นักวิทย์ฯ เตือนให้เร่งปกป้อง ‘ปะการัง’ ก่อนจะหายไปในอีก 3 ทศวรรษ

นักวิทย์ฯ เตือนให้เร่งปกป้อง ‘ปะการัง’ ก่อนจะหายไปในอีก 3 ทศวรรษ

เรื่องราวปะการังฟอกขาวเปรียบได้ดั่งเรื่องของนกขมิ้นในเหมืองถ่านหิน

.
ในอดีตมีการนำนกขมิ้น (หรือนกคีรีบูน) ลงไปในเหมือง (ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 1800) เพื่อตรวจจับก๊าซ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และนก

ความที่นกสามารถรับรู้การมีอยู่ของก๊าซได้ไวกว่ามนุษย์ เมื่อพวกมันเริ่มแสดงอาการผิดปกติ (หรือถึงตาย) ก็เหมือนเป็นสัญญาณเตือนให้คนงานเหมืองต้องรีบหนีออกจากจุดนั้น

เช่นเดียวกับแนวปะการัง สิ่งมีชีวิตที่มีความอ่อนไหวเป็นอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมในมหาสมุทร

และรับรู้ได้ไวกว่ามนุษย์ว่าอุณหภูมิของน้ำกำลังเปลี่ยนไป

ด้วยการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำทะเลเพียง 1-2 องศาเซลเซียส ในเวลาไม่ถึงเดือนก็สามารถทำให้ปะการังมากสีสีนเหลือเพียงแกนสีขาวซีดได้

ตามรายงานที่เพิ่งสรุปจากการประชุม Our Oceans Conference ในประเทศปาเลา เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา นักวิจัยและนักอนุรักษ์จากทั่วโลก เห็นตรงกันว่า แนวปะการังเกือบทั้งหมดมีแนวโน้มเสื่อมโทรมตามหน้าที่ภายในปี 2050 หากเราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีส (จำกัดอุณหภูมิไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส)

และถึงแม้ทำได้สำเร็จ ในอีก 3 ทศวรรษข้างหน้า แนวปะการังกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ก็แทบจะไม่สามารถแสดงบทบาททางระบบนิเวศได้อีกแล้ว

ที่เป็นเช่นนั้น เพราะตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา แนวปะการังทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ตลอด
.

.
อุณหภูมิน้ำทะเลที่อุ่นขึ้นทำให้ปะการังหลายแห่งเกิดการฟอกขาว แม้บางส่วนจะสามารถฟื้นฟูตัวเองได้ แต่ก็พบว่าอัตราการเกิดใหม่ของปะการังยังลดลงอย่างเห็นได้ชัด ตัวอย่างเช่น จำนวนตัวอ่อนของปะการังของเกรตแบร์ริเออร์รีฟ ได้ลดลงถึง 71 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งกระทบโดยตรงต่อการอยู่รอดของแนวปะการังในอนาคต

ขณะเดียวกัน มีการศึกษาพบว่าแนวปะการังบางกลุ่มสามารถทนทานต่อการอุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นได้

ปัจจุบันจึงมีการค้นหาและระบุตำแหน่งปะการังสุดแกร่งที่ว่าไว้แล้ว 50 แห่ง (50 Reef) ซึ่งมีการศึกษาวิจัยศักยภาพความทนทานมาตั้งแต่ปี 2018

แนวประการังทั้ง 50 แห่ง ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย โดยมีแนวปะการังเพิ่มเติมในแคริบเบียนและทางตะวันออกของแอฟริกา

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าแนวปะการังเหล่านี้ สามารถทำหน้าที่เป็นเขตรักษาพันธุ์ภายใต้ภาวะโลกร้อนในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการฟอกขาวหรือการเสื่อมโทรมของแนวปะการังไม่ได้เกิดจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีสาเหตุได้จากอีกหลายปัจจัย

การพัฒนาชายฝั่งจนก่อให้เกิดมลพิษ การท่องเที่ยวที่เกินพอดี การทำประมงเกินขนาดหรือการใช้เครื่องมือจับปลาบางชนิด ล้วนกระทบต่อความอยู่รอดของแนวปะการังแทบทั้งสิ้นเหล่านี้เป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์เสนอให้มีการวางแผนการอนุรักษ์แนวปะการังทั้ง 50 แห่งให้มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น

เพื่อทางรอดของมนุษยชาติในอนาคต นักวิทยาศาสตร์ได้เสนอรายงาน ‘Forecasting Climate Sanctuaries for Securing the Future of Coral Reefs’ เพื่อเน้นให้เกิดการศึกษาวิจัยและหาทางปกป้องแนวปะการังทั้ง 50 แห่ง จากภัยคุกคามต่างๆ เอาไว้ให้ได้

เช่น ต้องเติมเงินการสนับสนุนสำหรับการประเมินระดับภูมิภาคเกี่ยวกับสุขภาพของ แนวปะการังทั้ง 50 แห่ง เร่งความพยายามติดตามตรวจสอบแนวปะการังขนาดใหญ่ พัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ผลกระทบแบบใหม่ๆ

การใช้หลักวิทยาศาสตร์ประเมินความเป็นไปได้ของผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจเร่งตัวขึ้นได้ทุกเวลา ตลอดจนวางแนวทางการประมง และการจัดการคุณภาพน้ำ การบรรเทาแรงกดดันอื่นๆ (เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรม)

ปะการังถือกำเนิดขึ้นบนโลกครั้งแรกเมื่อ 485 ล้านปีก่อน ในรุ่งอรุณของยุคออร์โดวิเชียน มีชีวิตมาถึงยุคปัจจุบัน (แอนโทรโปซีน) ให้นิเวศบริการสำหรับการท่องเที่ยว การประมง และการปกป้องชายฝั่ง ตามข้อมูลประมาณการเมื่อปี 2014 นิเวศบริการของปะการังทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 9.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

แต่นับจากปี 1950 เป็นต้นมา แนวปะการังทั่วโลกลดลงมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์

การฟอกขาวจำนวนมากของปะการังที่มีนัยสำคัญในระดับภูมิภาค เกิดขึ้นครั้งแรกในปลายทศวรรษ 1970 โดยมีความสัมพันธ์กับอุณหภูมิน้ำทะเลสูงอย่างผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างในช่วงที่เกิดเหตุการณ์เอลนีโญตามธรรมชาติ (ปัจจุบันเกิดขึ้นซ้ำทุกๆ 4-7  ปี)

จากบันทึกการฟอกขาวของปะการังในปี 1978/79 พบว่าเวลาความเข้มข้นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศมีมากถึง 336 ppm และเหตุการณ์ฟอกขาวครั้งใหญ่ในปี 1997/1998 ที่ทำลายชีวิตปะการังทั่วโลกไปถึง 16 เปอร์เซ็นต์ (เป็นจุดเริ่มต้นของการลดลงอย่างขาดการฟื้นตัวในระยะยาวอย่างมีนัยสำคัญ) ความเข้มข้นคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ เพิ่มมาเป็น 365 ppm 

ในปีที่ผ่านมา ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศอากาศมีค่าความเข้มข้นถึง 419 ppm

สำหรับประเทศไทยประสบปัญหาการฟอกขาวอย่างรุนแรงในปี 2010 ซึ่งส่งผลกระทบต่อปะการัง 70%
.

ร่วมรักษาป่าใหญ่ ผ่านระบบ Thai QR Code

 


อ้างอิง

ผู้เขียน

Website | + posts

โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน