การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำลังทำให้มหาสมุทรขาดอากาศหายใจ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำลังทำให้มหาสมุทรขาดอากาศหายใจ

งานวิจัยชิ้นล่าสุดเปิดเผยว่าภายในปี พ.. 2623 มหาสมุทรทั่วโลกอาจเผชิญกับภาวะขาดออกซิเจนเนื่องจาก “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
.

ภาวะดังกล่าวย่อมส่งผลต่อระบบนิเวศทางทะเลทั่วโลก แบบจำลองใหม่พบว่ามหาสมุทรความลึกระดับกลางซึ่งเป็นทรัพยากรทางทะเลสำคัญของอุตสาหกรรมประมงเริ่มเผชิญกับภาวะสูญเสียออกซิเจนในอัตราเร็วที่ผิดธรรมชาติ และพ้นปริมาณวิกฤติของการสูญเสียออกซิเจนในปี พ.. 2564

มหาสมุทรมีออกซิเจนละลายในรูปของแก๊ส สัตว์น้ำก็ไม่ต่างจากสัตว์บกที่ต้องพึ่งพาออกซิเจนในการหายใจ แต่ยิ่งมหาสมุทรอุ่นขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ น้ำทะเลก็มีปริมาณออกซิเจนละลายได้น้อยลง นักวิทยาศาสตร์ติดตามการลดลงของออกซิเจนในมหาสมุทรต่อเนื่องหลายปี แต่งานวิจัยชิ้นใหม่นี้เน้นให้เห็นถึงเหตุผลที่เราควรกังวลและหาทางแก้ไขปัญหาก่อนที่จะสายเกินแก้

งานวิจัยชิ้นใหม่คืองานชิ้นแรกที่ใช้แบบจำลองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อทำนายภาวะการลดลงของออกซิเจนซึ่งหมายถึงปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำลดลงในมหาสมุทรทั่วโลกเกินกว่าวัฏจักรตามธรรมชาติ ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่และอย่างไร 

ผลการวิจัยพบว่าการลดลงซึ่งไม่อาจฟื้นฟูได้ของปริมาณออกซิเจนในมหาสมุทร ณ ระดับความลึกระดับกลางซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของปลาหลากหลายชนิดพันธุ์เริ่มต้นเมื่อ พ.. 2564 และอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประมงทั่วโลก แบบจำลองใหม่นี้คาดว่าภาวะขาดออกซิเจนจะเริ่มส่งผลกระทบเป็นวงกว้างภายในปี พ.. 2623 ผลการศึกษาดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสาร Geophysical Research Letters

ความลึกระดับกลางของมหาสุมทร (ตั้งแต่ 200 เมตรถึง 1,000 เมตร) หรือที่เรียกว่าเขตสนธยา (mesopelagic zones) จะเป็นพื้นที่แรกซึ่งสูญเสียปริมาณออกซิเจนอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พื้นที่ดังกล่าวคือแหล่งอาศัยสำคัญของปลาเศรษฐกิจหลากชนิดพันธุ์ ความสูญเสียนั้นอาจส่งผลกระทบเลวร้ายต่อเศรษฐกิจ การขาดแคลนอาหารทะเล และนิเวศทางทะเลที่ถูกทำลาย

อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้น้ำอุ่นและมีออกซิเจนละลายได้น้อยลง ส่งผลให้การหมุนเวียนของกระแสน้ำในแต่ละเขตของมหาสมุทรลดลง มหาสมุทร ณ ความลึกระดับกลางถือเป็นจุดที่เปราะบางที่สุดเนื่องจากมันไม่ได้รับออกซิเจนมากมายจากชั้นบรรยากาศหรือได้ออกซิเจนจากกระบวนการสังเคราะห์แสงเหมือนเขตน้ำตื้น อีกทั้งการย่อยสลายของสาหร่ายซึ่งใช้ออกซิเจนยังเกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว

Matthew Long นักสมุทรศาสตร์จากศูนย์วิจัยบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Center for Atmospheric Research) ระบุว่าข้อค้นพบชิ้นนี้เน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมนุษยชาติกำลังเปลี่ยนแปลงสภาวะการเผาผลาญของระบบนิเวศที่ใหญ่ที่สุดบนโลก เราไม่มีทางรู้เลยว่าผลกระทบต่อระบบบนิเวศดังกล่าวจะเป็นอย่างไร มันอาจแสดงออกผ่านผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความสามารถของมหาสมุทรในการเพาะพันธุ์ปลาหลากชนิดพันธุ์
.

ประเมินความเปราะบาง

ทีมวิจัยค้นหาจุดเริ่มต้นของภาวะขาดออกซิเจนในสามระดับความลึกของมหาสมุทร โดยทำแบบจำลองการสูญเสียออกซิเจนซึ่งแตกต่างจากความผันผวนของระดับออกซิเจนตามธรรมชาติ การศึกษาชิ้นดังกล่าวคาดว่าภาวะขาดออกซิเจนอาจเกิดขึ้นในมหาสมุทรทั่วโลกจากแบบจำลองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสองรูปแบบคือคาร์บอนสูงและคาร์บอนต่ำ

ทั้งสองสถานการณ์ เขตสนธยาคือพื้นที่ที่สูญเสียออกซิเจนรวดเร็วที่สุดและกินบริเวณกว้างที่สุด แม้ว่ากระบวนการดังกล่าวจะเกิดขึ้นช้าลง 20 ปีในฉากทัศน์การปล่อยคาร์บอนต่ำ ข้อค้นพบนี้ชี้ให้เห็นว่าการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกจะช่วยให้เราชะลอความสูญเสียของระบบนิเวศมหาสมุทรได้

ทีมวิจัยยังพบว่ามหาสมุทรที่ใกล้ขั้วโลกทั้งเหนือและใต้นับเป็นพื้นที่เปราะบางต่อภาวะขาดออกซิเจน พวกเขายังไม่ทราบว่าเพราะเหตุใด แต่พวกเขาคาดว่าอาจเป็นเพราะอุณหภูมิน้ำที่เพิ่มขึ้น ซึ่งนำไปสู่การขยายตัวของพื้นที่ออกซิเจนขั้นต่ำ (oxygen minimum zones) ซึ่งจากเดิมมักจะอยู่เฉพาะบริเวณเส้นศูนย์สูตร 

Yuntao Zhou นักสมุทรศาสตร์จาก Shanghai Jiao Tong University และหนึ่งในทีมวิจัยแสดงความเห็นว่าถึงแม้เราจะทำให้อุณหภูมิโลกกลับคืนมาสู่ปกติอีกครั้งได้ แต่ก็ไม่มีใครตอบได้ว่าอุณหภูมิที่ลดลงจะทำให้ออกซิเจนในน้ำมีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นเหมือนกับในอดีต

 

ร่วมรักษาป่าใหญ่ ผ่านระบบ Thai QR Code


งานวิจัยอ้างอิง Hongjing Gong, Chao Li, Yuntao Zhou. Emerging Global Ocean Deoxygenation Across the 21st Century. Geophysical Research Letters, 2021; 48 (23) DOI: 10.1029/2021GL095370
ถอดความและเรียบเรียงจาก Climate change has likely begun to suffocate the world’s fisheries
ภาพเปิดเรื่อง Joe Raedle Getty Images

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก