งานวิจัยชิ้นล่าสุด 6 ชิ้นพบว่าวิกฤติภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพของตัวอ่อนในครรภ์และเด็กทารก นักวิทยาศาสตร์เปิดเผยว่าอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นสัมพันธ์กับน้ำหนักของทารกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเพิ่มความเสี่ยงที่จะให้เป็นโรคอ้วนในอนาคต
.
ความร้อนยังสัมพันธ์กับอัตราการคลอดก่อนกำหนดซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพตลอดชีวิต อีกทั้งยังสอดคล้องกับอัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลของเด็กเล็กอีกด้วย
ในการศึกษาชิ้นอื่นพบว่าการได้รับควันจากไฟป่าระหว่างตั้งครรภ์จะเพิ่มความเสี่ยงที่ทารกคลอดมาแล้วทุพพลภาพถึง 2 เท่าตัว ขณะที่อัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลงนั้นเชื่อมโยงกับมลภาวะจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลแม้ว่าจะเป็นมลภาวะระดับต่ำก็ตาม การศึกษาเหล่านี้ตีพิมพ์ในวารสาร Paediatric and Perinatal Epidemiology ฉบับพิเศษ ศึกษาในหลายประเทศทั่วโลกตั้งแต่สหรัฐอเมริกา เดนมาร์ก อิสราเอล และออสเตรเลีย
“เราเริ่มพบผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสุขภาพนับตั้งแต่ปฏิสนธิ ช่วงแรกคลอด ไปจนถึงวัยรุ่น” ศาสตราจารย์ Gregory Wellenius จาก Boston University สหรัฐอเมริกากล่าว “นี่คือปัญหาที่กระทบทุกคนทั่วโลก วิกฤติอากาศสุดขั้วกำลังจะมีแนวโน้มบ่อยครั้งและรุนแรงยิ่งขึ้น งานวิจัยเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าทำไมมันเป็นเรื่องสำคัญสำหรับพวกเราทุกคน ไม่ใช่ในอนาคตแต่ในปัจจุบัน”
ความเชื่อมโยงระหว่างความร้อนและน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในขวบปีแรกพบโดยนักวิทยาศาสตร์ที่อิสราเอล พวกเขาวิเคราะห์การคลอดทารก 200,000 คนและพบว่าเด็ก 20 เปอร์เซ็นต์ที่เผชิญกับอุณหภูมิสูงที่สุดตอนกลางคืนจะมีความเสี่ยงที่จะน้ำหนักตัวเพิ่มเร็วเกินไปราว 5 เปอร์เซ็นต์
งานชิ้นนี้มี “นัยสำคัญอย่างยิ่งทั้งในแง่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการระบาดของโรคอ้วน” นักวิจัยจาก Hebrew University of Jerusalem กล่าว เนื่องจากช่วงแรกคลอดคือเวลาที่สำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดน้ำหนักในวัยผู้ใหญ่ และคนอ้วนจำนวนมากอาจเป็นผลจากการเผชิญกับความร้อนสุดขั้วในช่วงทารก “นี่คือสมมติฐานที่น่าสนใจและควรได้รับการศึกษาเพิ่มเติม” Wellenius กล่าว
เด็กๆ 18 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลกมีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน ซึ่งอาจเป็นผลจากการที่น้ำหนักในช่วงแรกคลอดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือการที่ไขมันถูกเผาผลาญน้อยลงในการรักษาระดับอุณหภูมิร่างกายเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ร้อนขึ้น
การศึกษาที่แคลิฟอร์เนียพบว่าคุณแม่ที่ได้รับมลภาวะจากควันไฟป่าในเดือนก่อนที่จะปฏิสนธิจะเพิ่มความเสี่ยงที่ทารกมีภาวะทุพพลภาพถึงสองเท่า ภาวะที่พบคือหน้าท้องไม่ปิดแต่กำเนิด (gastroschisis) ซึ่งหมายถึงการที่อวัยวะภายใน เช่น ลำไส้ ของทารกจะอยู่นอกร่างกายเนื่องจากมีรูเปิดที่หน้าท้อง
ภาวะดังกล่าวเป็นอาการที่พบได้ยากโดยมีเพียงราว 2,000 กรณีต่อปีในสหรัฐอเมริกา แต่นักวิทยาศาสตร์พบว่าคุณแม่ที่เผชิญกับมลภาวะช่วง 3 เดือนแรกระหว่างตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงที่ทารกมีภาวะดังกล่าวเพิ่มขึ้นถึง 28 เปอร์เซ็นต์
การศึกษาอีกสองชิ้นประเมินความสัมพันธ์ระหว่างอุณภูมิที่สูงขึ้นและการคลอดก่อนกำหนด งานชิ้นแรกศึกษาหญิงตั้งครรภ์จำนวนเกือบหนึ่งล้านคนในประเทศออสเตรเลียระหว่าง พ.ศ. 2548 ถึง 2557 ซึ่งมีราว 3 เปอร์เซ็นต์ที่คลอดก่อน 37 สัปดาห์ การศึกษาพบว่าพื้นที่ที่ร้อนที่สุด 5 เปอร์เซ็นต์นั้นจะทำให้มีความเสี่ยงคลอดก่อนกำหนดสูงขึ้นราว 16 เปอร์เซ็นต์
ส่วนงานวิจัยชิ้นที่สองวิเคราะห์การคลอดระหว่าง พ.ศ. 2550 ถึง 2554 ในรัฐเท็กซัส ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวครอบคลุมฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ของเท็กซัสด้วย ผลวิจัยพบว่าคุณแม่ที่เผชิญกับวันอากาศร้อนที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์จะมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดเพิ่มขึ้นราว 15 เปอร์เซ็นต์
“คำเตือนด้านสาธารณสุขเมื่อเกิดคลื่นความร้อนควรระบุความเสี่ยงต่อหญิงตั้งครรภ์ด้วย โดยเฉพาะกลุ่มที่อายุครรภ์น้อยซึ่งจะมีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดสูงกว่า” Lara Cushing จาก University of California กล่าวพร้อมอธิบายว่าสาเหตุของการคลอดก่อนกำหนดอาจยังไม่ชัดเจนแต่เป็นไปได้ว่าจะเป็นเพราะการหลั่งฮอร์โมนที่ส่งผลให้ปากมดลูกเปิด
งานวิจัยสองชิ้นนี้เพิ่มน้ำหนักของงานศึกษาทบทวนวรรณกรรม 68 ชิ้นที่มีกลุ่มตัวอย่างถึง 34 ล้านคนโดยพบว่าความร้อนและมลภาวะทางอากาศมีความสัมพันธ์ระหว่างการคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกเกิดต่ำ หรือการเสียชีวิตหลังคลอด
อุณหภูมิที่สูงขึ้นยังเพิ่มอัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลของเด็กเล็กอีกด้วย การศึกษาชิ้นดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่รัฐนิวยอร์กโดยพิจารณาการเข้ารักษาตัว 2.5 ล้านครั้งตลอด 8 ปีซึ่งมีอุณหภูมิสูงสุดเพิ่มขึ้น 7 องศาเซลเซียสและนำไปสู่การเข้ารักษาตัวของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีเพิ่มขึ้น 2.4 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเด็กเล็กจะสูญเสียของเหลวออกจากร่างกายมากกว่าผู้ใหญ่และกลไกการรักษาอุณหภูมิร่างกายยังพัฒนาไม่เต็มที่
การเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นสาเหตุของวิกฤติภูมิอากาศยังทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศ การศึกษาในประเทศเดนมาร์กประเมินผลกระทบจากอากาศสกปรกต่อคู่รัก 100,000 คนที่พยายามมีลูกด้วยวิธีธรรมชาติ ผลวิจัยพบว่าการเพิ่มขึ้นของฝุ่นละอองในอากาศจะลดโอกาสการปฏิสนธิถึง 8 เปอร์เซ็นต์
งานศึกษาอีกชิ้นหนึ่งในประเทศจีนก็พบผลลัพธ์ในลักษณะเดียวกัน เพราะมลภาวะทางอากาศเพิ่มความเสี่ยงต่อการเจริญพันธ์อย่างมีนัยสำคัญ แต่ในจีนนั้นมีระดับมลภาวะเฉลี่ยสูงกว่าเดนมารก์ถึง 5 เท่าตัว “มลภาวะในประเทศเดนมาร์กนั้นต่ำมากและแทบจะอยู่ในระดับที่เรียกว่าปลอดภัยตามมาตรฐานสหภาพยุโรป” Wesselink กล่าว “ดังนั้นมาตรฐานในปัจจุบันอาจไม่เพียงพอที่จะปกป้องไม่ให้ระบบเจริญพันธุ์ได้รับผลกระทบ”
ถอดความและเรียบเรียงจาก Global heating linked to early birth and damage to babies’ health, scientists find
ผู้เขียน
บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก