ความหวังในการอนุรักษ์ ‘จระเข้สยาม’ ของประเทศกัมพูชากำลังดีวันดีคืนขึ้นเรื่อยๆ
.
ในปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อนุรักษ์พบลูกจระเข้เกิดใหม่ 8 ตัว ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเซรย์ปก จังหวัดมณฑลคีรี
หรือหากย้อนหลังไปก่อนหน้านั้นอีกปี (2020) ก็พบลูกจระเข้เพิ่งฟักออกจากไข่ถึง 15 ตัวด้วยกัน
และล่าสุดในปีนี้ Fauna & Flora International (FFI) และองค์กรอนุรักษ์ในกัมพูชาเพิ่งปล่อยจระเข้จากศูนย์เพาะเลี้ยงคืนสู่ธรรมชาติอีก 25 ตัว บริเวณเทือกเขากระวาน ซึ่งเป็นบ้านแห่งความหวังในการฟื้นฟูจำนวนประชากร
จระเข้ทั้ง 25 ตัวได้รับการติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณเสียง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการติดตามสายพันธุ์ในลักษณะนี้
จระเข้ที่ใหญ่ที่สุดสามตัวได้รับการติดตั้งแท็กดาวเทียมด้วย ซึ่งจะช่วยให้นักอนุรักษ์สามารถรวบรวมข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับช่วงเวลาและพฤติกรรมของสายพันธุ์ได้
การติดแท็กและตรวจสุขภาพก่อนปล่อยเกิดขึ้นที่ศูนย์เพาะพันธุ์อนุรักษ์พนมเปญ ซึ่งบริหารจัดการโดย FFI ร่วมกับองค์การบริหารป่าไม้ของกัมพูชา
หากไม่นับตัวเล็กตัวน้อยที่เพิ่งเกิดหรือที่เพิ่งปล่อยไป กัมพูชามีจระเข้สยามที่โตเต็มวัยอยู่ในธรรมชาติราวๆ 250 ตัว
ในปี 1992 สายพันธุ์จระเข้ได้รับการประกาศว่าคงจะไม่รอดแน่ๆ เนื่องจากจำนวนลดลงถึง 99% ถูกจัดว่าเป็นสัตว์ที่ยืนอยู่ชิดขอบเหวของการสูญพันธุ์มากที่สุดชนิดหนึ่ง
สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้จระเข้สยามใกล้สูญพันธุ์เป็นเพราะถิ่นที่อยู่อาศัยถูกทำลาย ถูกเปลี่ยนแปลงสภาพไปเป็นบ้านเรือนและที่ทำกินของคน
หรือที่ยังพอเหลืออยู่บ้าง ก็เสื่อมโทรม เละเทะ ไม่น่าอยู่ และไม่น่าจะมีอะไรให้พอประทังชีวิต
สายน้ำหลายแห่งถูกพัฒนาเป็นแหล่งใช้ประโยชน์ มีเขื่อนพลังน้ำกั้นขวาง มีการทำเหมือง ใช้สารเคมี
ถ้าปีไหนฤดูฝนไม่มาตามนัด ก็จักพบกับความร้อนแล้งอันน่ารันทด
หนังของจระเข้คือเครื่องหมายของราคาทางการค้า อันหมายถึงการล่า การขายส่งให้กับฟาร์มจระเข้แบบผิดกฎหมายที่เคยมีมากมายมหาศาลในช่วงเวลาหนึ่ง ทั้งในไทย กัมพูชา เวียดนาม และจีน
ขณะที่การเพาะพันธุ์จระเข้เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจก็ทำกันข้ามสายพันธุ์ ผสมกันมั่วซั่ว ไม่เหลือเค้าโครงของสายพันธุ์ดั้งเดิม
การอนุรักษ์จระเข้สยามในกัมพูชานั้นเริ่มขึ้นในปี 2000 หลังพบว่ายังมีสัตว์เลื้อยคลานสายพันธุ์นี้หลงเหลืออยู่ในพื้นที่เทือกเขากระวาน และแหล่งธรรมชาติอื่นๆ อีกรวม 18 แห่ง
แต่กว่าโครงการอนุรักษ์จระเข้จะสำเร็จเป็นรูปเป็นร่างและเริ่มดำเนินการได้จริงก็ต้องรอในอีก 12 ปีต่อมา
ในช่วงต้นได้ดำเนินการปล่อยตัวผู้พันธุ์แท้กลับคืนสู่ป่าในเทือกเขากระวาน เพื่อเพิ่มจำนวนพ่อพันธุ์และความหลากหลายทางพันธุกรรม
ขณะเดียวกัน ก็มีการกำหนดพื้นที่อนุรักษ์ที่มีจระเข้อาศัยให้เป็นเขตคุ้มครอง
มีกิจกรรมร่วมกับชุมชนท้องถิ่นให้ร่วมกันอนุรักษ์และเห้นความสำคัญของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์นี้
โครงการระยะสั้น คือต้องพยายามอนุรักษ์และเพิ่มจำนวนจระเข้ให้เพิ่มขึ้นจากเดิมอย่างน้อย 150 ตัว ส่วนในระยะยาวกัมพูชาจะต้องมีจระเข้ในธรรมชาติมากถึง 10,000 ตัว
โครงการดำเนินงานโดย FFI ร่วมกับกรมป่าไม้กัมพูชา รวมถึงพันธมิตรองค์กรอนุรักษ์อีกหลายแห่ง
-
Conservationists release captive-bred Siamese crocodiles into the wild
-
Return of the croc – Snapshots of a rare reptile reintroduction in Cambodia
-
Conserving Siamese crocodiles in Cambodia
-
จระเข้สยาม พบเกิดใหม่ 8 ตัวในป่าอนุรักษ์กัมพูชา
-
Photo : Fauna & Flora International
ผู้เขียน
โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน