แบคทีเรียตัดต่อพันธุกรรมอาจช่วยลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกในอุตสาหกรรมการบิน

แบคทีเรียตัดต่อพันธุกรรมอาจช่วยลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกในอุตสาหกรรมการบิน

‘แบคทีเรีย’ ตัดต่อพันธุกรรมอาจช่วยลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกของอุตสาหกรรมการบินเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

บริษัทสตาร์ตอัปใช้ ‘แบคทีเรีย’ ที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรม ประกอบกับแสงสว่าง และแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อสร้างทางเลือกสำหรับผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและได้รับความสนใจจาก United หนึ่งในสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก

อุตสาหกรรมการบินปล่อยแก๊สเรือนกระจกประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ จากกิจกรรมทั้งหมดของมนุษย์ หรือคิดเป็นราว 1 กิกะตันในปี พ.ศ. 2562 ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเราก็ยังไม่เห็นทางออกของปัญหา ขณะที่การคมนาคมวิธีอื่นยังมีสารพัดทางเลือกใหม่ อาทิ แบตเตอรีสำหรับรถยนต์ ขณะที่เครื่องบินนั้นยุ่งยากกว่าในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ

เชื้อเพลิงราคาประหยัดที่ผลิตจาก ‘แบคทีเรีย’ อาจช่วยลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกของอุตสาหกรรมการบินเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในอดีตมีความพยายามหลายครั้งในการผลิตเชื้อเพลิงจากแบคทีเรียแต่ก็ไม่มีครั้งไหนที่ประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ แต่เทคโนโลยีการตัดต่อพันธุกรรมที่ก้าวหน้า และเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็อาจทำให้โครงการดังกล่าวประสบผล

United ให้งบสนับสนุนบริษัท Cemvita Factory ซึ่งพัฒนาการผลิตเชื้อเพลิงเครื่องบินด้วยแบคทีเรีย สายการบินดังกล่าวเป็นหนึ่งในหลายสายการบินที่พยายามมองหาเชื้อเพลิงทางเลือก “ปัจจุบันนี้เรายังไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเชื้อเพลิงเหลวที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน” Andrew Chang จากบริษัท United Airline Ventures บริษัทย่อยที่เน้นการลงทุนในสตาร์ตอัปของสายการบินดังกล่าว

แบคทีเรีย

วิธีการของ Cemvita ต้องพึ่งพาแบคทีเรียที่มีความสามารถในการสังเคราะห์แสงซึ่งเรียกว่าไซยาโนแบคทีเรียที่ใช้แสงและคาร์บอนไดออกไซด์ในการเติบโต บริษัทใช้วิธีการตัดต่อพันธุกรรมจนสามารถสร้างแบคทีเรียที่ผลิตสารเคมีพึงประสงค์ได้ โดยในที่นี้คือส่วนประกอบของเชื้อเพลิงเครื่องบิน

Roger Harris ผู้บริหาร Cemvita ระบุว่าแม้ว่ารายละเอียดจะอยู่ในระหว่างการปรับปรุงพัฒนา Cemvita จะใช้เงินทุนที่ได้จาก United ในการพัฒนาและแปลงนวัตกรรมในห้องทดลองให้สามารถใช้ได้ในเชิงพาณิชย์ นอกจากโครงการดังกล่าวแล้ว บริษัทก็ยังหาวิธีใช้แบคทีเรียในการผลิตเอทิลีนซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของการผลิตพลาสติกบางชนิด

Moji Karimi ผู้บริหารของบริษัทระบุว่าจุดเด่นของเชื้อเพลิงที่ผลิตโดย Cemvita คือการมุ่งหน้าสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน เพราะเหล่าแบคทีเรียก็ต้องใช้คาร์บอนในการผลิตเชื้อเพลิงเช่นกัน เชื้อเพลิงที่ผลิตได้ก็ยังปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ แต่ก็จะถูกหักกลบลบกันจากกระบวนการผลิตที่ใช้คาร์บอนเช่นกัน

ส่วนแสงที่แบคทีเรียต้องใช้สังเคราะห์ Cemvita คาดว่าจะใช้แสงไฟประดิษฐ์จากพลังงานไฟฟ้า เพราะถึงแม้ว่าแสงอาทิตย์จะไม่มีต้นทุน แต่จะกลายเป็นเงื่อนไขในการก่อสร้างอาคารผลิตเชื้อเพลิง

Cemvita ไม่ใช่บริษัทแรกที่พยายามผลิตเชื้อเพลิงจากแบคทีเรียตัดต่อพันธุกรรม หลากหลายบริษัท อาทิ LS9 ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2548 และ Joule Unlimited ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2550 แม้ว่าทั้งสองบริษัทจะได้รับเงินลงทุนมหาศาลและสร้างความตื่นเต้นในแวดวงเชื้อเพลิงชีวภาพ แต่ความพยายามของทั้งสองบริษัทก็ไม่สำเร็จและต้องปรับเปลี่ยนเป้าหมายออกจากการผลิตเชื้อเพลิง LS9 ถูกจำหน่ายออกไปในปี พ.ศ. 2557 ส่วน Joule ปิดตัวลงในปี พ.ศ. 2560

David Berry ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท LS9 และ Joule Unlimited มองว่าเชื้อเพลิงจากแบคทีเรียในปัจจุบันอาจอยู่ในโลกที่แตกต่างออกไป เครื่องมือในการตัดต่อพันธุกรรมนั้นพัฒนาขึ้นอย่างมาก นักวิจัยในปัจจุบันสามารถหาและทดสอบยีนได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น และเทคนิคในการตัดต่อพันธุกรรมก็มีความแม่นยำยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม การแปลงนวัตกรรมให้ใช้ได้เชิงพาณิชย์ก็ยังเป็นความท้าทาย Joule เผชิญปัญหาที่จะระดมเงินทุนก้อนใหญ่เพื่อสร้างโรงงานผลิตในช่วงราคาน้ำมันตกต่ำ นักลงทุนในปัจจุบันอาจจะมีความพร้อมมากกว่าในการสนับสนุนโครงการระยาว แต่เศรษฐกิจขาลงก็อาจกลายเป็นอุปสรรคเช่นกัน

น้ำมันของ Cemvita ยังต้องพัฒนาอีกไกล แม้แต่ความพยายามที่จะชิงส่วนแบ่งตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงการบินเพียงจิ๋วจ้อยก็ต้องอาศัยทั้งแหล่งทุนและเวลามหาศาล แต่ด้วยการสนับสนุนจาก United บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพแห่งนี้ก็อาจมีโอกาสพุ่งทะยาน

ถอดความและเรียบเรียงจาก How engineered microbes could cut aviation emissions

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก