พลังงานที่ไม่สมดุลบนโลกสะท้อนว่าวิกฤติภูมิอากาศเกิดจากมนุษย์

พลังงานที่ไม่สมดุลบนโลกสะท้อนว่าวิกฤติภูมิอากาศเกิดจากมนุษย์

เป็นเวลาหลายทศวรรษที่ระบบพลังงานของโลกเริ่มที่จะรวน
.

เสถียรภาพของภูมิอากาศโลกขึ้นอยู่กับสมดุลที่ละเอียดอ่อนระหว่างปริมาณพลังงานที่โลกได้รับจากดวงอาทิตย์และปริมาณพลังงานที่โลกสะท้อนกลับออกไปสู่อวกาศ แต่สมดุลดังกล่าวถูกทำลายลงในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น อ้างอิงจากงานวิจัยที่เผยแพร่เมื่อเดือนก่อนในวารสาร Nature Communications.

การเปลี่ยนแปลงของระบบพลังงานโลกส่งผลอย่างยิ่งต่ออนาคตของภูมิอากาศโลก และความเข้าใจของมนุษยชาติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันผู้ทำการศึกษาชิ้นนี้พบว่า มีโอกาสน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ที่วิกฤติภูมิอากาศจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ

ข้อค้นพบดังกล่าวลดทอนความน่าเชื่อถือข้อโต้เถียงของคนบางกลุ่มที่ไม่เชื่อว่ากิจกรรมของมนุษย์คือสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาวะโลกร้อน โดยมองว่าระบบพลังงานโลกที่เสียสมดุลตามธรรมชาติต่างหากที่เป็นต้นเหตุ

งานวิจัยชิ้นนี้ฉายภาพให้เห็นว่าการปล่อยแก๊สเรือนกระจกและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ทำให้สมดุลพลังงานโลกเสียไปอย่างไร รวมทั้งส่งผลให้เกิดสภาวะโลกร้อน น้ำทะเลสูง และภาวะภูมิอากาศสุดขั้ว

“การเปลี่ยนแปลงกับโลกของเราที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะนำไปสู่ความไม่สมดุลเพราะเรามีพลังงานส่วนเกิดอยู่ในระบบ” Shiv Priyam Raghuraman นักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศและอุทกศาสตร์ที่พรินซ์ตัน ผู้ทำงานวิจัยชิ้นนี้กล่าว “พลังงานส่วนเกินเหล่านั้นส่งผลกระทบหลากหลายรูปแบบ”

การปลดปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และแก๊สเรือนกระจกอื่นๆ จากกิจกรรมของมนุษย์จะกักเก็บความร้อนในชั้นบรรยากาศ หมายความว่าโลกจะดูดซับรังสีอินฟราเรดซึ่งปกติจะถูกปล่อยออกสู่อวกาศ พลังงานเหล่านั้นจะทำให้น้ำแข็งในมหาสมุทรละลาย เปลี่ยนลักษณะก้อนเมฆ และระดับความเข้มข้นของอนุภาคเล็กๆ ในชั้นบรรยากาศที่เราเรียกว่าละอองลอย (aerosol) ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ภาวะดังกล่าวยังหมายถึงโลกสะท้อนพลังงานที่ได้รับจากดวงอาทิตย์ไปยังอวกาศได้น้อยลงอีกด้วย

“ตอนนี้เราเสียดุลยภาพระหว่างพลังงานขาเข้าจากดวงอาทิตย์และพลังงานขาออก” Raghuraman กล่าว “คำถามต่อไปคือการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของโลกหรือว่ามนุษย์ที่เป็นสาเหตุ?”

นักวิจัยใช้ข้อมูลจากดาวเทียมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ถึง 2563 เพื่อระบุว่าการสูญเสียสมดุลพลังงานของโลกมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น แล้วจึงใช้แบบจำลองภูมิอากาศเพื่อคาดการณ์ผลกระทบจากระบบพลังงานโลกโดยถอดเอาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ออกจากสมการ ซึ่งทีมนักวิทยาศาสตร์พบว่าความผันผวนตามธรรมชาติไม่สามารถอธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา 20 ปีได้

“มันแทบเป็นไปไม่ได้เลย เรียกว่ามีโอกาสน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ที่การสูญเสียสมดุลทางพลังงานจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของโลก” Raghuraman กล่าวสรุป การศึกษาชิ้นนี้เน้นที่ประเด็นเหตุและผลของการเสียสมดุลทางพลังงาน แต่ Raghuraman มองว่างานชิ้นนี้มีนัยยะทางสังคมและเชิงนโยบายที่สำคัญอย่างยิ่ง

มหาสมุทรกักเก็บความร้อนส่วนเกินประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและยังเป็นสาเหตุการก่อตัวของพายุเฮอร์ริเคนและเหตุการณ์ภูมิอากาศสุดขั้วต่างๆ ความร้อนส่วนเกินที่เหลือนั้นจะอยู่ในชั้นบรรยากาศและพื้นดินซึ่งทำให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกเพิ่มขึ้นและนำแข็งละลาย

Norman Loeb นักฟิสิกส์จากองค์การนาซ่ามองว่า หากสมดุลพลังงานโลกมีภาวะย่ำแย่ลง ผลกระทบที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันก็มีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น “เรากำลังจะเจอกับอุณหภูมิที่สูงขึ้น ระดับน้ำทะเลที่สูงขั้น หิมะและน้ำแข็งที่ละลายมากขึ้น เมื่อเปิดดูข่าวคุณก็จะเห็นแต่ไฟป่า ภัยแล้ง อุทกภัย ซึ่งจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ ถ้าความร้อนยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

Loeb ทำงานวิจัยชิ้นหนึ่งร่วมกับองค์การนาซ่าและองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติโดยพบข้อสรุปว่า การเสียสมดุลพลังงานของโลกเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าในระหว่างปี พ.ศ. 2548 ถึง 2562 งานวิจัยชิ้นดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสาร Geophysical Research Letters ซึ่งเขามองว่างานวิจัยที่จัดทำโดยนักวิจัยจากพรินซ์ตันได้ยืนยันสิ่งที่เขาค้นพบ 

เขายังเสริมอีกว่ากิจกรรมของมนุษย์ก่อให้เกิดผลกระทบที่ยากจะปฏิเสธ แต่การเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติก็อาจมีส่วนบ้างเล็กน้อยโดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้นจะเป็นไปอย่างช้าๆ และใช้เวลาหลายทศวรรษ ทำให้เป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่จะค้นพบว่ามีส่วนในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันมากน้อยเพียงใด

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Earth’s energy imbalance removes almost all doubt from human-made climate change
ภาพเปิดเรื่อง NASA

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก