ท่ามกลางมลพิษหมอกควันคละคลุ้ง ผีเสื้อ ผึ้ง และแมลงชนิดต่างๆ กำลังเผชิญกับปัญหาในการดมกลิ่นดอกไม้ที่พวกมันมีหน้าที่ช่วยผสมเกสร
.
นักวิจัยพบว่ามลพิษทางอากาศทั่วไปในระดับพื้นดิน เช่น ไนโตรเจนออกไซด์ (ที่พบในควันไอเสียดีเซล) และโอโซนทำปฏิกิริยากับกลิ่นดอกไม้ ทำให้พฤติกรรมการผสมเกสรของแมลงลดลง ตามการศึกษาที่ตีพิมพ์ใหม่ในวารสาร Environmental Pollution
“เราทราบจากการศึกษาในห้องปฏิบัติการครั้งก่อนว่าไอเสียดีเซลสามารถส่งผลเสียต่อการผสมเกสรของแมลง แต่ผลกระทบที่เราพบในท้องทุ่งนั้นรุนแรงกว่าที่เราคาดไว้มาก” Robbie Girling หัวหน้าโครงการและรองศาสตราจารย์ด้านเกษตรศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเรดดิ้ง สหราชอาณาจักร กล่าว
ในช่วงสองฤดูร้อน นักวิจัยได้ใช้โรงรมยาเพื่อควบคุมระดับไนโตรเจนออกไซด์และโอโซนเหนือทุ่งโล่งของต้นมัสตาร์ดดำ และสังเกตผลกระทบของมลพิษเหล่านี้ต่อการผสมเกสรของแมลงในท้องถิ่น
การปรากฏตัวของก๊าซเหล่านี้ส่งผลให้การดมดอมดอกไม้น้อยลงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ และการผสมเกสรน้อยกว่าหนึ่งในสาม เมื่อเทียบกับทุ่งที่ปราศจากหมอกควัน การผสมเกสรลดลงมากที่สุดมาจากผึ้ง แมลงวัน ผีเสื้อกลางคืน และผีเสื้อ
ความเข้มข้นของสารมลพิษที่ใช้ในการศึกษานี้มีค่าน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของระดับเฉลี่ยของมลพิษทางอากาศที่กำหนดว่าปลอดภัยภายใต้กฎหมายของสหรัฐอเมริกา จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ทั้งนี้ ในปี 2019 ประชากรโลก 99 เปอร์เซ็นต์ อาศัยอยู่ในสถานที่ที่คุณภาพอากาศแย่กว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนด
“ข้อค้นพบนี้น่ากังวล เพราะว่ามลพิษเหล่านี้มักพบในอากาศที่พวกเราหลายคนหายใจเข้าไปทุกวัน” James Ryalls ผู้ร่วมเขียนการศึกษาและนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเรดดิ้ง กล่าวในแถลงการณ์
“เรารู้ว่ามลพิษเหล่านี้ไม่ดีต่อสุขภาพของเรา” Ryalls กล่าว “และการลดลงอย่างมีนัยสำคัญที่เราเห็นในจำนวนแมลงผสมเกสรและพฤติกรรมต่างๆ แสดงให้เห็นนัยที่ชัดเจนสำหรับระบบนิเวศตามธรรมชาติที่เราพึ่งพา”
แมลงทำให้โลกมีชีวิต พวกมันผสมเกสร ทำลายของเสีย หมุนเวียนสารอาหาร ย้ายเมล็ดพืช และสัมผัสทุกโหนดในสายใยแห่งชีวิต เติมเต็มช่องการทำงานที่ไม่รู้จบ ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ของพืชดอกต้องการความช่วยเหลือจากแมลงผสมเกสรในการสืบพันธุ์ ซึ่งรวมถึงพืชที่เป็นอาหารส่วนใหญ่
แต่จากการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่าประชากรแมลงทั่วโลกกำลังลดลงในสิ่งที่บางคนเรียกว่า “insect apocalypse” การสูญเสียที่อยู่อาศัย การใช้สารกำจัดศัตรูพืช และสารกำจัดวัชพืชในการเกษตรเป็นสาเหตุหลักของเรื่องนี้
“ผึ้งมีมูลค่านับล้านสำหรับเศรษฐกิจอังกฤษเพียงอย่างเดียว แต่เรารู้ว่าจำนวนแมลงทั่วโลกกำลังลดลง” Girling กล่าวในแถลงการณ์ “เราไม่คิดว่ามลพิษทางอากาศจากรถยนต์ดีเซลเป็นสาเหตุหลักของการลดลงนี้ แต่งานล่าสุดของเราชี้ให้เห็นว่ามลพิษในอากาศอาจส่งผลกระทบเลวร้ายต่อกลิ่นดอกไม้ที่ผึ้งต้องการมากกว่าที่เราคิดไว้ในตอนแรก”
องค์การอนามัยโลกกล่าวว่าการขนส่งที่สะอาดขึ้น การผลิตกระแสไฟฟ้า และอุตสาหกรรม ตลอดจนการจัดการของเสียที่ดีขึ้น เป็นกุญแจสำคัญในการลดมลพิษทางอากาศภายนอกอาคาร
เรียบเรียงจาก Air pollution makes it tough for pollinators to stop and smell the flowers
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม