขั้นตอนที่ครอบคลุม แต่ก็ยังมีงานสำคัญที่ยังต้องตรวจสอบ เพื่อให้แน่ใจว่าความรู้ เช่น เรื่องราวที่เล่าสืบทอดจากปากต่อปากของชนพื้นเมืองจะมีพื้นที่ในการประเมินของ IPCC
.

4. เมืองคือความท้าทายและโอกาส

ในบรรดาตัวเลขที่รายงาน ผู้คนมากกว่าหนึ่งพันล้านคนที่ตั้งถิ่นฐานในที่ราบลุ่มต้องเผชิญกับอันตราย เช่น การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ชายฝั่งที่ทรุดโทรม หรือน้ำท่วมเมื่อกระแสน้ำสูงขึ้น ในขณะที่ชาวเมืองอีก 350 ล้านคนอาศัยในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น อุณหภูมิที่สูงมาก ยังทำให้ในเมืองต่างๆ เจอปัญหาแย่ลงไปอีก เช่น มลพิษทางอากาศ

เมืองต่างๆ ก็ยังโอกาสรอดได้เช่นกัน และในรายงานของ IPCC ได้แสดงตัวเลือกที่หลากหลายสำหรับการปรับตัวของเมือง ซึ่งรวมถึงสิ่งกีดขวางทางกายภาพเพื่อหยุดน้ำท่วมและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น หรือการแก้ปัญหาตามวิถีธรรมชาติอื่นๆ เช่น การปลูกต้นไม้เพื่อชะลอการไหลของแม่น้ำ และให้ร่มเงาแก่บ้านเรือนเมื่อเกิดคลื่นความร้อน หรือการฟื้นฟูป่าชายเลนที่ปกป้องชุมชนจากน้ำท่วมบริเวณชายฝั่ง รายงานยังกล่าวถึงมาตรการนโยบายทางสังคม เช่น การจัดเตรียมทุนสำหรับเครือข่ายระวังภัย ประกัน และเงินช่วยเหลือด้านอาชีพอื่นๆ
.

5. หน้าต่างแห่งโอกาสกำลังจะปิดลงอย่างรวดเร็ว

รายงานฉบับใหม่เน้นถึงความจำเป็นในการปรับมาตรการควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้เกิด “การพัฒนาที่ยืดหยุ่นต่อสภาพอากาศ” สิ่งนี้จะต้องใช้เงินทุนที่เพียงพอ ธรรมาภิบาลที่ครอบคลุม ความโปร่งใสในการตัดสินใจ และการมีส่วนร่วมของคนและกลุ่มต่างๆ

ทว่า โลกกำลังอยู่บนเส้นทางที่จะทำให้โลกร้อนเกิน 1.5 องศาเซลเซียสภายในทศวรรษหน้า นโยบายการพัฒนาในปัจจุบันซึ่งเร่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นเพิ่มความเสี่ยงต่อสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสม และกำลังขยายความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม

เพื่อเร่งเปลี่ยนแปลงทิศทางโดยรวมของเราจากภาวะโลกร้อนที่ 1.5 องศาเซลเซียส รายงานได้กำหนดเส้นทางสำหรับการพัฒนาที่เหมาะสมต่อสภาพอากาศที่ผู้กำหนดนโยบายสามารถนำไปใช้ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยลดความเสี่ยงด้านสภาพอากาศในขณะที่เรากำลังปรับตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ผู้ที่เสี่ยงต่อภาวะโลกร้อนมากที่สุด

แต่อย่างไรก็ตาม เวลากำลังเหลือน้อยเต็มที

ดาวน์โหลดรายงาน IPCC ฉบับเต็ม


เรียบเรียงจาก Five key points in the IPCC report on climate change impacts and adaptation

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม