ทิศทางความพร้อมของประเทศไทยในการประชุม COP27
วาระสำคัญของการประชุม COP27 ในปีนี้ เป็นการติดตามความคืบหน้าการวางแผน ตามคำมั่นสัญญาการประชุม COP26 เมื่อปีที่แล้ว ว่าภายในสิ้นปี 2022 ประเทศต่าง ๆ ที่ลงนามจะต้องตีพิมพ์แผนดำเนินการที่ทะเยอทะยานขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายว่าจะร่วมกันจำกัดการเพิ่มอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ไม่ให้เกิน 1.5 องศา เซลเซียส (Paris Agreement) ให้ได้ภายใน ค.ศ. 2100 หรือ พ.ศ. 2643
แต่ตามข้อมูลที่สหประชาชาติ (UN) ได้เปิดเผยในปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หรือก่อนการประชุม COP27 เพียงไม่กี่วัน ปรากฏว่า จากทั้งหมด 193 ประเทศ ที่ให้คำมั่นสัญญาไว้ในการประชุม COP26 มีเพียง 23 ประเทศเท่านั้น ที่ได้ส่งแผนกลับไปยังสหประชาชาติแล้ว
ประเทศไทยในฐานะประเทศที่เข้าร่วมเป็นภาคีกรอบอนุสัญญาฯ และความตกลงปารีส ได้มีการลงนามเห็นชอบข้อตกลงด้านภูมิอากาศ ที่เรียกว่า ‘Glasgow Climate Pact’ ในการประชุม COP26 เมื่อปีที่แล้ว และได้ปรับปรุงเอกสารยุทธศาสตร์ระยะยาวในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ (Long Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy, LT-LEDS) และการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด เพื่อยกระดับเป้าหมายของไทย ประกอบด้วย 3 ประเด็นหลัก ๆ คือ เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดจากเดิม ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) เป็น ค.ศ. 2025 (พ.ศ.2568) ซึ่งเร็วขึ้นกว่าเดิม 5 ปี และเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน จากเดิม ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) เป็นภายใน ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) ซึ่งเร็วขึ้นกว่าเดิม 15 ปี รวมถึงเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ จากเดิม ค.ศ. 2100 (พ.ศ. 2643) เป็นภายใน ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) ซึ่งเร็วขึ้นกว่าเดิม 35 ปี
อีกทั้งรัฐบาลไทยยังได้กำหนดกรอบท่าทีของไทยในการประชุม COP27 โดยหลักการการเจรจาต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นธรรม คำนึงถึงขีดความสามารถที่แตกต่างกันของแต่ละภาคี การพัฒนาที่ยั่งยืน การขจัดความยากจน การไม่เลือกปฏิบัติ และเน้นย้ำว่าประเทศพัฒนาแล้วจะต้องเป็นผู้นำในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง
โดยก่อนหน้านี้ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้แสดงความคิดเห็นเรื่อง “กางแผนแก้ภาวะโลกร้อนเวที COP27” ผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า “ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาผมได้ผลักดันการแก้ไขปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่ ทุกวันนี้เห็นได้ชัดว่าหลายฝ่ายเริ่มเห็นความสำคัญต่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม มากขึ้น …ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคเอกชนที่เป็นกำลังสำคัญ และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประชาชน ได้รับมือและปรับพฤติกรรมพร้อมแก้ไขปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน”
“ซึ่งการที่พวกเราช่วยกันแบบนี้ ผมเชื่อได้เลยครับว่า ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (ASEAN Joint Statement on Climate Change to UNFCCC COP 27) COP 27 ที่ผมจะเดินทางไปที่ เมืองชาร์ม อิล เชค สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ วันที่ 11-17 พ.ย. 2565 นี้ ซึ่งเป้าหมายคือให้ประชาคมโลกร่วมกันจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5-2 องศาเซลเซียสในปี ค.ศ. 2100 (พ.ศ. 2643) ประเทศไทยของเราไม่ได้มีดีแต่พูด แต่เราทำได้จริง และจะประสบความสำเร็จ”
“ตามแผนในระยะยาวไปจนถึงปี 2065 ที่ประเทศไทยวางแผนที่จะลดคาร์บอนจาก 388 ล้านตัน ลงไปเหลือ 120 ล้านตัน และนำเสนอแผนระยะสั้นว่าภายในปี 2030 ประเทศไทยตั้งเป้าหมายที่จะลดคาร์บอนลงไป 40 เปอร์เซนท์ และประเด็นที่สาม เป็นความสำเร็จและการยืนยันว่าประเทศไทยจะสามารถดำเนินการภายใต้ข้อตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Paris Agreement ที่ตกลงกันไว้อีกด้วย”
“นอกจากนี้ อีกสิ่งที่ประเทศไทยควรหวงแหน และควรให้สำคัญคือด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางชีวภาพ ประเทศไทยนับพื้นที่แล้ว มี 1 เปอร์เซ็นต์ของโลก แต่ความหลากหลายทางชีวภาพมีถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นความอุดมสมบูรณ์ทั้งหลายเหล่านี้ เราต้องรักษาไว้ ทั้งในรูปแบบของป่าชุมชนที่ปัจจุบันมีถึง 11,370 แห่งทั่วประเทศ และจากการที่ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทนั้นจะทำให้สามารถขับเคลื่อนการอนุรักษ์ทรัพยากรทางชีวภาพได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นครับ”
ซึ่งคงต้องจับตาดูกันต่อว่า รัฐบาลไทยจะกำหนดทิศทางนโยบายสิ่งแวดล้อมและการแก้ปัญหาโลกรวนนี้อย่างไร และจะสามารถทำตามแผนที่ให้คำมั่นสัญญาไว้ได้หรือไม่