ศตวรรษที่ผ่านมาประชากรช้างป่าสองกลุ่มใหญ่บนโลก ทั้งช้างเอเชียและช้างแอฟริกัน ได้ลดจำนวนลงอย่างมาก โดยมีสาเหตุจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย ความขัดแย้งกับมนุษย์ การล่า ตลอดจนวิกฤตสภาพอากาศที่ก่อให้เกิดความแห้งแล้ง
บนโลกใบนี้เหลือช้างอยู่สองกลุ่มใหญ่ คือ ช้างแอฟริกันและช้างเอเชีย คชสารทั้งสองกลุ่มกำลังเผชิญต่อภัยคุกคามอันร้ายแรงที่จะส่งผลต่อการอยู่รอดในอนาคต
นักวิทยาศาสตร์ได้จัดให้ช้างเอเชียทั้งหมดเป็นสายพันธุ์เดียวกัน แต่สำหรับช้างแอฟริกานั้น ตามหลักฐานทางพันธุกรรมแล้วสามารถจำแนกได้เป็นสองสายพันธุ์ คือ ช้างป่า และช้างสะวันนา
ตามรายงานของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ระบุว่า ช้างเอเชียกำลังถูกคุกคาม ส่วนช้างแอฟริกาอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ต่อการสูญพันธุ์
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เราเห็นช้างแอฟริกันหลายล้านตัวเดินทางไปทั่วทั้งทวีป แต่วันนี้กลับเหลืออยู่ราว ๆ 350,000 ตัว ขณะที่ช้างเอเชีย ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าช้างแอฟริกาในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา คือมีอยู่ 200,000 ตัว แต่บัดนี้กลับเหลือน้อยกว่า 40,000 ตัวในป่า ซึ่งก็เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไม่น้อยไปกว่ากัน
เว้นแต่… จะมีบางสิ่งบางอย่างเข้ามาช่วยชีวิตสัตว์ขนาดใหญ่เหล่านี้เอาไว้ได้
.
ภัยคุกคามต่อช้าง
ภัยคุกคามสำคัญที่เกิดขึ้นกับช้างเอเชียและแอฟริกันเป็นสิ่งที่สัตว์อื่น ๆ บนโลกเผชิญชะตากรรมไม่ต่างกัน – การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย รวมทั้งความขัดแย้งทางตรงและทางอ้อมกับมนุษย์
.
การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยและประชากรกระจัดกระจาย
ผู้คนได้บุกรุกเข้าไปยังถิ่นที่อยู่ของช้างทั้งสองกลุ่ม ในเรื่องนี้ช้างเอเชียจะโดนมากเป็นพิเศษ แหล่งอาศัยหากินของช้างหดลดน้อยลงเรื่อย ๆ และถิ่นที่อยู่ก็ถูกตัดขาดออกจากกัน โดยการเกษตร การตัดไม้ ถนน การพัฒนาที่ดินเพื่อสร้างชุมชน ตลอดจนกิจกรรมเชิงพาณิชย์
ช้างเป็นสัตว์ที่อาศัยพื้นที่หากินขนาดใหญ่ และต้องมีความต่อเนื่องกัน สภาพที่เกิดขึ้นเปรียบเสมือนว่าช้างกำลังถูกบุกเข้าปล้นชิงสมบัติทางทรัพยากรที่สำคัญอย่างน้ำและอาหาร
นอกจากนี้ ยังส่งผลถึงข้อจำกัดในความหลากหลายทางพันธุกรรมที่เกิดจากการตัดขาดกันของประชากร
.
ความขัดแย้งกับมนุษย์
ปัญหาใหญ่ของการครอบครองที่ดินและเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยของช้างคือการทำเกษตรปลูกพืชอาหาร เมื่อฟาร์มจำนวนมากเกิดขึ้นในทุ่งหญ้าสะวันนาที่ช้างใช้สัญจรไปมาด้วยความคุ้นเคย ผลผลิตของเกษตรกรมักตกเป็นเป้าหมายของช้างที่กำลังหิวโซ ฝูงสามารถทำลายผลผลิตที่รอการเก็บเกี่ยวทั้งหมดได้เพียงชั่วข้ามคืน ซึ่งนั่นทำให้บรรดาเกษตรกรเกิดความรู้สึกเกลียดชังต่อผู้ที่เข้ามาทำลาย
ประชาชนหลายคนได้รับเงินชดเชยจากความสูญเสียเพียงเล็กน้อย บางครั้งจึงนำไปสู่การโต้ตอบที่หมายมั่นถึงชีวิต ในแต่ละปีการปะทะกันนำไปสู่ความสูญเสียชีวิตนับร้อยต่อทั้งช้างเอเชียและแอฟริกา รวมถึงตัวของมนุษย์เอง
.
วิกฤตสภาพภูมิอากาศ
ช้างทุกตัวต้องการน้ำเป็นจำนวนมากในชีวิตประจำวัน พฤติกรรมการหาอยู่หากินและการโยกย้ายถิ่นทำให้ช้างเกิดความรู้สึกหิวกระหาย ซึ่งความต้องการน้ำถือเป็นท้าทายในชีวิตของบรรดาคชสารแม้ภายใต้สถานการณ์ที่ปกติสุข
แต่เมื่อวิกฤตด้านสภาพอากาศก่อให้เกิดความแห้งแล้งที่ยาวนานกว่าเดิม กอปรกับการหดตัวของถิ่นที่อยู่อาศัยก็ยิ่งทำให้ปัญหานี้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ
.
การล่า
การล่าถือเป็นเหตุหลักที่ทำให้ประชากรช้างลดจำนวนลงอย่างมากในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา โดยมีแรงจูงใจที่มาจากความต้องการงาช้าง
แม้จะมีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ห้ามไม่ให้มีการค้างาช้างระหว่างประเทศเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2532 แต่ในบางประเทศก็ยังอนุญาตให้มีการค้างาช้างได้อย่างถูกกฎหมาย ไม่ต่างอะไรกับตลาดที่ผิดกฎหมาย
การล่าคุกคามชีวิตช้างทั้งสองกลุ่ม แต่งาช้างที่ผิดกฎหมายส่วนใหญ่มาจากช้างแอฟริกา ตามรายงานของกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ในแต่ละปีมีช้างถูกล่าอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันตัว
.
แล้วเราสามารถช่วยอะไรได้บ้าง ?
ช้างเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ คอยช่วยเหลือจุนเจือสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว – ความหวังยังมี เพราะผู้คนมากมายทั่วโลกได้อุทิศตัวเพื่อการอนุรักษ์สัตว์สายพันธุ์โบราณ ซึ่งนี่คือสิ่งที่พวกเราสามารถช่วยกันลงมือทำได้
.
ปกป้องถิ่นที่อยู่อาศัยของช้าง
เนื่องจากภัยคุกคามหลักของช้างคือการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย จึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่งานอนุรักษ์ควรมุ่งไปที่การปกปักษ์รักษาสภาพแวดล้อมที่เหลืออยู่ทางธรรมชาติของช้าง
ข้อมูลจาก WWF ระบุว่า ช้างแอฟริกาส่วนใหญ่อยู่นอกพื้นที่คุ้มครอง โดยป่าอนุรักษ์มีไม่ถึง 20% ที่ช้างใช้อาศัยหากิน ขณะที่ค่าเฉลี่ยของช้างเอเชียพบว่ามีจำนวนประชากร 70% อาศัยอยู่นอกพื้นที่คุ้มครอง
สำหรับสัตว์ใหญ่ที่เดินทางไกลบ่อยเช่นช้าง กุญแจสำคัญคือการปกป้องถิ่นที่อยู่อาศัยให้สามารถเชื่อมถึงกันได้ ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นแล้วในประเทศอินเดียและเนปาล เช่น โครงการ Terai Arc Landscape ซึ่งได้สร้างพื้นที่เชื่อมป่าอนุรักษ์ 12 แห่งให้กับช้างเอเชียได้อาศัยอย่างปลอดภัย
.
ต้องลดความต้องการงาช้าง
แม้ว่าการล่าช้างแอฟริกาจะเริ่มลดลง (เล็กน้อย) นับจากผ่านจุดสูงสุดในปี พ.ศ. 2554 แต่เรื่องนี้ก็ยังมากด้วยความเสี่ยงและอันตราย ช้างป่าจำเป็นต้องได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายเช่นเดียวกับช้างเลี้ยง และผู้พิทักษ์ป่าก็ต้องบังคับใช้กฎหมายเหล่านั้นอย่างเคร่งครัด
การจะหยุดการล่าได้ ยังคงเป็นเรื่องที่ยากหากว่าความต้องการงาช้างยังมีอยู่ สิ่งนั้นจะคอยหล่อลื่นให้ภัยนี้ยังคงขับเคลื่อนต่อไป ในฐานะผู้บริโภค ทุกคนสมารถช่วยเหลือช้างได้ ด้วยการไม่สนับสนุน ส่งเสริม การซื้อขายงาช้างทุกประการ
.
ผู้คนต้องช่วยแบ่งปันที่อยู่อาศัยให้กับช้าง
เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า คือกำลังแนวหน้าที่ออกไปต่อต้านพวกล่าสัตว์ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยทรัพยากรทุนรอนจำนวนมากเพื่อปกป้องช้างในพื้นที่อันกว้างใหญ่ แต่ชะตากรรมช้างอีกจำนวนไม่น้อยยังเชื่อมโยงกับชุมชนที่รายล้อมอยู่รอบผืนป่า
นักอนุรักษ์จำนวนไม่น้อยพยายามคิดเทคนิคอย่างสร้างสรรค์ เพื่อช่วยให้คนกับช้างสามารถอาศัยอยู่ร่วมกันได้ มีตัวอย่างที่เกษตรกรรายย่อยจำนวนมากไม่สามารถป้องกันช้างได้จากการสร้างรั้วที่แข็งแรง แต่บางคนได้ปรับเปลี่ยนวิธีโดยอาศัยเทคนิคทางธรรมชาติอย่างการทำรั้วผึ้ง ซึ่งเกิดประโยชน์ต่อความกลัวตามธรรมชาติของช้าง และยังได้น้ำผึ้งสดเป็นกำนัลความสำเร็จ
- อ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เพิ่มเติมได้ที่ The 6th extinction