การทำลายป่าใน “ตะนาวศรี” เพิ่มสูงขึ้น คุกคามบ้านของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด

การทำลายป่าใน “ตะนาวศรี” เพิ่มสูงขึ้น คุกคามบ้านของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด

สถิติการตัดไม้ทำลายป่าใน “ตะนาวศรี” ประเทศเมียนมาร์เพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา 4 เท่า โดยเฉพาะในอำเภอเกาะสอง ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างนกแต้วแร้วท้องดำ
.

ตะนาวศรี ดินแดนส่วนหนึ่งของเมียนมาร์ ที่แยกอ่าวไทยออกจากทะเลอันดามัน ยังคงเป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยป่าดิบชื้นเก่าแก่ เป็นแหล่งรวมของสัตว์และพืชที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว บางชนิดเป็นสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ ไม่สามารถหาจากที่ใดในโลกมาทดแทน

แต่ผืนป่าแห่งนี้กำลังค่อยๆ หดหายไป ซึ่งมีหลักฐานเชิงประจักษ์จากภาพถ่ายดาวเทียมที่แสดงให้เห็นว่าผืนป่าเขียวขจีกำลังถูกทำลายอย่างรุนแรงต่อเนื่องในหลายพื้นที่บนเขตภูมิภาคนี้

หนึ่งในส่วนที่สูญเสียป่าไปมากคือ เกาะสอง อันเป็นอำเภอสุดเขตทางตอนใต้ของตะนาวศรี ป่าแถบนั้นเป็นบ้านของสมเสร็จมลายู ชะนีมือขาว ตุ๊กแกสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งถูกค้นพบ รวมถึงนกแต้วแร้วท้องดำที่ใกล้สูญพันธุ์

ตามข้อมูลของมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ นับตั้งแต่ปี 2545 – 2563 เกาะสองสูญเสียป่าราว 14% ผ่านรายงานเรียลไทม์บนแอปพลิเคชัน Global Forest Watch พบว่าในช่วงปี 2558 – 2559 มีการตัดไม้ทำลายป่าค่อนข้างมาก ก่อนลดลงมาในช่วงปี 2560 – 2561 และกลับมาเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในปี 2561 – 2563

ตัวขับเคลื่อนการตัดไม้ทำลายป่าในเกาะสองมาจากอุตสาหกรรมเกษตร (เช่น การขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน) การตัดไม้สำหรับเผาถ่าน และเกษตรกรรมเพื่อยังชีพ

ทว่าข้อมูลจากห้องปฏิบัติการ Global Land Analysis and Discover (GLAD) ของมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ในปีนี้ แสดงให้เห็นว่าการสูญเสียป่าครั้งที่ใหญ่กว่าปีที่ผ่านๆ มา โดยข้อมูลจากห้องปฏิบัติการ GLAD ตรวจพบกิจกรรมการตัดไม้ทำลายป่าที่ “สูงผิดปกติ” ในเขตเกาะสอง กราฟแสดงผลบอกอัตราการทำลายที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคมมีการแจ้งเตือนป่าที่ถูกตัดถึง 12,000 ครั้ง สูงกว่าค่าเฉลี่ยของปีที่ผ่านมาถึง 4 เท่า
.

พื้นที่ป่าที่หายไปในตะนาวศรี

.
ภาพถ่ายจากดาวเทียมแสดงให้เห็นการเกิดพื้นที่โล่งกว้างเกิดขึ้นใหม่ตามแนวถนนที่ทอดผ่านผืนป่า ที่กำลังขยายพื้นที่เข้าไปในด้านในป่าเพิ่มมากขึ้น และยังเป็นจุดที่ซ้อนทับกับถิ่นที่อยู่อาศัยของนกแต้วแร้วท้องดำ

นกแต้วแร้วท้องดำเป็นสิ่งมีชีวิตที่เคยถูกเข้าใจว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว จนกระทั่งนักวิจัยได้มาพบเข้ากับประชากรหลายกลุ่มในปลายศตวรรษที่ 20

อย่างไรก็ตาม จำนวนของนกแต้วแร้วท้องดำก็ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องนับจากการค้นพบใหม่ ประมาณการว่านกแต้วแร้วท้องดำได้สูญเสียประชากรไปถึง 90% ในช่วงปี 2547 – 2562 โดยทาง IUCN ได้ระบุให้เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง อันมีสาเหตุมาจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย

Nay Myo Shwe นักวิจัยที่ทำการสำรวจประชากรนกแต้วแร้วท้องดำในตะนาวศรี เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ถิ่นที่อยู่อาศัยที่เหมาะกับนกแต้วแร้วท้องดำลดลงไปมาก และมันถึงเวลาที่นักอนุรักษ์ หน่วยงาน และองค์กรที่เกี่ยวข้องต้องส่งเสียงเรียกร้องออกมาดังๆ

ป่าที่ถูกทำลายยังเป็นที่อยู่อาศัยของตุ๊กแกสายพันธุ์พิเศษที่เพิ่งเป็นที่รู้จักในแวดวงวิทยาศาสตร์ และมีแนวโน้มว่าใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากเหลือที่อยู่อย่างจำกัด และไม่สามารถหนีแรงกดดันของมนุษย์ได้

นักวิจัยเชื่อว่าอาจยังมีอีกหลายสายพันธุ์ที่กำลังรอการค้นพบในป่าของเกาะสอง ในข้อแม้ที่ว่าเราสามารถพบพวกมันได้ทันเวลา

Justin Lee นักวิจัยจาก National Museum of Natural History ที่ Smithsonian Institute ซึ่งค้นพบตุ๊กแกสายพันธุ์ใหม่ในตะนาวศรีเมื่อปี 2560 ให้กับภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า การสูญเสียสายพันธุ์ที่ยังไม่ได้ค้นพบเป็น “ความจริงที่น่าเศร้าและโชคร้ายของนักวิทยาศาสตร์ภาคสนามหลายคน

“เป็นการยากที่จะเข้าใจได้ว่าความหลากหลายทางชีวภาพสูญเสียไปมากเพียงใด เนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่าทั่วเขตร้อน”

 


อ้างอิง

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม