สรุปเนื้อหา COP27

สรุปเนื้อหา COP27

ความคืบหน้า (และไม่คืบหน้า) ก่อนการประชุม COP27 จะสิ้นสุดลง

ภายใต้ความหวังว่าการประชุม COP27 จะเกิดข้อตกลงด้านสภาพอากาศที่มีความทะเยอทะยานมากกว่าสนธิสัญญากลาสโกว์เมื่อปีที่แล้ว แต่ความคืบหน้าในการปกป้องไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงเกิน 1.5 องศา ก็ยังเป็นไปอย่างล่าช้า

ประเด็นใหญ่ๆ อย่างการเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยช่วยเหลือทางการเงินให้กับประเทศที่เปราะบางเพื่อปรับตัวต่อวิกฤตโลกร้อน ตลอดการเรียกร้องค่าชดเชยสำหรับความสูญเสียและความเสียหายที่แก้ไขไม่ได้ต่อประเทศที่อยู่แนวหน้าของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ซึ่งถูกเสนอขึ้นตั้งแต่วันแรกๆ ของการประชุมก็ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ 

กลุ่มพันธมิตรรัฐเกาะเล็กและประเทศกำลังพัฒนา (AOSIS) ที่อยู่แนวหน้าของวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ระบุถึงความ ‘กังวลอย่างมาก’ จากความไม่คืบหน้าในประเด็นเงื่อนไขเงินชดเชยให้ชุมชนที่ประสบกับความสูญเสียหรือความเสียหายจากวิกฤตโลกร้อน

“ประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศกำลังพยายามขัดขวางความก้าวหน้า และที่แย่กว่านั้นคือพยายามบ่อนทำลายรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะเล็กๆ” โมลวิน โจเซฟ รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของแอนติกาและบาร์บูดา ในฐานะประธานกลุ่ม AOSIS กล่าว ทั้งนี้ในแถลงการณ์ได้แสดงความชื่นชมถึงสัญญาณการช่วยเหลือจากสหราชอาณาจักรและนิวซีแลนด์

หรือในส่วนร่างข้อตกลงวิธีลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งเผยแพร่เมื่อช่วงเช้าวันพุธที่ผ่านมา ก็ยังเต็มไปด้วยวงเล็บ อันแสดงถึงความไม่ลงรอยกันระหว่างฝ่ายต่างๆ

ขณะที่ในการประชุม G20 ที่ประเทศอินโดนีเซีย บรรดาสมาชิกต่างเห็นพ้องกันว่าจะดำเนินความพยายามเพื่อจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเป็น 1.5 องศา และลดการใช้พลังงานถ่านหิน ตามสนธิสัญญากลาสโกว์ พร้อมกับเรียกร้องให้นานาประเทศต้องร่วมดำเนินการด้วยความมุ่งมั่นที่ “มีความหมาย” และ “มีประสิทธิภาพ” อย่างรวดเร็ว เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดจากโลกที่ร้อนขึ้น โดยเร่งเปลี่ยนไปใช้ระบบพลังงานที่ปล่อยมลพิษต่ำ และผลักดันเรื่องพลังงานหมุนเวียนให้เติบโตอย่างรวดเร็ว

ในมุมของนักวิเคราะห์มองว่า ข้อความนี้มีความสำคัญไม่น้อย เนื่องจากกลุ่มประเทศ G20 มี GDP คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 80 ของโลก และมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกที่ใกล้เคียงกัน แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า ‘สมาชิกส่วนใหญ่’ ประณามสงครามของรัสเซียในยูเครน โดยเน้นย้ำถึงการโดดเดี่ยวรัสเซียในเวทีโลก

อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้ก็ยังมีเรื่องน่าสนใจเชิงบวก เมื่อ ‘ลูอิส อิกนาชิโอ ลูลา ดา ซิลวา’ ผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีบราซิล ปรากฏตัว (ลูลาจะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม 2023)  

ลูลา ได้ประกาศตัวชัดตั้งแต่ช่วงการหาเสียงเลือกตั้งว่า เขาจะกลับมาฟื้นฟูการดูแลผืนป่าแอมะซอนอีกครั้ง หลังจากที่ป่าใหญ่ของโลกถูกทำลายอย่างหนักในช่วง ฌาอีร์ โบลโซนารู เป็นผู้นำประเทศและได้ลดบทบาทฝ่ายงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติลง

ในการประชุม COP 27 ลูลา ได้ให้คำมั่นว่าจะเพิ่มการบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม และสร้างงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทีมงานของเขายังทำงานเพื่อสร้างพันธมิตรอนุรักษ์ป่า ที่ประกาศไปเมื่อวันจันทร์ ระหว่าง บราซิล สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และอินโดนีเซีย เพื่อช่วยดูแลและฟื้นฟูป่าเขตร้อนซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนฯ ที่สำคัญ

คลิ๊กที่ภาพเพื่อเลือกอ่านเนื้อหาที่สนใจ