การทำงาน ‘อนุรักษ์’ มีราคาที่ต้องจ่าย แต่ต้นทุนมักไม่ปรากฏในรายงานนัก การขาดแคลนความโปร่งใสอาจทำให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจยากที่จะระบุได้ว่าทางเลือกใดในการอนุรักษ์สัตว์ป่าและระบบนิเวศที่คุ้มค่าคุ้มทุนมากที่สุด
การศึกษาชิ้นล่าสุดซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร BioScience นักวิจัยจากกลุ่มวิทยาศาสตร์การอนุรักษ์จาก University of Cambridge รวบรวมงานวิจัย 1,987 ชิ้นเกี่ยวกับการอนุรักษ์ พบว่าการศึกษาเหล่านั้น 13.3 เปอร์เซ็นต์กล่าวถึงค่าใช้จ่ายบ้าง ขณะที่มีเพียง 8.8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ระบุถึงต้นทุนทั้งหมด
“การอนุรักษ์สัตว์ป่าทั่วโลกต่างเผชิญปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างจำกัด การขาดแคลนข้อมูลว่าวิธีการได้ที่ใช้ได้คุ้มค่ากับต้นทุนที่จ่ายไปมากที่สุด ส่งผลให้การจัดสรรเงินทุนเพื่อใช้จ่ายกับโครงการอนุรักษ์ทำได้ยากยิ่งขึ้น” Silviu Petrovan หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว
ทีมวิจัยพบว่าโครงการส่วนใหญ่ที่มีการระบุต้นทุนนั้นมักจะเกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรซึ่งอาจมีสาเหตุเพราะกิจกรรมดังกล่าวให้ความสำคัญกับการสร้างรายได้ การปลูกดอกไม้ป่าหรือการสร้างแนวต้นไม้กั้นสำหรับสัตว์ป่าเป็นต้นทุนที่คำนวณมาได้ไม่ยาก นอกจากนี้ พวกเขายังพบว่างานอนุรักษ์ที่ดำเนินการในทวีปแอฟริกาจะมีการรายงานตัวเลขต้นทุนมากที่สุดในโลก
แต่ถึงจะมีการรายงานก็ตาม ต้นทุนดังกล่าวก็ยังขาดความคงเส้นคงวาทำให้การเปรียบเทียบต้นทุนระหว่างโครงการทำได้อย่างยากลำบาก Thomas White หัวหน้าทีมวิจัยของการศึกษาดังกล่าวระบุว่าเราสามารถแก้ไขปัญหาได้ไม่ยาก เช่น “การสร้างวัฒนธรรม” ของการรายงานต้นทุนและสร้างมาตรฐานในการรายงานขึ้นมา ทีมวิจัยระบุว่าพวกเขากำลังพัฒนากรอบวิธีคิดเพื่อให้การรายงานต้นทุนโครงการอนุรักษ์สามารถทำได้ง่ายและใช้วิธีการเดียวกัน
“นี่เป็นเรื่องที่น่าหงุดหงิด เพราะคนที่ดำเนินโครงการอนุรักษ์ย่อมรู้อยู่แล้วว่าใช้ต้นทุนดำเนินการเท่าไหร่ เพียงแต่ข้อมูลเหล่านั้นไม่ปรากฎในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ทำให้คนอื่นไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้” Bill Sutherland หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว
Sutherland เป็นผู้อำนวยการโครงการ Conservation Evidence ของ University of Cambridge ซึ่งได้รวบรวมเอาข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิผลของวิธีการอนุรักษ์แต่ละรูปแบบ โดยตั้งใจว่าจะใช้ข้อมูลดังกล่าวในการสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อฟื้นฟูหรือปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ
“เป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่เราจะต้องเปิดเผยต้นทุนอย่างโปร่งใสของทั้งโครงการอนุรักษ์และโครงการฟื้นฟูธรรมชาติ” Robin Chazdon ผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูป่าจาก University of the Sunshine Coast แสดงความเห็น การรายงานต้นทุนไม่ควรรวมเฉพาะต้นทุนทางตรงในการปลูกพืชพรรณพื้นถิ่น แต่ยังรวมถึงต้นทุนทางอ้อม เช่น การสูญเสียรายได้จากภาคการเกษตร เธอกล่าวว่าปัจจัยเหล่านี้จะ ‘นำไปสู่’ การตัดสินใจของเจ้าของที่ดินว่าทางเลือกในการฟื้นฟูหรือการอนุรักษ์นั้นเหมาะสมหรือไม่
“หากเราไม่รวมเอาต้นทุนเหล่านี้มารวมอย่างเหมาะสม เราก็ไม่สามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวสำหรับวางแผนวิธีปฏิบัติที่มีประสิทธิผลได้ รวมทั้งเผชิญอุปสรรคในการหาแหล่งเงินทุนที่จะไม่สร้างภาระให้กับเจ้าของที่ดินและคนในชุมชนมากเกินไป” Chazdon กล่าว
ผลประโยชน์ทางสังคมและทางวัฒนธรรมจากการอนุรักษ์ เช่นเดียวกับนิเวศบริการจากธรรมชาติที่ฟื้นฟูก็ควรเอามาใช้คำนวณร่วมกันด้วย พร้อมทั้งเปรียบเทียบระหว่างมาตรการแบบตอบโต้ (reactive) กับป้องปราม (proactive) ตัวอย่างเช่น ต้นทุนในการป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่าเป็นวงกว้างนั้นน้อยกว่ามากหากเทียบกับต้นทุนในการดับไฟป่าเมื่อเกิดการลุกไหม้จนยากจะควบคุม หรือการปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นตัวเอง (การปล่อยให้ป่าค่อยๆ กลับคืนมาโดยไม่ต้องปลูกต้นไม้เพิ่มเติม) จะใช้ต้นทุนน้อยกว่าอย่างมากหากเทียบกับการปลูกป่าหากพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
เศรษฐศาสตร์ของการฟื้นฟูระบบนิเวศ (The Economics of Ecosystem Restoration หรือ TEER) เป็นโครงการโดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization) เดินหน้าสร้างมาตรฐานและแนวทางในการรวบรวมข้อมูลต้นทุนและผลประโยชน์จากการฟื้นฟูระบบนิเวศเพื่อสนับสนุนทศวรรษแห่งการฟื้นฟูระบบนิเวศของสหประชาชาติ (U.N. Decade on Ecosystem Restoration)
“เรากำลังสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในอัตราที่น่ากังวล นี่คือความเสี่ยงต่อสังคม และเราจำเป็นต้องจริงจังในการจัดการกับปัญหาดังกล่าว” White ระบุ “เพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น เราจำเป็นต้องมีการดำเนินการด้านอนุรักษ์ในระดับโลกซึ่งเรายังไปไม่ถึงและมีเงินทุนไม่เพียงพอ ดังนั้น เราจึงต้องเลือกวิธีการทำงานอนุรักษ์ที่คุ้มค่ากับต้นทุนที่เสียไปมากที่สุดภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด”
อ้างอิงจากงานวิจัย What is the price of conservation? A review of the status quo and recommendations for improving cost reporting. doi:10.1093/biosci/biac007
ถอดความและเรียบเรียงจาก Conservation costs are rarely reported, making it difficult to prioritize funding
ภาพเปิดเรื่อง Spencer Watson unsplash.com
ผู้เขียน
บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก