วิกฤติภูมิอากาศกำลังทำร้ายเศรษฐกิจและเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะ ‘เงินเฟ้อ’

วิกฤติภูมิอากาศกำลังทำร้ายเศรษฐกิจและเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะ ‘เงินเฟ้อ’

‘เงินเฟ้อ’ เกี่ยวข้องกับวิกฤตภูมิอากาศอย่างไร

หากมองข้ามปัญหายูเครน วิกฤติโควิด-19 ความโลภของบริษัท และ “ปัญหาในห่วงโซ่อุปทาน” เมื่อเป็นเรื่องของเงินเฟ้อ วิกฤติภูมิอากาศคือเรื่องที่น่ากังวลในระยะยาวและอาจมีแนวโน้มว่าจะเลวร้ายลงในอนาคต

เศรษฐศาสตร์ภูมิอากาศ (Climatenomics) โดย Bob Keefe อดีตนักข่าวประจำทำเนียบขาว เป็นหนังสือว่าด้วยเรื่องราวของผลกระทบจากวิกฤติภูมิอากาศต่อเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและเศรษฐกิจโลก

Keefe ไล่เรียงรายละเอียดว่าด้วยทางเลือกที่เขามองว่าไม่เหมาะสมระหว่างการสร้างงาน เร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ และปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการใช้คำว่า “ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน” เป็นคำสละสลวยเพื่อเรียกแทนผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“ผมไม่คิดว่าคนจะตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจเนื่องจากมันมักจะถูกมองว่าเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ หรือสังคม” Keefe กล่าว “ความจริงแล้วการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังโบยตีเศรษฐกิจของเรา”

เหล่าผู้นำเองก็พยายามสื่อสารประเด็นดังกล่าวเช่นกัน ทั้ง Janet Yellen รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐที่ระบุว่าอัตราเงินเฟ้อได้สูงถึงระดับที่ “รับไม่ได้” คือ 8.6% สูงที่สุดในรอบ 40 ปีตอนสิ้นเดือนพฤษภาคม สองวันให้หลังทำเนียบขาวก็แถลงว่า “ภูมิภาคของเรากำลังเผชิญผลกระทบที่เลวร้ายและต้นทุนมหาศาลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ก่อนที่ประธานาธิบดีไบเดนจะเข้าร่วมงานประชุมที่ลอสแองเจลีส

การประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเศรษฐกิจนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ในปัจจุบัน แบบจำลองส่วนใหญ่จะประเมินต้นทุนจากภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่ผลกระทบที่ทำให้เกิด ‘เงินเฟ้อ’

หนังสือของ Keefe อ้างอิงข้อมูลจากองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration) ระบุว่าต้นทุนจากภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหรัฐอเมริกามีมูลค่ามากกว่า 145 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีพ.ศ. 2564 หรือเพิ่มขึ้นราว 50 เปอร์เซ็นต์จากปีที่แล้ว ตลอดห้าปีที่ผ่านมา ต้นทุนดังกล่าวมีมูลค่าทั้งสิ้น 750 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2511 ภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติภูมิอากาศจำนวน 323 ครั้งมีต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นมูลค่ามหาศาล

ยิ่งไปกว่านั้น อ้างอิงจากรายงานการประกันภัยช่วงของบริษัท Swiss Re เมื่อปีที่ผ่านมา วิกฤติภูมิอากาศอาจเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาคิดเป็นสัดส่วนถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศภายในปี พ.ศ. 2593 หากพิจารณาในระดับโลกสัดส่วนดังกล่าวอาจเพิ่มสูงเป็น 18 เปอร์เซ็นต์ ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2561 องค์กร National Climate Assessment คาดว่าอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นและปัญหาความร้อนแบบสุดขั้วจะลดผลิตภาพของแรงงานลงคิดเป็นต้นทุนกว่า 221 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในแต่ละปี ภายในปี พ.ศ. 2633 และภัยพิบัติที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นภาระของสหรัฐอเมริกามูลค่าราว 500 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

งานวิจัยอีกหนึ่งชิ้นซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Research Letters เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาพบว่าอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นในระยะยาวส่งผลให้เกิดความเสียหายมูลค่า 27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจากการประกันภัยพืชผลในสหรัฐระหว่างปี พ.ศ. 2534 ถึง 2561 หรือราว 19 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมด ในปี พ.ศ. 2555 ซึ่งเป็นปีที่ความเสียหายสูงที่สุด การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิสร้างต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงถึง 18.6 พันล้านดอลลาร์

แม้ว่าการศึกษาหลายชิ้นจะเกี่ยวข้องกับจีดีพีและผลิตภาพ แต่ไม่มีสักชิ้นที่กล่าวถึงผลกระทบต่อเงินเฟ้อ หรือแรงกดดันที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ และยังไม่นับรวมถึงสถิติอย่างเป็นทางการของภาครัฐไม่ว่าจะเป็นดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index) ซึ่งคำนวณจากราคาของตะกร้าสินค้าและบริการ

Janet Yellen และ Jerome Powell ผู้ว่าการธนาคารกลางของสหรัฐ เผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากการที่กล่าวถึงเงินเฟ้อครั้งนี้ว่าเป็นปัญหา “ชั่วคราว” ซึ่งจะคลี่คลายลงด้วยตนเอง Yellen ก็ได้ออกมายอมรับในภายหลังว่าการประเมินเศรษฐกิจของตนเองนั้น “ผิดพลาด” ซึ่งเธอและ Powell “สามารถใช้คำที่ดีกว่าปัญหาชั่วคราว” เธอระบุว่า “ปัญหาเงินเฟ้อ” เกี่ยวข้องกับความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน

David Super อาจารย์ด้านกฎหมายและเศรษฐศาสตร์จาก Georgetown University มองว่าเรื่องนี้ก็เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศเช่นกัน เขาระบุว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถูกมองข้ามว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ ส่วนหนึ่งเนื่องจากปรากฎการณ์ดังกล่าวเป็นปัญหาในระดับโลกที่มีทั้งส่วนที่ชัดเจนและส่วนที่แอบแฝงทำให้ยากที่จะวัดผลกระทบทางตรงที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อได้

“ผลกระทบของมันนั้นกว้างและเป็นระบบ ไม่มีสินค้าหรือบริการใดที่ปรากฎในดัชนีราคาผู้บริโภคเพียงอย่างเดียวที่จะสะท้อนผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราอาจบอกได้ว่าต้นทุนธัญญาหารและเชื้อเพลิงฟอสซิลสะท้อนจากสงครามในยูเครน แต่คุณจะพูดแบบเดียวกันนี้ไม่ได้โดยให้เหตุผลว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะมันกระทบเป็นวงกว้าง” Super กล่าว

การสูญเสียป่าไม้และบ้านเรือนเนื่องจากไฟป่าอาจตีราคาได้เป็นต้นทุนในการก่อสร้างบ้าง หรือต้นทุนในการซ่อมแซมบ้านเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งและน้ำท่วม “จะเห็นว่ามันมีองค์ประกอบที่ทั้งสร้างความต้องการซื้อและลดอุปทาน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นองค์ประกอบหนึ่ง”

เช่นเดียวกับปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่มักจะได้รับการอ้างว่าเป็นต้นเหตุของเงินเฟ้ออาจไม่สามารถอธิบายได้ง่ายๆ ว่าเกิดจากมาตรการล็อคดาวน์ของประเทศจีนที่ส่งผลต่อสายพานการผลิต แต่เป็นปัญหาสืบเนื่องจากหลายสาเหตุทั้งถนนพังทลาย หรือพื้นที่เกษตรเสียหายเนื่องจากภูมิอากาศเลวร้าย และการเปลี่ยนแปลงลักษณะภูมิอากาศ

ดัชนีราคาผู้บริโภคจะเน้นสะท้อนผลลัพธ์ไม่ใช่สาเหตุ ผู้ที่ต้องรับผิดชอบในการประเมินว่าสาเหตุเกิดจากอะไรนั้นคือเหล่าที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งอาจเผชิญกับแรงต้านจากเหล่าผู้ที่ปฏิเสธเรื่องภาวะโลกร้อน

การเปลี่ยนแปลงภาพจากวิกฤติภูมิอากาศว่าเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมสู่การเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจคือหัวใจสำคัญที่หนังสือ Climatenomics พยายามนำเสนอ ซึ่ง Keefe มองว่าจำเป็นต้องมีความพยายามในระดับเดียวกับที่เปลี่ยนแปลงจากยุคอุตสาหกรรม สู่ยุคข้อมูลข่าวสาร สู่ยุคพลังงานหมุนเวียนเพื่อพยายามลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“สิ่งเดียวที่เรารู้คือต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ของวิกฤติภูมิอากาศนั้นเพิ่มขึ้นจากทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งนับวันจะยิ่งราคาแพง” Keefe แสดงความเห็น โดยอีกหนึ่งแรงผลักดันให้เกิดเงินเฟ้อคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอาจไม่สามารถรับมือได้ง่ายๆ โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลาง

ในมุมมองของ Super การมองประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมกำลังจะปรับเปลี่ยนสู่การมองปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ “ปัญหา ‘เงินเฟ้อ’ ในรอบนี้ทำให้หลายคนตาสว่าง”

“แน่นอนว่าโรคระบาดและสงครามยูเครนคือส่วนหนึ่งของปัญหา แต่คือช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ของประชาชนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของเราอย่างมาก ที่ผ่านมาเรามองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแบบแคบมากๆ ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องที่ดีสำหรับการพิจารณาปรากฎการณ์ทางสังคมที่สลับซับซ้อน หรือบางอย่างที่กระทบทุกด้านเช่นเรื่องนี้”


ถอดความและเรียบเรียงจาก Climate crisis is ‘battering our economy’ and driving inflation, new book says

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก