งานวิจัยฉบับใหม่ว่าด้วยเรื่อง “สายพันธุ์รุกรานต่างถิ่น” หรือ “เอลี่ยนสปีชีส์” ระบุว่า ในอีก 30 ปีข้างหน้า สายพันธุ์รุกราน จำพวกแมลง สัตว์ขาปล้อง และนก อาจเพิ่มขึ้นอีก 36% และจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ภาคเศรษฐกิจ ไปจนถึงเป็นเหตุให้สิ่งมีชีวิตบางชนิดถึงกาลสูญพันธุ์
.
“เอเลี่ยนสปีชีส์” หรือ “สายพันธุ์รุกรานต่างถิ่น” เป็นคำนิยามที่อธิบายถึงสิ่งมีชีวิตที่ถูกมนุษย์โยกย้ายจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกแหล่งหนึ่ง และไม่อาจเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ ซึ่งงานศึกษาเรื่อง “เอเลี่ยนสปีชีส์” ที่บันทึกไว้ก่อนหน้านี้ อ้างอิงว่า มี “เอเลี่ยนสปีชีส์” มากกว่า 35,000 ชนิด ที่ก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายร้ายแรงต่อระบบนิเวศและภาคเศรษฐกิจ ทั้งยังเป็นหนึ่งในตัวการที่เร่งขับเคลื่อนวิกฤตการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์
ผู้ทำรายงานวิจัย ศาสตราจารย์ทิม แบล็กเบิร์น UCL Center for Biodiversity & Environment Research and the Institute of Zoology, ZSL คาดการณ์ว่า ในช่วง 2-3 ทศวรรษข้างหน้า “เอเลี่ยนสปีชีส์” จะกระจายเข้าไปในระบบนิเวศในอัตราที่สูงขึ้นกว่าอดีตที่เคยบันทึกไว้
นักวิจัยวิเคราะห์และพิจารณาจากการพัฒนาแบบจำลองข้อมูลทางคณิตศาสตร์ โดยอาศัยฐานข้อมูลเหตุการณ์ในอดีต ประกอบกับสถานการณ์ซื้อขายสัตว์ป่าข้ามประเทศในปัจจุบัน จากการวิเคราะห์สรุปได้ว่า จำนวนของสายพันธุ์รุกรานทั้งพืชและสัตว์ จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 36% ภายในปี พ.ศ. 2593 การศึกษาได้ลงลึกต่อไปว่า ภูมิภาคที่จะประสบปัญหา “เอเลี่ยนสปีชีส์” มากที่สุดจะเป็นกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งอาจมี “เอเลี่ยนสปีชีส์” เพิ่มขึ้นถึง 64% ภายในช่วงกลางศตวรรษนี้
ทั้งนี้ ในทวีปเอเชีย อเมริกาเหนือและใต้ ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในลำดับรองลงมา ส่วนออสเตรเลียจะเป็นพื้นที่ที่ถูกคุกความต่ำที่สุด ด้านสายพันธุ์ที่มีแนวโน้มกลายเป็น “เอเลี่ยนสปีชีส์” มากเป็นพิเศษ คือ สิ่งมีชีวิตจำพวก แมลง สัตว์ขาปล้อง และนก โดยคาดว่าจะเป็นสายพันธุ์ที่เพิ่มมากขึ้นในแทบทุกภูมิภาคของโลก ขณะที่กลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจะมีเพียงส่วนน้อย
ในสายตานักวิจัยมองว่า ปัญหา “เอเลี่ยนสปีชีส์” ยังสามารถแก้ไขได้ แต่ขึ้นกับว่า “เรา” จะสร้างความร่วมมือในระดับโลกให้เกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงไร
เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของชนิดและจำนวน “เอเลี่ยนสปีชีส์” เกิดจากการค้าและการขนส่งสัตว์ป่าทั่วโลก (ที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทศวรรษหน้า) และกฎระเบียบของหลาย ๆ ประเทศก็ค่อนข้างหละหลวม ทำให้สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ สามารถแทรกซึมไปสู่ถิ่นที่อยู่ใหม่ได้ตลอดเวลา แต่หากเราสามารถทลายข้อจำกัดเรื่องปัญหาการค้าระหว่างประเทศ และบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเข้มงวด ก็จะช่วยชะลอและลดจำนวน “เอเลี่ยนสปีชีส์” ลงได้เช่นกัน
อ้างอิง Alien species to increase by 36% worldwide by 2050
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม