ผลจากการกระทำของมนุษย์มีส่วนทำให้จำนวน ‘ภัยพิบัติ’ ทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น ทำให้หลายล้านชีวิต ผลประโยชน์ทางสังคม และเศรษฐกิจทุกอย่างตกอยู่ในอันตราย
.
รายงานการประเมินทั่วโลก (GAR2022) โดยสำนักงานเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (UNDRR) เปิดเผยว่าในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ภัยพิบัติระดับกลางถึงขนาดใหญ่เกิดขึ้นปีละ 350 – 500 ครั้ง
และเหตุการณ์ภัยพิบัติคาดว่าจะสูงถึง 560 ครั้งต่อปี หรือ 1.5 ครั้งต่อวันภายในปี 2030
ภัยพิบัติและความเสี่ยงมีแนวโน้มเพิ่มมาก เพราะการมองโลกในแง่ดีเกินไป การประเมินค่าผลของการกระทำต่ำไป และความหลงเหลิงคิดว่าเราเป็นผู้ที่อยู่ยั้งยืนยง ทำให้การตัดสินใจด้านนโยบาย การลงทุน และการพัฒนาต่างๆ เป็นไปในทางที่ผิด รังแต่ก่อให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น
โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาพบว่า จำนวนผู้เสียชีวิตและได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติเพิ่มมากขึ้นกว่าในช่วง 5 ปีก่อนหน้า
ภัยพิบัติส่งผลกระทบอย่างไม่เป็นสัดส่วนกับประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งสูญเสียจีดีพีโดยเฉลี่ย 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปีจากภัยพิบัติ เทียบกับ 0.1-0.3 เปอร์เซ็นต์ในประเทศที่พัฒนาแล้ว
ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้จุดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด สูญเสียจีดีพีเฉลี่ย 1.6 เปอร์เซ็นต์ จากภัยพิบัติทุกปี
แน่นอนว่าคนจนที่สุดในประเทศกำลังพัฒนากลายเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยผลกระทบของภัยพิบัติในระยะยาวเกิดจากการขาดหลักประกันในการฟื้นฟูเพื่อกลับมาเริ่มตั้งตัวใหม่
นับตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา ความคุ้มครองผลกระทบจากภัยพิบัติได้รับการเยียวยาเพียง 40 เปอร์เซ็นต์
ในขณะที่อัตราการเยียวยาในประเทศกำลังพัฒนามักจะต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ และบางครั้งอาจเรียกได้ว่าเท่ากับ ‘ศูนย์’
อันที่จริงภัยพิบัติสามารถป้องกันได้ถ้าประเทศต่างๆ ลงทุนเวลาและทรัพยากรเพื่อทำความเข้าใจสภาพความเป็นจริงและหาทางลดความเสี่ยง
ก่อนหน้านี้ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) เคยออกมาเรียกร้องให้ทุกประเทศทั่วโลกจำเป็นต้องลงทุนระบบการเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อลดการสูญเสียที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติ
ตามรายงานของ Global Commission on Adaptation ปี 2019 ระบุว่า หากโลกมีระบบการเตือนภัยล่วงหน้าที่ครอบคลุมจะลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุภัยพิบัตินับตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา ได้ถึง 76 เปอร์เซ็นต์
รวมถึงการช่วยปกป้องสภาพทางเศรษฐกิจ เช่น การเตือนพายุตลอด 24 ชั่วโมง จะลดความเสียหายลงได้ 30 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม จากสถานะที่เป็นอยู่ ทาง UNDRR มองว่า ประเทศส่วนใหญ่ยังคงจงใจเพิกเฉยต่อภัยพิบัติ และล้มเหลวในการตัดสินใจอย่างบูรณาการ ซึ่งถือเป็นการทำร้ายตัวเอง
UNDRR เรียกร้องให้รัฐบาลและสถาบันทางการเงินต้องคิดใหม่อย่างเร่งด่วนว่าจะจัดการกับความเสี่ยงจากภัยพิบัติอย่างไร
รายงาน GAR2022 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า พื้นที่เสี่ยงภัยที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากเหตุการณ์สภาพอากาศที่รุนแรงมากขึ้น อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ฉะนั้นนอกจากการเตรียมรับมือภัยพิบัติ เราต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ตามรายงานของ IPCC ที่ระบุว่าต้องลดลงครึ่งหนึ่งของระดับปัจจุบันภายในปี 2030
และให้ต้องทำให้เหลือศูนย์ภายในปี 2050
อ่านรายงาน โลกของเราที่มีความเสี่ยง : การปฏิรูปธรรมาภิบาลเพื่ออนาคตที่ยืดหยุ่น ฉบับเต็มได้ที่ https://www.undrr.org/gar2022-our-world-risk
.
อ้างอิง
-
Humanity’s Broken Risk Perception Reversing Global Progress in ‘Spiral of Self-destruction’
-
คำเตือนครั้งสุดท้าย การปล่อยคาร์บอนสูงสุดจะต้องเกิดขึ้นไม่เกินปี 2025
-
Photo NOAA [unsplash.com]
ผู้เขียน
โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน