แผนยังไม่ดีพอ ไทยร่วงมาอยู่ที่ 42 (กลุ่มต่ำ) ในดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพด้านโลกร้อน
ในการประเมินดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ The Climate Change Performance Index (CCPI) ฉบับล่าสุดที่เผยแพร่ระหว่างการประชุม COP27 ประเทศไทยถูกลดไปอยู่ในอันดับที่ 42 จากที่ปีก่อนอยู่ในอันดับที่ 31
CCPI เป็นรายงานที่เผยแพร่โดย Germanwatch และ New Climate Institute ร่วมกับเครือข่าย Climate Action จากทั่วโลก ได้ทำการจัดอันดับ 59 ประเทศ ที่มีส่วนร่วมกันรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าร้อยละ 90 ของโลก โดยพิจารณาให้คะแนนจากประสิทธิภาพการดำเนินงาน 4 ด้าน ได้แก่ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก พลังงานทดแทน การใช้พลังงาน และนโยบายสภาพภูมิอากาศ และนำคะแนนแต่ละด้านมาจัดอันดับ สูงสุด (very high) สูง (high) ปานกลาง (medium) ต่ำ (low) และต่ำมาก (very low) ตามลำดับ
เหตุที่อันดับของประเทศไทยตกลงอย่างมาก (11 อันดับ) ทางผู้จัดทำรายงานให้ความเห็นว่า นโยบายการลดก๊าซเรือนกระจกของไทยยังไม่สอดคล้องต่อข้อตกลงปารีส โดยต้องแก้ไข NDC และกลยุทธ์ระยะยาว อีกทั้งประเทศยังต้องผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ให้มากยิ่งขึ้น
ในภาพรวมของดัชนีฉบับล่าสุด ยังไม่มีประเทศใดรับคะแนนสูงสุด หรือถูกจัดอยู่ในอันดับ 1-3 นั่นหมายความว่ายังไม่มีประเทศใดสามารถดำเนินการสอดคล้องตามเป้าหมายของข้อตกลงปารีส
อย่างไรก็ตาม ในลำดับถัดมาอันประกอบด้วยเดนมาร์กและสวีเดน ทั้ง 2 ประเทศอยู่ในกลุ่มสูงมาโดยตลอด แต่รายงานฉบับนี้ได้ให้เครดิตสำคัญต่อ ชิลี ประเทศที่ขึ้นมาอยู่ในลำดับที่ 6 เนื่องจากเป็นประเทศที่พัฒนาแผนดำเนินงานมาโดยตลอด ค่าเฉลี่ยการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ก็ลดลง อีกทั้งยังประกาศและพัฒนากฎหมายโลกร้อนออกมาใช้ได้อย่างสำเร็จ
ส่วนประเทศที่ดัชนีระบุว่าแย่มากในปีนี้ แม้ 3 อันดับสุดท้ายจะเป็นคาซัคสถาน ซาอุดิอาราเบีย และอิหร่าน แต่รัสเซียกลับกลายเป็นประเทศที่ถดถอยต่อการดำเนินงานเรื่องโลกร้อนมากที่สุด เนื่องจากประเทศพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นจำนวนมาก ตรงกันข้ามกับพลังงานหมุนเวียนที่ใช้เพียง 3.06% และนับจากมีการจัดทำดัชนี CCPI มานับตั้งแต่ ค.ศ. 2005 รัสเซียก็ไม่เคยก้าวข้ามออกจากกลุ่มต่ำมากได้เลยสักครั้ง
นอกจากนี้ ในรายงานยังอ้างถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน มีส่วนทำให้การดำเนินงานด้านการแก้ไขวิกฤตโลกร้อนเป็นไปอย่างอ่อนแอ เนื่องจากประเทศต่างๆ จำเป็นต้องหันไปพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อแก้ไขวิกฤตด้านพลังงานที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม
ส่วนสหรัฐอเมริกาที่เคยรั้งบ๊วยในยุคโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ขยับอันดับขึ้นมาอยู่ที่ 52 ในปัจจุบัน แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ระดับต่ำมากเช่นเดียวกับประเทศจีน