งานวิจัยชิ้นล่าสุดเปิดเผยว่าสัตว์มีกระดองที่อาศัยใต้ทะเลลึกกว่าร้อยชนิดอาจเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เนื่องจากผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพจากการทำเหมืองใต้ทะเลลึก
.
งานวิจัยโดยนักวิจัยจาก Queen’s University พบว่าสัตว์มีกระดอง 184 ชนิดพันธุ์ที่อาศัยใกล้กับปล่องความร้อนใต้มหาสมุทรถูกเข้าไปอยู่ในรายชื่อสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ที่จัดทำโดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for the Conservation of Nature) แม้ว่าทีมวิจัยจะเน้นเฉพาะชนิดพันธุ์สัตว์เปลือกแข็งบริเวณปากปล่อง (เสมือนบ่อน้ำพุร้อนที่พื้นสมุทร) พวกเขาคาดว่าความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ลักษณะเดียวกันนี้อาจเกิดขึ้นกับชนิดพันธุ์อื่นๆ ที่ต้องพึ่งพาปล่องความร้อนดังกล่าว
พื้นที่ในมหาสมุทรกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ยังไม่ได้ถูกสำรวจ ศึกษา หรือทำแผนที่ พร้อมกับแรงต่อต้านจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม และนักวิทยาศาสตร์ในการทำเหมืองใต้ทะเลลึกเนื่องจากอาจส่งผลต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และการสูญเสียดังกล่าวอาจไม่สามารถฟื้นฟูได้ในอนาคต
“ชนิดพันธุ์ที่เราศึกษาต้องพึ่งพาระบบนิเวศปากปล่องความร้อนใต้มหาสมุทรเพื่อความอยู่รอด หากบริษัททำเหมืองใต้ทะเลลึกต้องการโลหะที่ก่อตัวขึ้นบริเวณปล่อง พวกเขาจะต้องทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น ทำให้พวกมันไร้ที่ไป” Elin Thomas หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว
องค์กรพื้นทะเลระหว่างประเทศ (The International Seabed Authority) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหประชาชาติ ร่วมประชุมกันที่ประเทศจาไมกาเพื่อตกลงแนวทางการกำกับดูแลภายในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566 ที่อาจเป็นการเปิดทางให้ทำเหมืองแร่โคบอลต์ นิกเกิล และแร่อื่นๆ ในอนาคต
ปัจจุบัน ทั่วโลกมีปล่องความร้อนใต้มหาสมุทรที่เรารู้จักทั้งหมดอย่างน้อย 600 แห่ง ที่ระดับความลึกตั้งแต่ 2,000 ถึง 4,000 เมตร แต่ละแห่งมีขนาดราว 2 ใน 3 ของสนามฟุตบอลมาตรฐาน ปล่องดังกล่าวเปรียบเสมือนระบบระบายความร้อนและสารเคมีจากพื้นที่ใต้พิภพ นอกจากนี้ มันยังช่วยควบคุมสมดุลเคมีในมหาสมุทร ระบบดังกล่าวทำให้เกิดสินแร่มีค่าบริเวณใกล้ปากป่อง ความร้อนจากปล่องยังให้ความอบอุ่นแก่พื้นมหาสมุทรที่หนาวเหน็บ เปรียบเสมือนศูนย์รวมความหลากหลายทางชีวภาพไม่ต่างจากแนวปะการังหรือป่าฝนเขตร้อน
งานวิจัยชิ้นดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Marine Science และได้รับการสนับสนุนโดย Marine Institute ประเทศไอร์แลนด์ ทีมนักวิทยาศาสตร์ยังทำการประเมินกรอบกฎหมายและการจัดการในระดับภูมิภาคของพื้นที่แต่ละแห่ง รวมทั้งการให้ใบอนุญาตทำเหมืองใต้มหาสมุทร
จาก 184 ชนิดพันธุ์ที่ได้รับการประเมิน 62 เปอร์เซ็นต์เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์โดยสัตว์เหล่านั้นส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในน่านน้ำของประเทศที่ให้ใบอนุญาตทำเหมืองใต้ทะเลลึก เช่น ญี่ปุ่นและปาปัวนิวกินี มีเพียง 25 ชนิดพันธุ์เท่านั้นที่ได้รับการคุ้มครองจากการทำเหมืองใต้ทะเลโดยมาตรการอนุรักษ์ธรรมชาติในท้องถิ่น เช่นในประเทศเม็กซิโก
ความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เลวร้ายที่สุดในมหาสมุทรอินเดียซึ่งทุกชนิดพันธุ์ติดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง โดย 60 เปอร์เซ็นต์นั้นเข้าข่ายวิกฤติ โดยที่ใบอนุญาตการทำเหมืองในน่านน้ำดังกล่าวได้รับอนุมัติจากองค์กรพื้นทะเลระหว่างประเทศ
ถอดความและเรียบเรียงจาก Deep-sea mining may push hundreds of species to extinction, researchers warn
ผู้เขียน
บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก