คณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยทนายความ 12 คนจากหลากประเทศทั่วโลกได้ยื่นข้อเสนอนิยามทางกฎหมายของอาชญากรรมชนิดใหม่ซึ่งพวกเขาและเธอต้องการผลักดันให้เป็นสิ่งผิดกฎหมายในระดับนานาชาติ นั่นคืออีโคไซด์ (ecocide) หรือการผลาญทำลายสิ่งแวดล้อม
.
นิยามอย่างเป็นทางการซึ่งเผยแพร่เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานับเป็นก้าวสำคัญของโครงการระดับโลกที่มีเป้าหมายป้องปรามหายนะทางสิ่งแวดล้อม เช่น เหตุน้ำมันรั่วที่แท่นขุดเจาะน้ำมัน Deepwater Horizon รวมถึงการถางป่าฝนเขตร้อนแอมะซอน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก
เป็นเวลากว่า 4 ปีที่ Stop Ecocide Foundation (มูลนิธิหยุดการผลาญทำลายสิ่งแวดล้อม) องค์กรไม่แสวงหากำไรในประเทศเนเธอแลนด์ จับมือกับแนวร่วมนักสิ่งแวดล้อม ทนายความ และตัวแทนด้านสิทธิมนุษยชน ริเริ่มผลักดันให้การผลาญทำลายสิ่งแวดล้อมเป็นอาชญากรรมข้ามชาติและสามารถฟ้องร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันศาลดังกล่าวรับพิจารณาคดีเพียงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมอันเป็นการรุกราน
หากการรณรงค์ดังกล่าวเป็นผลสำเร็จ ศาลอาญาระหว่างประเทศก็จะสามารถทำให้ผู้ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงรับผิดชอบต่อการกระทำของตน ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจหรือรัฐบาลประเทศใดก็ตาม
นิยามของการผลาญทำลายสิ่งแวดล้อมคือผลลัพธ์ของการทำงานระหว่างทีมทนายความหลายสิบชีวิตที่อธิบายการผลาญทำลายสิ่งแวดล้อมว่าคือ “การกระทำที่ผิดกฎหมายหรือโหดร้ายทารุณทั้งที่รู้ว่าการกระทำดังกล่าวมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง หรือเป็นวงกว้าง หรือในระยะยาว”
หากนิยามข้างต้นถูกนำไปใช้จริงในฐานะอาชญากรรมประเภทที่ห้าของศาลอาญาระหว่างประเทศ ก็นับเป็นการส่งสัญญาณว่าการทำลายสิ่งแวดล้อมขนานใหญ่เป็นการกระทำที่น่ารังเกียจอย่างยิ่งในเชิงศีลธรรม ทีมที่ผลักดันโครงการดังกล่าวให้สัมภาษณ์ว่า
“ไม่มีกฎหมายอาญาระหว่างประเทศฉบับใดจะช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมได้เลย และนี่คือช่องว่างที่การผลาญทำลายสิ่งแวดล้อมควรถือเป็นอาชญากรรม” ฟิลิปป์ แซนด์ส อาจารย์ด้านกฎหมายจาก University College London กล่าวในการประชุมออนไลน์
ศาลอาญาระหว่างประเทศปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นต่อการนำเสนอดังกล่าว
.
.
เส้นทางยังถือว่าอีกยาวไกลกว่าที่ศาลจะยอมรับนิยามของการผลาญทำลายสิ่งแวดล้อม หนึ่งใน 123 ประเทศซึ่งเป็นสมาชิกจะต้องส่งนิยามให้กับเลขาธิการองค์การสหประชาชาติเพื่อนำไปสู่อีกหลายลำดับขั้นตอนที่จะแก้ไขธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเอกสารกำหนดบทบาทและของเขตของศาล
แต่นักวิชาการด้านกฎหมายมองว่าผลงานของคณะกรรมชิ้นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อศาลอาญาระหว่างประเทศและสถาบันอื่นๆ แม้ว่าการผลาญทำลายสิ่งแวดล้อมจะถูกทำให้กลายเป็นอาชญากรรมข้ามชาติหรือไม่ก็ตาม
“นี่คือความจำเป็นที่ต้องกระทำเพราะความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล” David J. Scheffer อดีตทูตประเทศสหรัฐอเมริกากล่าว “การกำหนดนิยามของการผลาญทำลายสิ่งแวดล้อมย่อมผลักดันให้ประเด็นสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น”
อาชญากรรมทั้งสี่ประเภทของศาลอาญาระหว่างประเทศจะเน้นที่อันตรายที่เกิดต่อมนุษย์มิใช่โลก ดังนั้นทีมทนายความจึงต้องริเริ่มร่างนิยามของการผลาญทำลายสิ่งแวดล้อมจากศูนย์ พวกเขาต้องการให้นิยามดังกล่าวเคร่งครัดเพียงพอที่จะสื่อความหมายได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องโอนอ่อนเพียงพอที่จะได้รับเสียงสนับสนุนจากประเทศสมาชิก เนื่องจากในอดีตนั้นประเทศเหล่านี้มักอิดออดที่จะสยบยอมอำนาจอธิปไตยบางส่วนให้กับองค์กรระดับนานาชาติ
“นิยามที่สมบูรณ์แบบจะไม่ช่วยอะไรเลยหากรัฐมองข้ามมัน หรือเลวร้ายกว่านั้นคือรัฐเลือกเป็นศัตรูกับองค์กรดังกล่าวและทำให้ทุกอย่างถอยหลังลงคลอง” Nancy Combs ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาญาระหว่างประเทศและอาจารย์จาก William and Mary Law School กล่าว “หากทีมทนายคาดการณ์ผิด ทุกอย่างก็อาจจะเลวร้ายจนแก้ไขได้ยาก”
.
.
นิยามดังกล่าวตั้งเป้าหมายมิใช่เป็นค้อนที่พร้อมทุบทำลาย แต่ทำหน้าที่เป็นราวกั้นที่เน้นจัดการกับรัฐบาล หรือภาคธุรกิจที่สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด
“เราหวังว่าวิธีของเราจะมีประสิทธิผลบ้างในระดับหนึ่ง” แซนด์สกล่าว “แต่ไม่ถึงกับตีความได้กว้างขวางจนประเทศสมาชิกถอยหนีด้วยความหวาดกลัว”
นิยามดังกล่าวยังต้องมีลักษณะทั่วไปเพียงพอที่จะจัดการกับการทำลายสิ่งแวดล้อมทุกประเภท พร้อมทั้งสามารถพัฒนาตามวิทยาศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันก็จะต้องจัดการผู้กระทำความผิดให้มารับผลของการก่ออาชญากรรม
นิยามดังกล่าวค่อนข้างคล้ายคลึงกับอีกสี่อาชญากรรมของศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการตั้งความเสียหายขั้นต่ำไว้ในระดับที่สูง เช่นการใช้คำว่าความเสียหาย “เป็นวงกว้าง” หรือ “ร้ายแรง”
แต่อาชญากรรมใหม่ชนิดนี้จะแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในมิติหนึ่งนั่นคือการผลาญทำลายสิ่งแวดล้อมไม่จำเป็นต้องก่อให้เกิดภัยอันตรายใดๆ ต่อมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนับเป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญของบทบาทของศาลอาญาระหว่างประเทศที่แต่เดิมเน้นการสูญเสียของมนุษย์เป็นหลัก
นิยามดังกล่าวยังน่าสนใจถึงสิ่งที่ไม่ได้ถูกกล่าวถึง โดยทีมทนายความตัดสินใจไม่ระบุรายชื่อตัวอย่างเหตุการณ์ที่เข้าข่ายการผลาญทำลายสิ่งแวดล้อมเนื่องจากเกรงว่าอาจไม่ครอบคลุมหายนะทางสิ่งแวดล้อมบางประการ และกลายเป็นสัญญาณผิดๆ ว่าอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่อยู่ในตัวอย่างนั้นไม่เข้าเกณฑ์
การตัดสินใจครั้งนี้ยังมีมิติทางการเมือง เนื่องจากทีมรณรงค์ไม่ต้องการให้บางประเทศรู้สึกว่ากำลังถูกเพ่งเล็งเนื่องจากการยกตัวอย่าง โดยก้าวต่อไปหลังจากได้นิยามคือการเดินเกมส์สัมพันธไมตรีของ Stop Ecocide Foundation เพื่อหาแนวร่วมทางการเมืองเพื่อผลักดันให้นิยามดังกล่าวถูกนำไปใช้จริง
ท่าทีสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนจะสะท้อนได้เป็นอย่างดีว่ารัฐบาลจริงจังกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลภาวะ และความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพมากน้อยแค่ไหน
สมาชิกสภานิติบัญญัติในหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เบลเยียม ฟินแลนด์ สเปน แคนาดา ลักเซมเบิร์ก และสหภาพยุโรปต่างส่งเสียงสนับสนุนให้การผลาญทำลายสิ่งแวดล้อมเป็นอาชญากรรม ส่วนประเทศหลักๆ ที่ปล่อยแก๊สเรือนกระจกอย่างสหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย และรัสเซียไม่ได้เป็นสมาชิกของศาลระหว่างประเทศ แต่ก็อาจมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้เจรจาทางการทูต
เมื่อประเทศสมาชิกเสนอการกำหนดการผลาญทำลายสิ่งแวดล้อมเป็นอาชญากรรมอย่างเป็นทางการก็นำไปสู่กระบวนการแก้ไขหลักเกณฑ์ และในการประชุมของศาลระหว่างประเทศครั้งต่อไปในเดือนธันวาคม ประเด็นดังกล่าวก็จะได้รับการลงมติรับรองหรือไม่รับรอง แต่ถึงจะผ่านในการลงมติ ประเทศสมาชิกก็ต้องพูดคุยถกเถียงถึงนิยามซึ่งกระบวนการนี้อาจกินเวลาหลายปีหรืออาจถึงทศวรรษ
กระนั้น Jojo Mehta ผู้ร่วมก่อตั้ง Stop Ecocide Foundation ก็คาดว่าการเสนอให้การผลาญทำลายสิ่งแวดล้อมเป็นอาชญากรรมย่อมส่งผลต่อพฤติกรรมของบางบริษัท รัฐบาล ธุรกิจประกันภัย และอุตสาหกรรมการเงิน อีกทั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติในหลายประเทศก็แสดงท่าทีสนใจว่าจะนำนิยามดังกล่าวเป็นจุดตั้งต้นในการร่างกฎหมายสำหรับใช้ภายในประเทศ
ที่สำคัญที่สุดคือ นิยามใหม่นี้นำไปสู่การถกเถียงว่าการทำลายสิ่งแวดล้อมขนานใหญ่ควรจะเป็นสิ่งผิดกฎหมายหรือไม่
“เราคาดหวังอย่างยิ่งว่าความสนใจจากทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากการกำหนดนิยามที่ชัดเจนในครั้งนี้” Mehta กล่าว “และการเรียกร้องจากสาธารณะชนเพื่อให้มีทางออกในทางกฎหมายในประเด็นดังกล่าวย่อมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
ถอดความและเรียบเรียงจาก The push to make ‘ecocide’ an international crime takes a big step forward
ผู้เขียน
บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก