ป่าร้อนชื้นราว 15 เปอร์เซ็นต์ของโลกกระจุกตัวอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาเราได้สูญเสียพื้นที่ป่าขนาดใหญ่กว่าประเทศไทย และปัจจุบันการตัดไม้ทำลายป่าก็กำลังลุกลามสู่พื้นที่สูงชัน
.
อินโดนีเซียให้คำมั่นว่าจะยุติการขยายตัวของแปลงปลูกปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการทำลายป่า แต่หากต้องการคงไว้ซึ่งระดับการผลิตที่สูงลิ่วโดยที่ไม่ขยายพื้นที่เพาะปลูก รัฐจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มเติมหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ผู้นำจากกว่าหนึ่งร้อยประเทศที่เข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 หรือ COP26 ที่กลาสโกว์ สกอตแลนด์ ต่างลงนามในข้อตกลงที่รวมถึงการยุติการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี พ.ศ. 2573
หลายประเทศจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมลงนามในข้อตกลงฉบับดังกล่าวยกเว้นประเทศไทย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะที่ตั้งของป่าร้อนชื้นในสัดส่วน 15 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก คำมั่นดังกล่าวดูจะสวนทางกับสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดหลายปี นี่คือเหตุผลที่การลงนามกลายเป็นเรื่องชวนสงสัยว่าจะสามารถเปลี่ยนคำสัญญาบนกระดาษสู่การจัดการอย่างจริงจังได้อย่างไร
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือหนึ่งในพื้นที่ที่พบปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าที่ลุกลามอย่างรวดเร็ว โดยมีแรงผลักดันสำคัญจากการเกษตรเข้มข้นและการใช้พื้นที่เพื่อเปิดเหมืองแร่มีค่า จากการศึกษาสหวิชาที่ดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยในเซินเจิ้น ฮ่องกง เชียงใหม่ และลีดส์ ซึ่งตีพิมพ์เมื่อหลายเดือนก่อนพบว่า
ระหว่าง พ.ศ. 2544 ถึง พ.ศ. 2562 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้สูญเสียพื้นที่ป่าไปทั้งสิ้น 610,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าประเทศไทยทั้งประเทศ
การสูญเสียกว่า 31 เปอร์เซ็นต์เกิดขึ้นในพื้นที่เชิงเขา โดยมีการพบว่าป่าที่ราบสูงกว่า 189,100 ตารางกิโลเมตรได้กลายเป็นพื้นที่เพาะปลูกภายในระยะเวลาเพียงสองทศวรรษ การศึกษายังพบอีกว่าการสูญเสียพื้นที่ป่ามีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ภายในปี พ.ศ. 2562 การสูญเสียพื้นที่ป่าราว 42 เปอร์เซ็นต์อยู่บนพื้นที่สูง โดยที่หน้าด่านของการสูญเสียป่าค่อยๆ ขยับสูงขึ้นราว 15 เมตรต่อปี
การสูญเสียป่าไม้เป็นปัญหาร้ายแรงในภาคเหนือของลาว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของพม่า และฝั่งตะวันออกของเกาะสุมาตราและกาลิมันตันของอินโดนีเซีย หากมองในภาพรวมแล้ว อินโดนีเซียคือประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการสูญเสียพื้นที่ป่ามากที่สุด แต่ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ลงนามในข้อตกลงดังกล่าวระหว่างการประชุม COP26
ข้อมูลจากองค์กร Global Forest Watch พบว่าอินโดนีเซียมีพื้นที่ป่าร้อนชื้นปฐมภูมิราว 586.25 ล้านไร่ในปี พ.ศ. 2543 หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 50 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ชั่วระยะเวลา 20 ปี พบการสูญเสียพื้นที่ป่าทั้งสิ้น 60.93 ล้านไร่ หรือคิดเป็นราว 10 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ป่าทั้งหมด ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการสูญเสียคือการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันซึ่งอินโดนีเซียเป็นประเทศแนวหน้าของอุตสาหกรรมเช่นเดียวกับมาเลเซีย
หลายคนตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะประนีประนอมระหว่างคำมั่นที่ให้ไว้ในกลาสโกว์ว่าจะยุติการตัดไม้ทำลายป่าทั้งหมดภายในปี พ.ศ. 2573 กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่องได้อย่างไร
รัฐบาลอินโดนีเซียระบุว่าจะบรรลุคำมั่นดังกล่าวได้โดยการสนับสนุนวิธีการทำเกษตรรูปแบบใหม่ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตโดยไม่จำเป็นต้องแปลงพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่เกษตรเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือผู้ผลิตปาล์มน้ำมันรายย่อยซึ่งคิดเป็น 75 เปอร์เซ็นต์ของเกษตรกรปาล์มน้ำมันทั้งหมด จากข้อมูลโดยคณะกรรมการปาล์มน้ำมันอินโดนีเซีย วิธีเพาะปลูกแบบใหม่จะให้ผลผลิตมากกว่า 22 ตันต่อเฮกตาร์ต่อปี เทียบกับปัจจุบันที่ผลิตได้เพียง 9.2 ตันต่อเฮกตาร์ต่อปีเท่านั้น
กระทรวงการเกษตรของอินโดนีเซียระบุว่า พื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันราว 17.37 ล้านไร่เป็นของเกษตรกรรายย่อยและมีการเพาะปลูกมาเนิ่นนานกว่า 25 ปีโดยมีความจำเป็นจะต้องโค่นปาล์มและปลูกใหม่ อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวต้องอาศัยเงินลงทุนก้อนใหญ่ ทิ้งให้เป็นคำถามที่หลายคนสงสัยว่าเงินลงทุน 19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐที่รัฐบาลประกาศนั้นจะสามารถบรรลุเป้าหมายและแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่
ถอดความและเรียบเรียงจาก Can Southeast Asia achieve zero deforestation by 2030?
ผู้เขียน
บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก