‘วิกฤตโลกร้อน’ ทำให้ธารน้ำแข็งบนเอเวอเรสต์ ละลายหายไปในเวลาเพียง 25 ปี
.
หากจะกล่าวว่า ตอนนี้เรากำลังอยู่ยุคการสิ้นสูญของของธารน้ำแข็ง ก็คงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจแต่อย่างใด
ผลงานศึกษาต่างๆ ชี้ชัดไปในทางเดียวกันว่า ธารน้ำแข็งที่อยู่บนยอดเขาต่างๆ กำลังละลายลงอย่างรวดเร็ว แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
และทุกผลการศึกษาในวันนี้ต่างชี้ตรงกันว่า เป็นผลมาจากวิกฤตโลกร้อนที่มีมนุษย์เป็นต้นเหตุ
ต่อเรื่องนี้ ในรายงานล่าสุดได้กล่าวถึงธารน้ำแข็งบนยอดเขาเอเวอเรสต์ พบว่า… ธารน้ำแข็ง South Col Glacier ที่เคยหนากว่า 180 ฟุต หรือ 54 เมตร และใช้เวลาสะสมนานกว่า 2,000 ปี ได้ละลายลงอย่างรวดเร็วตลอดช่วง 25 ปีที่ผ่านมา
การที่น้ำแข็งบนเขาเอเวเรสต์ใช้เวลาราว 2,000 ปีในการก่อตัว แต่กลับมาละลายลงในเวลาเพียง 25 ปีนั้น หมายความว่า น้ำแข็งใช้เวลาละลายเร็วกว่าแข็งตัวถึง 80 เท่า
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเมน อธิบายเรื่องนี้ว่า น้ำแข็งบนยอดเขาเริ่มละลายลงตั้งแต่ทศวรรษ 1990 สาเหตุเป็นผลมาจากอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นและลมที่แรงขึ้นเป็นปัจจัยร่วม
พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าก้อนหิมะหนาของธารน้ำแข็งที่ทยอยละลายต่อเนื่องมานั้น ทำให้น้ำแข็งสีดำที่อยู่เบื้องล่างดูดซับความร้อนจากแสงแดดมากขึ้น จึงเป็นตัวเร่งให้กระบวนการหลอมละลายเป็นไปอย่างว่องไว
ที่ผ่านมา มีการศึกษาเรื่องการละลายของธารน้ำแข็งบนยอดเขาเป็นจำนวนมาก เช่น ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาในแอฟริกาที่พบว่าธารน้ำแข็งบนเคนยา ยูกันดา และคิลิมันจาโร อาจหายไปภายในปี 2040 หากไม่เร่งดำเนินการแก้ไขวิกฤตโลกร้อน
ตามรายงานระบุว่า นับตั้งแต่ปี 1880 เป็นต้นมา ธารน้ำแข็งบนยอดเขาทั้งสามแห่งมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ จากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ ความชื้นในอากาศที่เปลี่ยนไป และปริมาหิมะที่ลดลง
ธารน้ำแข็งบนยอดเขาในเคนยามีแนวโน้มที่จะหายไปก่อนแห่งอื่นๆ หรือในภาพรวมทั้งโลก ธารน้ำแข็งของภูมิภาคนี้มีความเสี่ยงที่จะหายไปก่อนที่ไหนๆ โดยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิในทวีปนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ย 0.86 องศาเซลเซียส
ขณะที่ฝั่งเทือกเขาฮินดูกูช–หิมาลัย ธารน้ำแข็งมากถึงสองในสามจะหายไปภายในปี 2100 ในรายงาน UNDP อ้างถึงผู้คนเกือบสองพันล้านคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งอินเดีย เนปาล และปากีสถาน จะเผชิญกับวิกฤตน้ำและอาหาร
การหายไปของธารน้ำแข็งทั้งสองแห่ง จะทำให้เกิดภัยแล้ง ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อความเป็นอยู่ของประชาชนหลายล้านคน
หรือในบางกรณีและบางภูมิประเทศอาจหมายถึงการต้องรับมือจากอุทกภัยจากน้ำที่ล้นทะลักแอ่งหรือทะเลสาบบนเทือกเขาอย่างฉับพลัน กลายเป็นความเสียหายใหญ่ต่อสภาพสังคมความเป็นอยู่
การละลายน้ำแข็งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงน้ำดื่ม แต่ยังลดปริมาณน้ำสำหรับงานเกษตร – ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารในกระบวนการผลิต และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ การท่องเที่ยว และภาคส่วนอื่นๆ ที่ค้ำจุนและสนับสนุนชีวิตมนุษย์ในพื้นที่ดังกล่าว
ก่อนหน้านี้ในปี 2019 การละลายของธารน้ำแข็งบนเทือกเขาเอเวอเรสต์ตกเป็นที่สนใจของผู้คนจำนวนมาก เพราะได้เปิดเผยให้เห็นศพของนักปีนเขาที่เสียชีวิตอยู่ใต้หิมะและธารน้ำแข็งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
การเสียชีวิตบนยอดเขาเอเวอเรสต์ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการเกิดหิมะถล่ม ซึ่งคิดเป็น 41% ของอัตราการเสียชีวิตทั้งหมด และเหตุหิมะถล่มเองก็เชื่อมโยงกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยเช่นกัน
โดยรายงานในปี 2019 ระบุว่า พบศพผู้เสียชีวิตมากเกือบ 300 ราย ซึ่งคิดเป็นหนึ่งในสามของจำนวนผู้เสียชีวิตในช่วงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเท่านั้น
อ้างอิง
-
Mount Everest: Mountain’s highest glacier melting rapidly, new study shows
-
Mount Everest: Melting glaciers expose dead bodies
-
Photo : MLbay – Pixabay
ผู้เขียน
โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน