ชื่อของนางสาวคารีน เอลแฮร์ราร์ รัฐมนตรีกระทรวงโครงสร้างพื้นฐาน พลังงานและทรัพยากรน้ำของอิสราเอล ได้กลายเป็นพาดหัวข่าวไปทั่วโลก เมื่อพบว่าเธอไม่สามารถเข้าร่วมการประชุม COP26 ในวันจันทร์ที่ผ่านมาได้ เหตุที่ประชุมขาดเส้นทางสำหรับผู้ใช้วีลแชร์
.
สำหรับผู้พิการจำนวนมาก มันเป็นภาพสะท้อนที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่ากำลังถูกละเลย หรือไม่ถูกกล่าวถึงในบทสนทนาเรื่องวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทว่าคนพิการเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ “ได้รับผลกระทบในเหตุฉุกเฉิน” มากที่สุด ตามรายงานของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council) และเหตุฉุกเฉินเหล่านั้น (ตั้งแต่ไฟป่าไปจนถึงน้ำท่วม) มีแนวโน้มที่จะเกิดถี่ขึ้น เนื่องจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
เหตุใดผู้พิการจึงได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเราจะรับมือกับมันอย่างไร ?
.
โรคลมแดดและภาวะขาดน้ำ
ในเดือนกรกฎาคม 2018 คลื่นความร้อนได้พัดถล่มเมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นถึง 35.5 องศาเซลเซียส เป็นเวลาหลายวัน โรงพยาบาลสาละวนอยู่กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความร้อน เหตุการณ์นั้นมีผู้เสียชีวิต 61 ราย และหนึ่งในสี่ของผู้ป่วยเป็นผู้ป่วยโรคจิตเภท
ผู้ป่วยโรคจิตเภทหลายคนใช้ยารักษาโรคจิตเพื่อรักษาอาการของตนเอง นั่นทำให้ผู้ป่วยทนต่อความร้อนน้อยลง เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคลมแดดและภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ศาสตราจารย์ Sébastien Jodoin กล่าวว่าการขาดการสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่และชุมชนที่มีความเสี่ยงส่งผลให้สถานการณ์เหล่านี้รุนแรงขึ้น
“คนที่อยู่กับโรคจิตเภทมักจะมีเครือข่ายสังคมน้อยกว่า พวกเขาส่วนใหญ่มีฐานะยากจน” ศาสตราจารย์ Jodoin กล่าว “สิ่งเหล่านี้เป็นผลกระทบพื้นฐานของความพิการ ที่จะเพิ่มความเปราะบาง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะก่อให้เกิดสภาพอากาศที่ร้อนและแห้ง มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดคลื่นความร้อนและไฟป่ามากขึ้น บรรยากาศที่ร้อนอบอ้าวยังทำให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมขังอีกด้วย
ศาสตราจารย์ Jodoin กล่าวว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในมอนทรีออลคือภาพรวมของสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น
ในปี 2019 แคลิฟอร์เนียประสบปัญหาไฟฟ้าดับหลายครั้ง เนื่องจากบริษัทต่างๆ หยุดจ่ายไฟเพื่อป้องกันไฟป่าลุกลาม Gerald Niimi จากซานตาโรซาในนอร์ทแคลิฟอร์เนีย เป็นโรคปอดเรื้อรังมาหลายปีแล้ว และต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจเพื่อช่วยให้เขาหายใจได้สะดวก
แต่เมื่อไฟฟ้าดับ เครื่องช่วยหายใจของเขาก็หยุดทำงาน เขาและภรรยาได้ออกจากบ้านเพื่อค้นหาเครื่องช่วยหายใจที่ยังใช้งานได้ แต่ก็ไม่พบ – Gerald Niimi เสียชีวิตในอีกสองวันต่อมา
ผู้ให้บริการด้านพลังงาน Pacific Gas & Electric ยอมรับในเวลาต่อมาว่า พวกเขาล้มเหลวในเรื่องการแจ้งลูกค้าหลายพันราย รวมถึงอีกหลายร้อยรายที่มีอาการป่วย ก่อนที่จะหยุดจ่ายไฟ
ในช่วงที่เกิดไฟป่า ชาวแคลิฟอร์เนียที่เป็นผู้พิการบางคนประสบปัญหาในการอพยพออกจากบ้าน ส่วนผู้ที่สามารถเดินทางได้ พบว่าศูนย์ฉุกเฉินหลายแห่งที่มีน้ำ ห้องน้ำ และพื้นที่ปลอดภัย ล้วนแต่ใช้งานได้ยาก
.
น้ำท่วมและเรือยาง
ฤดูร้อนนี้ ผู้อยู่อาศัยในบ้านพักคนชราผู้พิการ 12 คนในเมืองซินซิก ประเทศเยอรมนี เสียชีวิตจากเหตุอุทกภัยอย่างกะทันหัน พวกเขาไม่สามารถอพยพได้
ดร. Charles Williams นักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศและนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริสตอล มีอาการกล้ามเนื้อลีบกระดูกสันหลัง (SMA) “ในฐานะผู้ใช้รถเข็น ฉันไม่สามารถขึ้นเรือยางเพื่ออพยพได้” เขากล่าว
เรื่องราวที่คล้ายกันนี้เกิดขึ้นหลังจากพายุเฮอริเคนแคทรีนาพัดถล่มนิวออร์ลีนส์ในปี 2005 ทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรง รายงานโดย National Council on Disabilities ซึ่งตั้งอยู่ในสหรัฐฯ พบว่าผู้พิการมีปัญหาในการเข้าถึงการช่วยเหลือ
รถบัสอพยพส่วนใหญ่ไม่มีลิฟต์สำหรับรถเข็น ที่พักพิงฉุกเฉินหลายแห่งไม่เหมาะสมกับคนพิการ และผู้ที่มีความบกพร่องทางสายตาและการได้ยินไม่สามารถรับข้อมูลด้านความปลอดภัยในพื้นที่ได้
ภัยพิบัติเกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ เช่น พายุเฮอริเคนแคทรีนา ได้เพิ่มขึ้น 5 เท่าในช่วง 50 ที่ผ่านมา
แล้วต้องทำอย่างไรล่ะ ถึงจะช่วยเหลือคนพิการให้ดีขึ้น ?
Andy Greene จาก Disabled People Against Cuts (DPAC) เชื่อว่าคนพิการจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการอภิปรายเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีออกกฎหมายใหม่มาใช้
เขากล่าวว่ารัฐบาลมักมองข้ามผลกระทบของการออกกฎหมายต่อผู้พิการ โดยชี้ไปที่ตัวอย่างการห้ามใช้หลอดพลาสติก
หลังจากสารคดีของเซอร์ เดวิด แอตเทนโบโรห์เน้นย้ำว่าภาชนะที่ได้จากการซื้ออาหารกลับไปทานถูกทิ้งเกลื่อนทะเลได้อย่างไร เสียงเรียกร้องของสาธารณชนก็นำไปสู่การออกกฎหมายแบนหลอดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
กฎหมายฉบับใหม่รวมถึงการยกเว้นสำหรับผู้ที่ต้องใช้หลอดพลาสติกด้วยเหตุผลทางการแพทย์ แต่นาย Greene กล่าวว่าผู้พิการจำนวนมากยังคงได้รับผลกระทบในทางลบ เนื่องจากพวกเขาต้องพึ่งพาหลอดพลาสติกสำหรับการดื่มน้ำได้อย่างสะดวก
สิ่งทดแทน เช่น หลอดโลหะหรือหลอดเส้นพาสต้านั้นแข็ง และอาจเป็นอันตรายแก่ผู้ป่วยได้หากผู้ที่ใช้เกิดลื่นหรือมีอาการกระตุกขณะดื่ม หลอดกระดาษก็มักจะยุบแฟบ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมพลาสติกที่งอได้จึงมีความสำคัญสำหรับผู้ที่หยิบแก้วน้ำไม่ได้
“ผู้พิการที่ใช้หลอด เป็นกลุ่มเล็กๆ แต่การห้ามมีผลกระทบต่อพวกเขาอย่างใหญ่หลวง
เขาเชื่อว่านี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของคนพิการที่ถูกลืมและถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
ขณะนี้มีการใช้คำว่า “eco-ableism” เพื่ออธิบายการเลือกปฏิบัติประเภทนี้ หมายถึงความล้มเหลวของผู้มีอำนาจตัดสินใจและนักเคลื่อนไหวในการพิจารณาว่าการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมบางอย่างทำให้การใช้ชีวิตของคนพิการลำบากขึ้น เช่น การลดที่จอดรถสำหรับผู้พิการเพื่อเปิดทางสำหรับเลนจักรยาน
.
อะไรคือสิ่งที่ต้องทำหลังจากนี้
การประชุม COP26 ควรมีกิจกรรมที่เจาะจงกับบุคคลที่มีลักษณะความพิการทางร่างกายและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะ
กิจกรรมหนึ่งจะพิจารณาถึงการออกแบบที่ครอบคลุมสำหรับเมืองที่ทนต่อสภาพอากาศ ในขณะที่อีกกิจกรรมหนึ่งจะเน้นถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสุขภาพของผู้พิการ
ศาสตราจารย์ Jodoin กล่าวว่ารัฐบาลมักไม่นึกถึง “ข้อกำหนดเฉพาะของคนพิการ” แต่เขามองว่า COP26 เป็น “โอกาสในการผลักดันสิทธิของคนพิการ”
ดร. Charles Williams กล่าวว่า “มีเหตุผลที่ต้องหวัง” เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เขากล่าวว่าปัญหาจนถึงตอนนี้คือ “การขาดแรงจูงใจและความมุ่งมั่นอย่างเห็นได้ชัด” เพื่อทำการเปลี่ยนแปลงในระดับบุคคลและระดับการเมือง
“เวลาเท่านั้นที่จะบอกได้ว่าทัศนคติเหล่านี้จะเปลี่ยนไปหรือไม่ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างมาก แต่มันก็ยังต้องทำกันต่อไป”
เรียบเรียงจาก Climate change: Why are disabled people so affected by the climate crisis? By Keiligh Baker
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม