โลกอาจตกอยู่ในความขัดแย้งและความโกลาหล หากการประชุม COP26 ล้มเหลว

โลกอาจตกอยู่ในความขัดแย้งและความโกลาหล หากการประชุม COP26 ล้มเหลว

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหประชาชาติเตือนว่า ความมั่นคงและเสถียรภาพในระดับโลกอาจพังทลายลง เราอาจต้องเผชิญวิกฤติผู้ลี้ภัยและวิกฤติอาหารขาดแคลนนำไปสู่ความขัดแย้งและความโกลาหล หากประเทศทั่วโลกไม่สามารถลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกได้ตามเป้า
.

แพทริเซีย เอสปิโนซา เลขาธิการบริหาร อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UN Framework Convention on Climate Change) กล่าวว่าสิ่งที่เรากำลังพูดถึงในตอนนี้คือการรักษาเสถียรภาพของทุกประเทศทั่วโลก การคงไว้ซึ่งสถาบันที่เราร่วมกันสร้างโดยใช้เวลานับพันปี ดำรงไว้ซึ่งเป้าหมายที่ประเทศบนโลกนี้บรรลุข้อตกลงร่วมกัน ในฉากทัศน์หายนะคือการที่เรามีประชาชนที่ถูกบีบให้ต้องอพยพลี้ภัยจำนวนมหาศาล

ผลกระทบนั้นจะเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ เธอกล่าวเสริมว่านั่นหมายความว่าเราจะมีอาหารน้อยลง และอาจเกิดวิกฤติด้านความมั่นคงทางอาหาร ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากกลายเป็นกลุ่มเปราะบางและมีความเป็นอยู่ที่เลวร้าย รวมถึงอาจกลายเป็นเหยื่อของกลุ่มก่อการร้ายหรือพวกหัวรุนแรง นี่คือสาเหตุของความไร้เสถียรภาพ

ในบทสัมภาษณ์กับ Observer เธอระบุว่านี่ไม่ใช่การประชุมเรื่องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่เป็นระบบทั้งหมดที่เราร่วมกันสร้างขึ้นมา เราทราบดีกว่าวิกฤติผู้ลี้ภัยก่อให้เกิดปัญหาอะไรบ้าง ถ้าเราต้องเจอกับเหตุการณ์เช่นนั้นอีกแต่มีความรุนแรงมากกว่า และไม่มีจำกัดเฉพาะการลี้ภัยระหว่างประเทศแต่ยังรวมถึงการย้ายถิ่นฐานภายในประเทศ มันย่อมสร้างปัญหาในระดับที่เลวร้ายรุนแรง

นี่คือคำเตือนที่ค่อนข้างมองโลกในแง่ร้ายสำหรับเอสปิโนซาซึ่งปกติแล้วเธอจะค่อนข้างวางตัวเป็นกลาง ก่อนที่ผู้นำทั่วโลกจะเข้าร่วมพูดคุย COP26 ที่กลาสโกว์ ผู้นำในกลุ่มประเทศ G20 ซึ่งประกอบด้วยเขตเศรษฐกิจทั้งพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดจะรวมตัวกันที่โรมในปลายสัปดาห์หน้าเพื่อพูดคุยกันก่อนเป็นเวลาสองวันก่อนจะบินไปยังกลาสโกว์และเข้าร่วมกับผู้นำจากอีก 100 ประเทศในงานประชุม COP26 ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันที่ 1 พฤศจิกายน

เอสปิโนซาคืออดีตรัฐมนตรีในประเทศเม็กซิโก เธอเข้ารับตำแหน่งด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในสหประชาชาติตั้งแต่ พ.. 2559 หน้าที่หลักของเธอคือการทำงานร่วมกับอาล็อก ชาร์มา (Alok Sharma) หนึ่งในรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรซึ่งจะทำหน้าที่ประธานในการประชุมครั้งนี้ ตลอดเวลาสองสัปดาห์ ทั้งสองจะต้องพยายามให้กว่า 200 ประเทศร่วมกันดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีสเมื่อ พ.. 2558 โดยจะต้องตกลงให้มีการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกลงอย่างรวดเร็วภายในทศวรรษนี้
.

แพทริเซีย เอสปิโนซา เลขาธิการบริหาร อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

.
ผู้นำคนสำคัญ เช่น สีจิ้นผิง ประธานาธิดีประเทศจีนซึ่งปัจจุบันคนประเทศที่ปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก และวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย มีแนวโน้มว่าจะไม่ปรากฏตัวในงานประชุมดังกล่าว เอสปิโนซากล่าวว่าการไม่มาร่วมประชุมของทั้งสองคนไม่ได้เกี่ยวข้องว่าผลลัพธ์การประชุมครั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่ เธอเสริมว่าไม่ใช่ผู้นำสูงสุดจากทุกประเทศจะมาร่วมประชุมในครั้งนี้ ฉันยังไม่มีข้อมูลว่าประธานาธิบดีสีจะเข้าร่วมหรือไม่ แต่ฉันกับตัวแทนจากประเทศจีนก็พูดคุยด้วยกันตลอด ซึ่งนับว่าเป็นกระบวนการทำงานที่มีความสำคัญอย่างมาก

จนถึงวันนี้ ข้อเสนอของแต่ละประเทศที่จะลดแก๊สเรือนกระจกยังต่ำกว่าที่ควรจะเป็นถึง 45 เปอร์เซ็นต์ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เห็นพ้องต้องกันว่าต้องทำให้ได้ภายใน พ.. 2573 เพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม เอสปิโนซากล่าวว่าสิ่งที่เราต้องการจากการประชุมที่กลาสโกว์คือข้อความจากเหล่าผู้นำว่าพวกเขาและเธอพร้อมมุ่งมั่นที่จะผลักดันการปฏิรูป การเปลี่ยนแปลงแก้ไข และเตรียมเดินหน้าลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกที่มากขึ้น

เธอยังกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่ว่าผลการประชุมที่กลาสโกว์อาจได้ผลลัพธ์ที่ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย ทุกประเทศอาจได้รับคำขอให้ปรับแผนลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกอีกครั้งซึ่งคงทำให้พวกเขาไม่พอใจเท่าไหร่ ตามข้อตกลงปารีส การปรับแผนจะต้องทำทุกๆ ห้าปี แต่ในคราวนี้ใช้เวลาหกปีเนื่องจาก COP26 ถูกเลื่อนมาหนึ่งปีเพราะโควิด-19 อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญมองว่าการปรับแผนดังกล่าวทุกห้าปีนั้นยาวนานเกินไป ในช่วงเวลาหัวเลี้ยงหัวต่อซึ่งอุณหภูมิกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเราอาจไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิด 1.5 องศาเซลเซียส ตราบใดที่ยังไม่มีการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกอย่างรวดเร็วในทศวรรษนี้

ตัวแทนของรัฐบาลแต่ละประเทศคงไม่ชอบแนวคิดนี้เท่าไหร่ เพราะพวกเขาถือแผนที่เสร็จสมบูรณ์มาแล้ว แต่ต้องถูกบอกให้กลับไปแก้ไขเพิ่มเติมอีกครั้งเธอกล่าวแต่นี่คือความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดที่มนุษยชาติเคยเผชิญ ดังนั้นเราจึงไม่มีทางเลือกมากนัก และเราทราบดีว่าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่นเดียวกับเทคโนโลยี กระบวนการ ทำให้มีที่ทางในการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น

อีกหนึ่งความกังวลคือรายละเอียดเรื่องการบริหารจัดการและเนื้อหาทางเทคนิคที่ทุกประเทศต้องร่วมตกลงให้ได้ แม้ว่าข้อตกลงปารีสจะลงนามมาแล้วกว่าหกปี แต่ก็ยังมีอีกหลายประเด็นในข้อตกลงที่ยังไม่ถูกนำมาปฏิบัติจริงเนื่องจากความไม่เห็นพ้องต้องกันในรายละเอียด

หนึ่งในนั้นคือระบบซื้อขายคาร์บอนซึ่งเป็นกฎที่แต่ละประเทศจะต้องรับผิดชอบปริมาณการปล่อยแก๊สเรือนกระจกที่เกิดขึ้น การประชุมยังมีอีก 136 วาระที่ต้องพูดคุยใน COP26 โดยวาระจำนวนมากเป็นเรื่องค้างคาจากการประชุมครั้งก่อนที่ไร้ข้อสรุป ถึงแม้ว่าจะมีการเจรจามาก่อนหน้าเป็นเวลากว่าสามสัปดาห์บนโลกออนไลน์ แต่ก็ยังไม่อาจตัดสินใจอย่างเป็นทางการได้จนกว่าผู้นำของทุกประเทศจะร่วมพบปะกันจริงๆ ที่กลาสโกว์

ความท้าทายสำคัญคือโอกาสพบปะแบบเจอหน้าที่มีน้อยแสนน้อยจนทำให้การเจรจาอย่างเป็นทางการไม่สามารถเริ่มได้สักที ดังนั้นเราจึงมีงานมากมายที่ต้องทำให้สำเร็จ แต่มีเวลาเพียงหยิบมือเธอกล่าว

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก ‘World conflict and chaos’ could be the result of a summit failure

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก