‘รื้อเขื่อน’ กว่า 200 แห่ง ทั่วทวีปยุโรป แต่ไทยกลับมีโครงการอ่างเก็บน้ำผุดกลางป่าเกือบ 100 แห่ง
ในอดีต การก่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำถือเป็นนวัตกรรมที่สร้างคุณประโยชน์ต่อมนุษยชาติอย่างยิ่ง
ไม่ว่าจะช่วยกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง ป้องกันน้ำหลากในฤดูฝน และถือเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าที่สำคัญให้กับโลก จนก่อเกิดนวัตกรรมที่ดีงามต่างๆ มากมาย
แต่ในทุกครั้งที่มีการก่อสร้างเขื่อนกลับต้องแลกมาด้วยการสูญเสียพื้นที่ป่า สัตว์ป่า หรือหากพูดให้ร่วมสมัยหน่อย ก็คือสูญเสียแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนฯ ต้นตอของวิกฤตโลกร้อนในปัจจุบัน
ฉะนั้น ในวันที่ทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้และสัตว์ป่าเริ่มลดน้อยลง แนวคิดเรื่องการก่อสร้างเขื่อนจึงเป็นสิ่งที่ถูกต่อต้านมากยิ่งขึ้น
พร้อมๆ กับความรู้ที่เพิ่มพูนว่าการก่อสร้างเขื่อนก่อให้เกิดผลด้านลบมากมายแค่ไหน
ในกรณีล่าสุด เพิ่งมีรายงานว่าเมื่อปีที่ผ่านมา ประเทศในโซนยุโรปได้ทำลายเขื่อนและฝายไปกว่า 200 แห่ง
หรือกล่าวเป็นตัวเลขตรงๆ จะได้ว่า ในปี 2021 กำแพงกั้นน้ำ เขื่อน และฝาย 239 แห่งถูกรื้อถอนใน 17 ประเทศทั่วยุโรป
ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ นักอนุรักษ์เชื่อว่าเป็น ‘กุญแจสำคัญ’ ของการฟื้นคืนระบบนิเวศที่เสียไปให้กลับมาคงความสมดุลได้อีกครั้ง
ตามรายงานของ Dam Removal Europe ซึ่งเป็นการรวมตัวขององค์กรสิ่งแวดล้อมในยุโรปที่เคลื่อนไหวเรื่องการต่อต้านเขื่อนระบุว่า แม่น้ำในยุโรปมีเขื่อน – สิ่งกีดขวางแม่น้ำ – มากกว่าหนึ่งล้านแห่ง
หรือคิดเป็นทุกๆ 0.7 กิโลเมตร จะมีอะไรสักอย่างถูกสร้างขึ้นเพื่อกั้นขวางแม่น้ำ
สิ่งนี้ส่งผลกระทบต่ออย่างชัดเจนต่อความหลากหลายทางชีวภาพที่หายไป และเป็นอุปสรรคขัดขวางเส้นทางการอพยพของปลา ตลอดจนระบบนิเวศของแม่น้ำ
จากข้อมูลอ้างว่า ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา จำนวนปลาอพยพลดลงถึง 93 เปอร์เซ็นต์
ผลที่ตามมา ไม่ใช่แค่ปลาน้อยลง หรือสัตว์น้ำสูญพันธุ์ แต่ยังกระทบถึงสายพันธุ์ที่ต้องพึ่งพิงการหาปลาประทังชีวิต เช่น สัตว์กลุ่มนก พวกนาก หรือแม้แต่มนุษย์เราเองก็เจอผลกระทบนั้นเช่นกัน
โดยสายพันธุ์ปลาที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ ปลาแซลมอน ปลาสเตอร์เจียน ปลาเทราท์ และปลาไหล
World Fish Migration ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพของปลา อธิบายว่า การรื้อเขื่อนเป็นสิ่งจำเป็นจริงๆ
เนื่องจากเขื่อนในยุโรปหลายแห่งนั้นถูกทิ้งร้าง เป็นเขื่อนหมดสภาพและไม่ได้ใช้ประโยชน์ใดๆ แล้ว
แต่ผลของการมีอยู่ของสิ่งปลูกสร้างที่กีดขวางการไหลของแม่น้ำนั้นยังคงทำงานอยู่
ผลกระทบนอกจากการลดลงของจำนวนปลาน้ำจืด ยังกระทบต่อคุณภาพน้ำและระดับน้ำใต้ดิน การกัดเซาะชายฝั่ง และการสูญหายของชายหาดริมแม่น้ำ
โดยในปีที่ผ่านมา ชาติที่ ‘รื้อเขื่อน’ มากที่สุดคือ สเปน ซึ่งทำลายแหล่งกีดขวางทางน้ำไปทั้งสิ้น 108 แห่ง
ประเทศอย่างโปรตุเกส มอนเตเนโกร และสโลวาเกีย ก็เริ่มรื้อเขื่อนเป็นครั้งแรกเมื่อปีที่ผ่านมา
นักอนุรักษ์เชื่อว่าปรากฎการณ์รื้อเขื่อนและสิ่งกีดขวางทางน้ำทั่วยุโรปในปีที่ผ่านมา จะส่งผลด้านบวกต่อสายพันธุ์ต่างๆ อย่างเห็นได้ชัดในปีนี้
ย้อนกลับมามองที่ประเทศไทย เมื่อปีที่ผ่านมากลับพบว่ามีการผลักดันโครงการที่อาจกระทบต่อการทำลายผืนป่าในประเทศมากเกือบ 100 โครงการ
โดยมีโครงการขอใช้พื้นที่ป่าไม้เพื่อโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ มีมากถึง 77 โครงการ (ก่อนเหลือ 76 โครงการในภายหลัง)
นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (หรือที่กักเก็บน้ำ) ในป่าอนุรักษ์แต่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในแผนงานดังกล่าวอีกหลายโครงการ เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำ 7 แห่งในผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่
และยังมีโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองตาหลิว อ่างเก็บน้ำคลองตารอง ที่มีแผนจะก่อสร้างในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ในอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น รวมๆ แล้วนับได้ทั้งสิ้น 91 โครงการ
โครงการต่างๆ เหล่านี้ นอกจากจะนำไปสู่การทำลายความหลากหลายทางระบบนิเวศของแหล่งน้ำแล้ว ยังกระทบต่อจำนวนพื้นที่ป่าของประเทศ
โดยประเทศไทยตั้งเป้าว่าจะเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 40 เปอร์เซ็นต์
รวมถึงที่เราไปให้คำสัญญาว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อกอบกู้วิกฤตโลกร้อนในเวทีโลกอย่าง COP26
แต่สิ่งที่เราทำดูเหมือนจะสวนทางกับคำพูดไปไกลโขเลยทีเดียว
อ้างอิง
• Record number of dams removed from Europe’s rivers in 2021
• Why is a record-breaking year of dam removals good news for Europe’s wildlife?
• ความย้อนแย้งของนโยบายรัฐ การอนุรักษ์ที่มักถูกเลือกไว้ข้างหลังการพัฒนา
• ภาพประกอบ WWF Finland
ผู้เขียน
โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน