รายงานของ UN เตือน การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เชื่อมโยงกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รายงานของ UN เตือน การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เชื่อมโยงกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สิ่งมีชีวิตหลายร้อยชนิดจะเผชิญกับ ‘การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่’ เพราะสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นหรือมหาสมุทรที่ร้อนขึ้น แต่จะมีสัตว์ทั่วโลกเพียงไม่กี่ตัวที่การสูญพันธุ์เชื่อมโยงโดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

.
ในปี 2552 การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นและคลื่นพายุในแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ ได้ทำให้หนูหางโมเสก (Bramble Cay mosaic-tailed rat) สูญพันธุ์ในอีกเจ็ดปีต่อมา และสายพันธุ์นี้ได้กลายเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดแรกที่สูญพันธุ์เนื่องจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์

โลกจะพบกับการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่เชื่อมโยงกับสภาพอากาศอีกมากมายในทศวรรษหน้า หากอุณหภูมิโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นบทสรุปจากรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติที่สรุปงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศมาหลายปี

หากอุณหภูมิโลกสูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 4 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นสถานการณ์สมมติที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูงมาก พันธุ์พืชและสัตว์ครึ่งหนึ่งของโลกอาจถูกคุกคาม ตามรายงาน ที่ระดับภาวะโลกร้อนนั้น โลกสามารถพบเห็นการตายและการสูญพันธุ์จำนวนมากที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับพื้นที่ป่าฝน ป่าสาหร่ายทะเล และแนวปะการังเขตร้อนอย่างถาวร

แม้ว่าอุณหภูมิโลกจะสูงถึง 1.5 องศาเซลเซียส รายงานพบว่าอาจมีชนิดพันธุ์ของสัตว์บนบกเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูงถึง 14 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการปล่อยมลพิษที่มนุษย์สร้างขึ้นได้ทำให้โลกร้อนขึ้น 1.1 องศาเซลเซียสในช่วง 170 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายงาน IPCC ของปีที่แล้ว

ภายใต้สภาวะโลกร้อน 2 องศา สิ่งมีชีวิตบนบก 18 เปอร์เซ็นต์ มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูง ความเสี่ยงนั้นเพิ่มขึ้นถึง 29 เปอร์เซ็นต์ ภายใต้ภาวะโลกร้อน 3 องศา สูงถึง 39 เปอร์เซ็นต์ ที่ 4 องศา และสูงถึง 48 เปอร์เซ็นต์ ที่ 5 องศา

สัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังจะเผชิญกับความเสี่ยงสูงสุดต่อการสูญพันธุ์จากภาวะโลกร้อนระดับกลาง (3.2 องศาเซลเซียส) ตามรายงาน ภายใต้สถานการณ์นี้ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง 15 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงซาลาแมนเดอร์ 24 เปอร์เซ็นต์ และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 11 เปอร์เซ็นต์ อาจสูญพันธุ์ได้

ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับอุณหภูมิโลก รายงานระบุว่า การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตเป็นผลกระทบที่แก้ไขไม่ได้จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
.

Photo : James Rathmell

 

เพนกวินอาร์กติก แมวน้ำ และหมีขั้วโลกกำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

.
สายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอากาศเย็น รวมทั้งในเขตภูเขาสูงหรือบริเวณขั้วโลก เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูงมากกว่าใคร

สัตว์ที่อาศัยอยู่ในอาร์กติก เช่น เพนกวิน แมวน้ำ และหมีขั้วโลก จะถูกคุกคามอย่างรุนแรงจากภาวะโลกร้อนที่อุณหภูมิ 2 องศาหรือน้อยกว่านั้น ตามรายงาน สัตว์เหล่านี้มีวิวัฒนาการให้อาศัยอยู่บนน้ำแข็งในทะเล ซึ่งกำลังลดลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น รายงานคาดการณ์ว่าน้ำแข็งในทะเลจะหายไปอย่างสมบูรณ์ในฤดูร้อนของศตวรรษถัดไป

นั่นหมายความว่าสัตว์อาร์กติกบางชนิดอาจสูญพันธุ์ในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า เว้นแต่จะถูกย้ายไปอยู่ยังบ้านหลังใหม่

แต่การย้ายสัตว์ไปยังถิ่นที่อยู่ต่างประเทศนั้นค่อนข้างยุ่งยาก ตัวอย่างเช่น การย้ายหมีขั้วโลกไปยังแอนตาร์กติกาอาจนำไปสู่การล่าประชากรเพนกวินท้องถิ่นของที่นั่น ในบางกรณี สัตว์อาจต้องย้ายไปอยู่ในสวนสัตว์เพื่อป้องกันไม่ให้พวกมันตาย

พื้นที่เขตร้อนต้องเผชิญกับภัยคุกคาม เช่น คลื่นความร้อนที่ทำลายแนวปะการังและป่าชายเลน รายงานพบว่า แนวปะการังเขตร้อนมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ อาจสูญหายได้ภายในช่วงกลางศตวรรษภายใต้อุณหภูมิ 1.5 องศา ขณะที่แนวปะการังอาจสูญพันธุ์โดยสิ้นเชิงภายใต้อุณหภูมิ 2 องศา
.

Photo : Tien Vu Ngoc

 

การสูญพันธุ์ของสัตว์สะเทือนถึงมนุษย์ได้เช่นกัน

.
ในบางกรณี การสูญพันธุ์ของสัตว์หลายชนิดสามารถโค่นล้มระบบนิเวศลงทั้งหมด

ระบบนิเวศต้องอาศัยความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เพื่อปกป้องพวกมันจากมลภาวะ สภาพอากาศสุดขั้ว และการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ แต่ถ้าสปีชีส์หนึ่งตายไป จะทำให้สิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ อยู่รอดได้ยากขึ้น รายงานระบุว่าการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอาจนำไปสู่ความล้มเหลวในการเพาะปลูกและการขาดแคลนน้ำ

การที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเพียงครึ่งองศา อาจเป็นตัวชี้วัดได้ว่าเผ่าพันธุ์หนึ่งจะมีชีวิตอยู่หรือไม่

ผู้เขียนรายงาน IPCC พบว่าความเสี่ยงในการสูญพันธุ์ของชนิดพันธุ์ในท้องถิ่นในฮอตสปอตความหลากหลายทางชีวภาพสามารถเพิ่มเป็นสองเท่าระหว่าง 1.5 องศาถึง 2 องศาของภาวะโลกร้อน และเพิ่มอย่างน้อย 10 เท่าจาก 1.5 องศาเป็น 3 องศา

และการตายของสัตว์หลายชนิดมีผลกับมนุษย์เช่นกัน

ผู้คนมากกว่า 400 ล้านคนในแอฟริกาและเอเชียต้องพึ่งพาการประมงเพื่อหาโปรตีน แม้ว่าภาวะโลกร้อนจะไม่เกิน 1.6 องศา การทำประมงในเขตร้อนชื้นของแอฟริกาอาจสูญเสียผลผลิตได้ถึง 41 เปอร์เซ็นต์ ภายในสิ้นศตวรรษเนื่องจากการสูญพันธุ์ของปลาทะเลในท้องถิ่น

ปลาที่บริโภคกันทั่วไป เช่น ปลาซาร์ดีนและปลาเฮอริ่ง อาจเผชิญกับการสูญพันธุ์เมื่อมหาสมุทรมีความร้อนเพิ่มมากขึ้น

“เรื่องนี้มีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์เช่นกัน” เดวิด ด็อดแมน ผู้เขียนนำรายงานและผู้อำนวยการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่สถาบันระหว่างประเทศเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนากล่าว

“ผู้คนจำนวนมากทั่วโลกยังคงพึ่งพาปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับระบบนิเวศทางธรรมชาติเพื่อจัดหาอาหารและให้ดำรงชีพอยู่ได้”

ร่วมรักษาป่าใหญ่ ผ่านระบบ Thai QR Code


อ้างอิงจาก UN report warns of climate-related mass extinctions, including the disappearance of penguins and polar bears

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม