ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียจับมือสถาบันการเงินเร่งกระบวนการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียจับมือสถาบันการเงินเร่งกระบวนการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียจับมือสถาบันการเงินเร่งกระบวนการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยการเร่งรัดปิดโรงไฟฟ้าเหล่านี้คือการรวมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการพุ่งเป้าลดแหล่งปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ขนาดใหญ่ที่สุด
.

สถาบันการเงิน อาทิ Prudential บริษัทประกันภัยสัญชาติอังกฤษ ธนาคารยักษ์ใหญ่อย่าง Citi และ HSBC รวมถึงบริษัทจัดการกองทุน BlackRock Real Assets พูดคุยเพื่อวางแผนเร่งปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ แหล่งข่าวห้ารายซึ่งทราบโครงการริเริ่มดังกล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Aljazeera

ข้อเสนอล้ำสมัยนี้ขับเคลื่อนโดยธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียหรือ ADB ซึ่งอาจกลายเป็นโมเดลที่ทำงานได้จริง แหล่งข่าวเปิดเผยกับสำนักข่าว Reuters ว่าการพูดคุยในช่วงแรกกับรัฐบาลในเอเชียและธนาคารข้ามชาติถือว่าไปได้ดี

ภาคีกลุ่มนี้มีแผนจะสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนเพื่อซื้อโรงไฟฟ้าถ่านหินและเตรียมหยุดดำเนินการภายใน 15 ปี ซึ่งนับว่าเร็วกว่าอายุการใช้งานจริงๆ ของโรงไฟฟ้า เพื่อให้เวลาแรงงานในการเกษียณอายุหรือหางานใหม่ ในขณะเดียวกันก็เปลี่ยนผ่านกลุ่มประเทศสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน

คาดว่าโครงการดังกล่าวน่าจะพร้อมก่อนการประชุมภูมิอากาศ COP26 ที่จะจัดในกลาสโกว์ สก็อตแลนด์ ในเดือนพฤศจิกายน

ภาคเอกชนมีแนวคิดที่เยี่ยมยอดว่าจะจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร เราจึงทำหน้าที่ปิดช่องว่างระหว่างพวกเขากับภาครัฐ” Ahmed M Saeed รองกรรมการอำนวยการจาก ADB กล่าว

โครงการริเริ่มนี้มีที่มาจากธนาคารทั้งภาคเอกชนและธนาคารเพื่อการพัฒนาที่โดนแรงกดดันจากนักลงทุนยักษ์ใหญ่ให้ใช้การเงินเพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ตามเป้าหมายด้านภูมิอากาศ Saeed กล่าวว่าธุรกรรมซื้อโรงไฟฟ้าครั้งแรกนั้นอยู่ในช่วงยื่นข้อเสนอ ซึ่งเราจะใช้วิธีผสมผสานระหว่างส่วนของหนี้ ทุน และแหล่งเงินอุดหนุนที่น่าจะเกิดขึ้นได้เร็วที่สุดภายในปีหน้า

หากคุณมีวิธีที่เป็นทางการซึ่งจะสามารถทดแทนโรงงานเหล่านั้นได้เร็วขึ้น และปลดระวางโรงงานก่อนกำหนด แต่ไม่ใช่หยุดแบบข้ามคืนนะครับ วิธีดังกล่าวย่อมเปิดโอกาสใหม่ๆ ครั้งใหญ่ในการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนซึ่งมีความแน่นอนมากขึ้น” Donald Kanak ประธานฝ่ายตลาดเกิดใหม่ของ Prudential ให้สัมภาษณ์กับ Reuters
.

ตัวการสร้างมลภาวะ

โรงไฟฟ้าถ่านหินปล่อยแก๊สเรือนกระจกคิดเป็นราว 1 ใน 5 ของการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกทั้งโลก ทำให้แหล่งพลังงานดังกล่าวคือผู้ปล่อยมลภาวะอันดับหนึ่ง กลไกตามข้อเสนอนี้คือการระดมเงินเพื่อหยุดดำเนินการโรงไฟฟ้าที่ปล่อยมลภาวะจำนวนมหาศาล ในขณะเดียวกันก็มีอีกโครงการซึ่งจะเป็นแหล่งเงินสำหรับจูงใจให้เกิดพลังงานหมุนเวียน

การหาทางเพื่อประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียซึ่งกลายเป็นกลุ่มโรงงานไฟฟ้าถ่านหินแหล่งใหม่ที่หลายแห่งกำลังอยู่ในระหว่างก่อสร้าง เพื่อเก็บเกี่ยวประโยชน์จากเงินหลายพันล้านที่ลงทุนไปแล้ว การเปลี่ยนแปลงสู่พลังงานหมุนเวียนจึงเป็นความท้าทายครั้งใหญ่

องค์การพลังงานสากลคาดว่าความต้องการใช้ถ่านหินทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 4.5 เปอร์เซ็นต์ในปี 2021 โดยการเติบโตกว่าร้อยละ 80 เกิดจากตลาดเอเชีย ขณะที่คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (the International Panel on Climate Change) เรียกร้องให้มีการลดการใช้ไฟฟ้าพลังงานถ่านหินจาก 38 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลกเป็น 9 เปอร์เซ็นต์ภายในปีพ.. 2573 และเหลือ 0.6 เปอร์เซ็นต์ภายในปีพ.. 2593
.

ทำอย่างไรให้เกิดขึ้นได้จริง

แนวทางการก่อตั้งหน่วยงานเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนผ่านการซื้อและดำเนินการโรงไฟฟ้าถ่านหินโดยใช้แหล่งเงินต้นทุนต่ำกว่าโรงงานเชิงพาณิชย์จะเปิดทางให้หน่วยงานทำกำไรได้มากกว่าโดยใช้เวลาน้อยกว่าเพื่อสร้างผลตอบแทนในระดับที่ใกล้เคียงกัน โดยกระแสเงินสดจะนำไปจ่ายคืนหนี้และนักลงทุน

อีกหนึ่งหน่วยงานจะทำหน้าที่ริเริ่มการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและระบบกักเก็บพลังงานเพื่อมาทดแทนพลังงานจากโรงงานที่วางแผนจะยุติการดำเนินการ เมื่ออุตสาหกรรมเติบโตได้ในระดับหนึ่งและมีกำไรมันก็จะดึงดูดแหล่งทุนได้ด้วยตนเอง

โมเดลธุรกิจดังกล่าวคล้ายคลึงกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานซึ่งต้องพึ่งพาการระดมเงินทุนแบบผสมผสานหรือที่เรียกว่าภาครัฐและภาคเอกชน โดยได้รับการสนับสนุนโดยสถาบันการเงินของรัฐ

ในกรณีนี้ ADB จะเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงสูงสุดโดยยอมรับว่าจะแบกผลขาดทุนในฐานะผู้ถือหนี้สินด้อยสิทธิ พร้อมทั้งยอมรับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าตามที่ระบุไว้ในข้อเสนอ

เพื่อให้โครงการดังกล่าวเป็นไปได้มากกว่าทำแค่โรงไฟฟ้าหนึ่งหรือสองแห่ง คุณจำเป็นต้องมีนักลงทุนเอกชนร่วมด้วย” Michael Paulus หัวหน้าฝ่ายการลงทุนภาครัฐในเอเชียแปซิฟิกจาก Citi ให้สัมภาษณ์กับ Reuters

แน่นอนว่าอาจมีบางคนที่สนใจ แต่เขาไม่เข้าร่วมแบบไม่ได้อะไรแน่ๆ พวกเขาอาจไม่ได้ต้องการผลตอบแทนปกติที่ 10 ถึง 12 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็คงรับไม่ได้ถ้ามีผลตอบแทนเพียง 1 หรือ 2 เปอร์เซ็นต์ เรากำลังหาทางเพื่อทำให้วิธีการนี้มันทำงานได้

กรอบคิดดังกล่าวได้รับการนำเสนอให้กับรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของกลุ่มประเทศในอาเซียน คณะกรรมการแห่งสหภาพยุโรป และฝ่ายพัฒนาของสหภาพยุโรป แต่รายละเอียดก็ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณา รวมถึงแนวทางว่าจะทำอย่างไรเพื่อกระตุ้นให้เจ้าของโรงไฟฟ้าถ่านหินยอมขาย และจะจัดการกับโรงงานอย่างไรเมื่อหยุดดำเนินการ
.

แผนระดับภูมิภาค

ส่วนหนึ่งของแผนดังกล่าวระบุว่า ADB จะลงทุนราว 1.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เพื่อประมาณการต้นทุนจากการหยุดดำเนินการที่เร็วขึ้น สินทรัพย์ไหนที่สามารถซื้อได้ รวมถึงพูดคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ อาทิ รัฐบาล

เราตั้งใจว่าจะเข้าซื้อโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งแรกในปี พ.. 2565” Saeed กล่าวกับ Reuters พร้อมเสริมว่ากลไกนี้สามารถขยายไปยังภูมิภาคอื่นได้โดยใช้การดำเนินงานรูปแบบเดียวกัน ปัจจุบันมีการพูดคุยว่าจะขยายให้ครอบคลุมประเทศอื่นๆ ในเอเชียอีกด้วย

การจะยุติการดำเนินการโรงไฟฟ้าถ่านหินก่อนกำหนดราว 50 เปอร์เซ็นต์จำเป็นต้องใช้เงินราว 1 – 1.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเมกะวัตต์ ในอินโดนีเซียอาจต้องมีเงินทุนประมาณ 16 ถึง 29 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนฟิลิปปินส์อยู่ที่ 5 ถึง 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเวียดนามที่ 9 ถึง 17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ความท้าทายหนึ่งที่เราต้องจัดการคือความเสี่ยงจากปัญหาจริยวิบัติ (moral hazard) Nick Robins อาจารย์จาก London School of Economics กล่าวว่าเรามีหลักการเก่าแก่ว่าผู้ก่อมลภาวะต้องเป็นคนจ่าย เราจำเป็นต้องมั่นใจว่าเราไม่ได้จ่ายเงินให้ผู้ก่อมลภาวะ แต่เป็นการยอมจ่ายเพื่อเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่าน 

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก ADB, fin firms draw plan to close Asia coal-fired power plants

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก