“วิกฤติภูมิอากาศ” กับหายนะจาก “คลื่นความร้อน”

“วิกฤติภูมิอากาศ” กับหายนะจาก “คลื่นความร้อน”

ประชาชนทั่วโลกต่างกำลังเผชิญกับปรากฎการณ์ “คลื่นความร้อน” ที่รุนแรงยิ่งขึ้น ผลักให้เพดานอุณหภูมิเพิ่มสูงไปทุกปี นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าพบความเชื่อมโยงระหว่างช่วงเวลาที่มีสภาพอากาศร้อนผิดปกติและอัตราการปล่อยแก๊สเรือนกระจกที่มากขึ้น
.

การศึกษาพบว่าคลื่นความร้อนในประเทศญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และออสเตรเลียมีแนวโน้มว่าจะเกิดบ่อยครั้งขึ้น รุนแรงยิ่งขึ้น และกินระยะเวลายาวนานมากขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าหากนานาประเทศและบริษัทไม่จับมือเพื่อลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก ผลลัพธ์ที่ได้คือการเกิดหายนะจาก “คลื่นความร้อน” บ่อยมากขึ้นซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายลง

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระบุว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มโอกาสที่จะเกิดคลื่นความร้อนขึ้นสองเท่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 พื้นที่ที่รับผลกระทบจากคลื่นความร้อนอย่างน้อย 30 ครั้งต่อปีเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าตัว

ประชาชนทั่วโลกต่างรับรู้ถึงผลกระทบดังกล่าว ในเวลาห้าปีที่ผ่านมา อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นราว 1.1 องศาเซลเซียสนับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม รายงานของ Copernicus Climate Change Service ระบุว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของทวีปยุโรปเพิ่มขึ้นเกือบ 2 องศาเซลเซียส พื้นที่ดังกล่าวยังเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์เมื่อปี พ.ศ. 2562 สะท้อนแนวโน้มอากาศที่ร้อนขึ้นต่อเนื่องยาวนานนับสี่ทศวรรษ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา อุณหภูมิในยุโรปสูงทุบสถิติไปแล้วถึง 11 ครั้ง

ขณะที่ทวีปอาร์กติกร้อนขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยของโลกราว 3 เท่า นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าคลื่นความร้อนระดับทุบสถิติที่เกิดในไซบีเรียเมื่อปีที่ผ่านมาแทบไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยหากโลกไม่เผชิญจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเกิดจากมนุษย์ ทีมนักวิทยาศาสตร์ขั้วโลกกว่า 90 รายพบว่าแผ่นน้ำแข็งและยอดภูเขาน้ำแข็งที่กรีนแลนด์ก็ละลายเร็วขึ้นหกเท่าเมื่อเทียบกับอัตราเร็วในปีคริสต์ทศวรรษที่ 1990s
.

.
อัตราการละลายที่รวดเร็วเช่นนี้สอดคล้องกับฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุดของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งระบุว่าน้ำทะเลจะสูงขึ้นราว 17 เซนติเมตร หากไม่มีการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกได้ตามเป้าหมาย

ปีพ.ศ. 2559 พื้นที่ในมหาสมุทรของโลกราว 1 ใน 4 เผชิญกับคลื่นความร้อนในทะเลที่รุนแรงและยาวนานที่สุดเท่าที่เคยมีบันทึกไว้ นักวิทยาศาสตร์สรุปว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้จะมีแนวโน้มเกิดขึ้นบ่อยครั้งราว 50 เท่าจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิในมหาสมุทรที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ในเกรตแบร์ริเออร์รีฟเมื่อปีที่ผ่านมา และเหตุการณ์ปะการังฟอกขาวเช่นนี้เกิดขึ้นถึง 4 ครั้งนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 21

“เมื่อฤดูร้อนมีแนวโน้มที่จะร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราไม่จำเป็นต้องรอเอลนีโญจึงจะเกิดปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ในเกรตแบร์ริเออร์รีฟ” ศาสตราจารย์ เทอร์รี ฮิวจ์ส ให้สัมภาษณ์พร้อมระบุว่าความห่างของการฟอกขาวแต่ละครั้งเริ่มหดสั้นลงทำให้ปะการังเริ่มไม่มีเวลาฟื้นตัวอย่างเต็มที่

ทีมนักวิทยาศาสตร์เตือนว่าภายในกลางคริสต์ศตวรรษนี้คลื่นความร้อนรุนแรงจะกลายเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อเดือนที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่กรมอุตุนิยมวิทยาสหรัฐฯ เตือนว่ามีโอกาสราว 40 เปอร์เซ็นต์ที่อุณหภูมิโลกเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมภายในห้าปีข้างหน้า นี่ถือเป็นจุดสำคัญเพราะเรากำลังจะเผชิญความเสี่ยงที่จะเกิดปรากฏการณ์ภูมิอากาศแบบสุดขั้ว รวมทั้งการขาดแคลนอาหารของประชากรหลายล้านคน

“เราอยู่ในโลกใบที่ร้อนขึ้น ดังนั้นเราจึงต้องทนกับคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงยิ่งขึ้น” มาร์ติน ซีเกิร์ต (Martin Siegert) ผู้อำนวยการ Grantham Institute for Climate Change จาก Imperial College London ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าว The Independent “คลื่นความร้อนจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ เว้นแต่ว่าเราจะจัดการปัญหา ณ ตอนนี้ ซึ่งเรามีเวลาเหลือน้อยลงทุกวันโดยไม่มีทีท่าว่าจะเดินไปบนเส้นทางที่ถูกที่ควร”

เทียนยี ซุน (Tianyi Sun) นักวิทยาศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจาก Environmental Defense Fund ระบุว่าจำนวนวันที่เราจะเผชิญคลื่นความร้อนในแต่ละฤดูจะเพิ่มเป็นประมาณ 34 วันจากการเพิ่มขึ้นหนึ่งองศาเซลเซียส โดยระยะเวลาจะเพิ่มราว 2 ถึง 10 วันทุกๆ การเพิ่มขึ้นหนึ่งองศาเซลเซียส

คลื่นความร้อนส่งผลอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากความร้อนราว 1 ใน 3 ระหว่างปี พ.ศ. 2534 – 2561 อ้างอิงจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Climate Change เหตุการณ์คลื่นความร้อนในยุโรปเมื่อ 18 ปีก่อนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรกว่า 70,000 คน ส่วนคลื่นความร้อนในรัสเซียเมื่อปี พ.ศ. 2553 ก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 56,000 คน

รายงานจากคณะกรรมการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมเตือนว่า การเสียชีวิตจากความร้อนในสหราชอาณาจักรคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าตัวภายในอีกสามสิบปีข้างหน้าหากรัฐบาลไม่ดำเนินนโยบายปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพระบุว่ารัฐบาลอังกฤษยังล้มเหลวที่จะคุ้มครองกลุ่มประชาชนที่เปราะบางต่อคลื่นความร้อน

อีกประเด็นที่น่ากังวลคือความร้อนในกรุงโตเกียวที่อาจส่งผลต่อการจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิก อุณหภูมิเฉลี่ยของโตเกียวเพิ่มขึ้นราว 2.86 องศาเซลเซียสนับตั้งแต่ปี 2443 ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลกราว 3 เท่า นักกีฬาที่น่ากังวลว่าจะได้รับผลกระทบจากความร้อนดังกล่าวคือเหล่านักกรีฑาซึ่งโลกเคยมีประสบการณ์มาแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2562 ที่นักกีฬามาราธอนกว่าครึ่งหนึ่งวิ่งไม่ถึงเส้นชัยเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนชื้นของประเทศการ์ตา แม้ว่าจะจัดวิ่งในเวลาเที่ยงคืนก็ตาม

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Is the climate crisis causing more heatwaves?

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก