ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา การล็อคดาวน์เนื่องจากโควิด-19 ทำให้ท้องฟ้าใสไร้มลภาวะกลับคืนสู่ภูมิภาคที่เผชิญฝุ่นควันเป็นประจำ ขณะที่ไฟป่าท่ามกลางอากาศที่แล้งและร้อนขึ้นส่งควันไฟเข้าไปปกคลุมพื้นที่เหนือเมืองใหญ่ที่ห่างไปหลายพันกิโลเมตรซึ่งปกติแล้วมีท้องฟ้าสีคราม สองเหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นภาพอนาคตสองแบบ ส่วนจะเป็นไปในทางใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับนโยบายลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในปัจจุบัน
ข้อมูลใหม่จากดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพมนุษย์ (Air Quality Life Index) หรือ AQLI เน้นให้เห็นถึงภัยคุกคามต่อสุขภาพในโลกใบที่ขาดการดำเนินนโยบายเชิงรุก ตราบใดที่มลภาวะฝุ่นยังไม่ลดลงจนถึงระดับที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ ประชาชนจะต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเฉลี่ย 2.2 ปี ขณะที่ประชากรซึ่งอาศัยในพื้นที่ซึ่งเผชิญมลภาวะรุนแรงอาจมีอายุขัยเฉลี่ยลดลงถึง 5 ปีหรือมากกว่า
มลภาวะฝุ่นส่งผลกระทบภายในร่างกายมนุษย์ซึ่งเรามองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า และเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตคนมากกว่าโรคติดต่อทางปอดอย่างวัณโรคและเอดส์ รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงอย่างการสูบบุหรี่ หรือกระทั่งภัยสงคราม
“ระหว่างปีที่ผ่านมาเมื่อคนที่คุ้นเคยกับการสูดอากาศสกปรกพบกับอากาศปลอดมลภาวะ และคนที่คุ้นชินกับอากาศสะอาดต้องเจอกับฝุ่นควัน มันสะท้อนให้เห็นชัดเจนมากว่าบทบาทของนโยบายในการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลสามารถช่วยทั้งในแง่มลภาวะทางอากาศในท้องถิ่น และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลก” ไมเคิล กรีนสโตน (Michael Greenstone) อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และผู้ก่อตั้ง AQLI ที่มหาวิทยาลัยชิคาโกกล่าว “ดัชนี AQLI แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการดำเนินนโยบายดังกล่าวในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยืดอายุขัยของประชาขน”
ประเทศจีนคือต้นแบบสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าการใช้นโยบายสามารถลดมลภาวะได้ในระยะเวลาอันสั้น นับตั้งแต่ริเริ่ม “สงครามต่อต้านมลภาวะ” ในปี 2013 จีนสามารถลดมลภาวะฝุ่นไปได้ถึง 29 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นการลดมลภาวะได้ราวสามในสี่ของมลภาวะที่ลดได้ทั้งโลก นโยบายดังกล่าวทำให้คนจีนมีอายุยืนยาวขึ้นราว 1.5 ปี ภายใต้สมมติฐานว่ามลภาวะจะไม่กลับคืนสู่ระดับเดิมในอนาคต เมื่อเปรียบเทียบความสำเร็จของจีนที่ใช้เวลาเพียง 6 ปีกับการลดมลภาวะในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ทั้งสองต้องใช้เวลาหลายทศวรรษและสภาวะเศรษฐกิจถดถอยหลายต่อหลายครั้ง
ความสำเร็จของจีนแสดงให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหาเป็นไปได้ แม้แต่สำหรับประเทศที่ปล่อยมลภาวะมากที่สุดในโลกก็ตาม ในฝั่งเอเชียใต้ ข้อมูลของ AQLI เปิดเผยว่าประชากรโดยเฉลี่ยจะมีอายุยืนยาวขึ้นห้าปีหากลดมลภาวะจนอยู่ในระดับที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก ประโยชน์จากการมีอากาศสะอาดจะเห็นชัดเจนขึ้นมากในภูมิภาคที่เผชิญมลภาวะรุนแรง
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มลภาวะทางอากาศกลายเป็นภัยคุกคามสำคัญของเมืองใหญ่ทั้งกรุงเทพฯ โฮจิมินฮ์ และจาการ์ตา ผู้อยู่อาศัยในเมืองเหล่านี้สามารถมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นได้ราวสองถึงห้าปีหากลดมลภาวะมาอยู่ในระดับที่องค์การอนามัยโลกกำหนด
ในขณะเดียวกัน แอฟริกากลางและฝั่งตะวันตกก็เผชิญกับปัญหามลภาวะฝุ่นซึ่งส่งผลต่ออายุคาดเฉลี่ยในระดับรุนแรงเทียบเท่ากับโรคเอดส์และมาลาเรีย แต่ปัญหามลภาวะทางอากาศกลับไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ตัวอย่างเช่นในพื้นที่ปากแม่น้ำไนเจอร์ อายุเฉลี่ยของประชากรอาจลดลงถึงห้าปีหากยังต้องเผชิญมลภาวะทางอากาศดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมาเตือนเราว่ามลภาวะทางอากาศไม่ใช่ปัญหาที่เฉพาะประเทศกำลังพัฒนาต้องแก้ไข” เคน ลี (Ken Lee) ผู้อำนวยการ AQLI กล่าว “มลภาวะทางอากาศที่เกิดจากเชื้อพลองฟอสซิลคือปัญหาทั่วโลกที่เราต้องดำเนินนโยบายอย่างเข้มข้นเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งเราคาดหวังว่าจะมีผลลัพธ์จากการพูดคุยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นในเดือนหน้า ข้อมูลล่าสุดของ AQLI คือหลักฐานสนับสนุนชิ้นสำคัญสำหรับผู้มีอำนาจตัดสินใจและประชาชนเพื่อการดำเนินนโยบายอากาศสะอาดที่เข้มงวดเพื่อสุขภาพของเราทุกคน”
ถอดความและเรียบเรียงจาก New data shows strong air pollution policies lengthen life expectancy
ผู้เขียน
บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก