ช้างป่าเกือบ 400 ตัว ที่อาศัยอยู่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโอคาวังโกของประเทศบอตสาวานา ได้ล้มตายลงอย่างเป็นปริศนานับตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าลงความเห็นว่า ถือเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดของงานอนุรักษ์ช้างป่าเท่าที่เคยถูกบันทึกไว้ ขณะเดียวกัน ฟากของนักอนุรักษ์ไว้วิพากษ์การทำงานของรัฐบาลที่เป็นไปอย่างล่าช้า และเร่งให้มีการพิสูจน์หาความจริงโดยด่วน
ตามข้อมูลที่กระทรวงสิ่งแวดล้อมของประเทศบอตสาวานา ได้รายงานเรื่องการตายของช้างป่าในโอคาวังโกครั้งแรกในเดือนมีนาคม ได้ถูกข้อสังเกตว่า กว่าการทางการจะเข้าไปตรวจสอบซากช้าง กลับเริ่มดำเนินการในเดือนพฤษภาคม
เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายน รัฐบาลของบอตสาวานาได้ออกมาแถลงถึงเหตุการณ์นี้ ใจความสำคัญคือ กำลังทำการสืบสวนหาสาเหตุการเสียชีวิตครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น พร้อมยังบอกอีกว่า สาเหตุคงไม่เกี่ยวข้องกับการวางยาเบื่อหรือโรคแอนแทรกซ์ตามที่มีการตั้งสมมติฐาน
ในสมมติฐานที่ว่าด้วยโรคแอนแทรกซ์นั้น เป็นที่ทราบกันว่า โรคชนิดนี้เกิดขึ้นได้ในธรรมชาติ และเคยคร่าชีวิตสัตว์ป่ามาแล้วเป็นจำนวนมาก โดยผู้เชี่ยวชาญด้านโรคของสัตว์ป่า ได้อธิบายกับสื่อมวลชนว่า การจะตัดเอาโรคแอนแทรกซ์ออกไปสาเหตุการตายได้นั้น ต้องได้รับการพิสูจน์จากผลการตรวจในห้องแล็บทางวิทยาศาสตร์เสียก่อน แต่เหตุการณ์ครั้งนี้รัฐบาลเพิ่งจะส่งตัวอย่างซากไปยังห้องวิจัยในแอฟริกาใต้ และยังไม่ได้รับผลแต่อย่างใด ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านโรคสัตว์ป่ากล่าวต่อว่า กระบวนการในขั้นนี้อาจเต็มไปด้วยความล่าช้าเนื่องจากอุปสรรคในเรื่องการระบาดของโควิด-19
ข้อมูลอธิบายว่า ช้างจำนวนมากถูกพบว่าเสียชีวิตใกล้บริเวณแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ในขณะที่บางตัวถูกพบบนเส้นทางด่านที่ใช้สัญจร ช้างบางตัวมีลักษณะการตายที่หน้าอกได้ทรุดลงบนเข่า ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าพวกมันอาจพบจุดจบในลักษณะที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน
อย่างไรก็ตาม ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กลุ่มนักอนุรักษ์ทั้งในและนอกประเทศได้ออกมาวิพากษ์การทำงานของรัฐบาลเป็นการใหญ่ เนื่องจากการตรวจสอบของหน่วยงานเอกชนจึงทำให้ทราบว่า มีช้างเสียชีวิตไปเกือบ 400 ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน
กลุ่มนักอนุรักษ์ ยังกล่าวอีกว่า รัฐบาลได้เพิกเฉยต่อการขอเข้าร่วมตรวจหาสาเหตุของหน่วยงานด้านการอนุรักษ์
“มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าช้างได้ตายไปแล้ว เกือบ 400 ตัว” มาร์ค ฮิลลีย์ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการหน่วยงานอนุรักษ์ National Park Rescue กล่าวกับสื่อมวลชน และย้ำว่า “นี่คือการตายครั้งใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นในศตวรรษนี้”
“สิ่งที่ต้องลงมือทำในสถานการณ์เช่นนี้ คือ นำตัวอย่าง (ซากช้าง) มาตรวจสอบในทันที แต่รัฐบาลกลับทำสิ่งที่ผิดพลาด พวกเขาล่าช้าในเรื่องการส่งซากไปตรวจสอบ ซึ่งขั้นตอนในห้องปฏิบัติการก็ต้องรอผลการรับรองอีกหลายเดือน”
มาร์ค ฮิลลีย์ ยังกล่าวอีกว่า มีหน่วยงานด้านการอนุรักษ์ยินดียื่นมือเข้ามาช่วย แต่รัฐบาลกลับไม่สนใจข้อเสนอเหล่านั้นเลย
บอตสาวานา ถือเป็นประเทศที่มีประชากรช้างอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นมากกว่าประเทศอื่น ๆ มาตรการดูแลสัตว์ป่าภายในประเทศ สามารถคุ้มครองชีวิตสัตว์ป่าได้เป็นอย่างดี ดังข้อมูลที่ปรากฎว่า ในช่วงปลาย ค.ศ. 1990 ในประเทศมีช้างอยู่เพียง 80,000 ตัว แต่ก็เพิ่มมาเป็น 135,000 ตัว (โดยประมาณ) ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม นักอนุรักษ์ตั้งข้อสังเกตว่า นับตั้งแต่ นายโมเควซี มาซีซี เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อสองปีก่อน ปัญหาการล่าสัตว์ก็ส่อเค้าความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นกว่าอดีต
เมื่อปีที่ผ่านมา มาซีซี ได้อนุญาตให้มีการล่าช้างเกิดขึ้นในประเทศอีกครั้ง โดยอ้างว่าเพื่อลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง ซึ่งเดิมทีบอตสาวานาได้ประกาศห้ามไม่ให้มีกิจกรรมนี้มาแล้วหลายปี
ข้อมูลจากการสำรวจทางอากาศ พบว่า ปัจจุบันมีการล่าช้างเพิ่มขึ้นเป็นหกเท่าในบริเวณทางตอนเหนือของประเทศ ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2014 – 2018, มีช้างประมาณ 385 ตัว ถูกล่าในช่วงปลายเดือนตุลาคม ค.ศ. 2017 – 2018 และมีช้างอย่างน้อย 90 ตัว ถูกล่าในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน
นอกจากนี้ มาร์ค ฮิลลีย์ ยังกล่าวอีกว่า ในช่วงที่มีการล็อคดาวน์ดเพราะโควิด-19 พบการล่าเกิดขึ้นหลายครั้งในพื้นที่โอคาวังโก
การล่ามักทำโดยการวางยาพิษเพื่อฆ่าสัตว์ และเข้าขโมยซากหลังจากนั้น โดยหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมได้ให้ข้อมูลว่า พบร่องรอยการตั้งแค้มป์ใกล้กับบริเวณที่มีช้างเสียชีวิต
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ยังไม่พบร่องรอบการเข้ามาขโมยงาช้างจากทั้งเกือบ 400 ชีวิตที่ดับไป
แมรี่ ไรซ์ เจ้าหน้าที่ของสำนักงานสืบสวนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Investigation Agency – EIA) กล่าวว่า นี่เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ต้องเร่งตรวจสอบหาสาเหตุ เพราะมันคือความเปลี่ยนแปลงที่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการคุ้มครองสายพันธุ์ที่สำคัญ
Mongabay สื่อมวลชนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ได้ติดต่อไปยังหน่วยงานของรัฐเพื่อสอบถามถึงสาเหตุการตายของช้างทั้งหมด แต่จนถึงล่าสุดก็ยังไม่ได้รับคำตอบใด ๆ จากทางรัฐบาล
มาร์ค ฮิลลีย์ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการหน่วยงานอนุรักษ์ National Park Rescue ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ก่อนที่ช้างจะจบชีวิตลงพวกมันได้วิ่งเป็นวงกลม ซึ่งลักษณะเช่นนี้อาจเป็นอาการทางระบบประสาท ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมอง นอกจากนั้น ในรายงานยังระบุอีกว่า ช้างบางตัวมีอาการอัมพาตในช่วงแผ่นหลัง
นักอนุรักษ์ยังแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า อาการเหล่านั้นอาจเกิดจากสารพิษหรือโรคระบาดก็ได้ แต่หากว่านี่คืออาการที่เกิดขึ้นเพราะโรคชนิดใหม่ ปัญหาจะยิ่งแย่ลงอย่างมาก เพราะว่าช้างเป็นสัตว์มีอาณาเขตเดินทางกว้างไกล หากไม่รีบตรวจสอบข้อเท็จจริง อาจก่อให้เกิดผลกระทบที่เลวร้ายมากยิ่งขึ้นในอนาคต