เพนกวินจักรพรรดิเสี่ยงสูญพันธุ์เพราะวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เพนกวินจักรพรรดิเสี่ยงสูญพันธุ์เพราะวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

‘เพนกวินจักรพรรดิ’ กลายเป็นสิ่งมีชีวิตอีกชนิดที่ถูกวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขึ้นบัญชีดำ

ตามแถลงการณ์ของหน่วยงานดูแลสัตว์ป่าของสหรัฐฯ U.S. Fish and Wildlife Service ได้แจ้งว่า ‘เพกวินจักรพรรดิ’ ถูกบรรจุรายชื่อเข้าสู่รายการสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ – Endangered Species Act (ESA) เป็นที่เรียบร้อย

โดยสาเหตุถูกระบุว่าเป็นผลพวงจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังบุกจู่โจมน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกาอย่างไร้ความปราณี

สำหรับเพนกวินจักรพรรดิ สายพันธุ์นี้ต้องการที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย และเอื้อต่อการดำรงชีวิตอย่างการหาอาหาร หรือภูมิประเทศที่สามารถช่วยกำบังแรงลมหนาว – หากพื้นที่เหล่านี้หายไป โอกาสรอดของเพนกวินก็จะลดลง

ไม่นับว่าในบางกรณี อุณหภูมิที่สูงขึ้นได้ทำให้แผ่นน้ำแข็งเกิดการแตกตัวอย่างกระทันหัน นั่นก็ยิ่งกระทบต่อการอยู่รอดของเพนกวินได้โดยตรง 

ตัวอย่างเช่น ปี ค.ศ. 2016 แผ่นน้ำแข็งที่บริเวณอ่าวฮัลเลย์ ซึ่งเป็นอาณานิคมที่เพนกวินจักรพรรดิใช้ฟักไข่เกิดการแตกตัวในช่วงที่เพนกวินเด็กเพิ่งลืมตาออกมาดูโลกได้ไม่นาน กำลังวังชายังไม่แข็งแรงดีพอจะว่ายน้ำหรือวิ่งหาที่หลบภัยได้ทัน 

เหตุการณ์นั้นทำให้มีเพนกวินน้อยจมน้ำเสียชีวิตลงไม่ต่ำกว่า 10,000 ตัว 

และถูกนับเป็นภัยพิบัติใหญ่ของประชากรเพนกวินจักรพรรดิ เนื่องจากอ่าวฮัลเลย์ถือเป็นที่อยู่อาศัยที่ใหญ่เป็นอันดับสองของเพนกวินจักรพรรดิ

แม้ในเวลาต่อมาจะพบการกระจายตัวของเพนกวินจักรพรรดิในพื้นที่ใกล้เคียงแทน แต่จำนวนที่พบก็ขาดหายไปเป็นจำนวนมาก เทียบไม่ได้เลยกับที่เคยปรากฏตัวบริเวณอ่าวฮัลเลย์

นอกจากนี้ ด้วยอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ยังส่งผลให้น้ำทะเลเกิดความกรด ซึ่งกระทบต่อวงจรชีวิตของคริล (Krill) หนึ่งในเมนูโปรดของเพนกวินจักรพรรดิให้มีจำนวนลดน้อยลง

ตามที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ ปัจจุบันมีเพนกวินจักรพรรดิเหลืออยู่บนโลกราวๆ 650,000 ตัว หากเหตุการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป ภายในปี 2050 จำนวนของมันจะลดลง 47 เปอร์เซ็นต์ 

และหากมนุษยชาติล้มเหลวในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกโดยสิ้นเชิง เพนกวินจักรพรรดิจะหายไป 99 เปอร์เซ็นต์ ในวันสิ้นศตวรรษนี้

ทั้งนี้ ตามข้อมูลของสถาบันสมุทรศาสตร์วูดส์โฮล ในแมสซาชูเซตส์ อ้างว่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งของน้ำแข็งทะเลในคาบสมุทรแอนตาร์กติกละลายไปแล้วกว่า 60  เปอร์เซ็นต์ 

อ้างอิง

ผู้เขียน

Website | + posts

โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน