รู้หรือไม่ 64% ของพื้นที่เกษตรกรรมทั่วโลกปนเปื้อนไปด้วย “ยาฆ่าแมลง”

รู้หรือไม่ 64% ของพื้นที่เกษตรกรรมทั่วโลกปนเปื้อนไปด้วย “ยาฆ่าแมลง”

เชื่อว่าผู้อ่านหลายคนคงรู้จักสิ่งที่เรียกว่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เป็นอย่างดี

และก็คงทราบด้วยว่า เมื่อขึ้นชื่อเป็นสารเคมีแล้ว ย่อมมีทั้งผลดีและผลลบ

ด้านหนึ่ง มันอาจช่วยให้พืชผลทางการเกษตรที่เราเพาะปลูกปลอดภัย ไม่มีแมลงมารบกวนทำลายปริมาณผลผลิตตามที่คนเราต้องการ

แต่อีกนัยหนึ่ง (ด้วยความเป็นพิษ) หากเรารับเอาสารเคมีเข้าไป (ไม่ว่าจะมากหรือน้อย) ก็อาจทำให้เราเจ็บป่วย ไม่สบาย จนถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียวดังนั้น หากเลี่ยงได้ ก็ขอให้เลี่ยง หรือควรเลี่ยงไปเลยเสียดีกว่า

อย่างไรก็ตาม ในงานวิจัยชิ้นใหม่ของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ได้เตือนให้เราต้องระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากยิ่งขึ้น เนื่องด้วยในปัจจุบันพบว่ามีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชปนเปื้อนอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมไม่น้อยกว่า 64% ใน 168 ประเทศทั่วโลก

และพบสารเคมีที่อันตรายต่อร่างกายคนเรา สัตว์ป่า และแมลง มากถึง 92 ชนิด

สารเคมีที่รู้จักกันดี คือ พาราควอต (Paraquat) และไกลโฟเสท (Glyphosate) เป็นสารกำจัดวัชพืชชนิดหนึ่งที่นิยมใช้มากที่สุด ถ้าใช้สารทั้งสองชนิดนี้ในปริมาณน้อยมักจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะมีจุลินทรีย์ที่อยู่ในดินและแสงแดดช่วยขจัดความเป็นพิษ ซึ่งใช้เวลานานมากกว่า 3 สัปดาห์

สารเคมีเหล่านั้นกระจายอยู่ทั่วทั้งบนผิวดิน ในอากาศ ตลอดจนแหล่งน้ำ และยังมีโอกาสแทรกซึมไปยังที่อื่นๆ ผ่านนิเวศทางธรรมชาติรอบข้าง (ที่ไม่ได้ใช้สารเคมี) ได้อีกด้วย

ตามข้อมูลของงานวิจัยระบุว่า ประเทศแถบเอเชีย อาทิ จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ถือเป็นกลุ่มมีความเสี่ยงสูงสุดในการประสบพบสารเคมีอันตรายเหล่านั้น

ความเสี่ยงที่ว่าไม่ได้หมายถึงคนทำเกษตรหรือคนในประเทศที่ว่ามา แต่ยังรวมถึงคนที่รับสินค้าทางการเกษตรของประเทศเหล่านั้นไปบริโภคอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่ต้องชวนคิดต่อว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนมนุษย์บนโลกในอนาคตอาจผลักดันให้เกิดการใช้สารเคมีมากขึ้นเพื่อสร้างอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการ

งานวิจัย อธิบายว่า แม้ว่าการปกป้องการผลิตอาหารจะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาของมนุษย์ แต่การลดมลพิษจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชก็มีความสำคัญเทียบเท่ากับการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพที่รักษาสุขภาพและหน้าที่ของดิน

รวมถึงยังมีปัญหาเรื่องโลกร้อนเข้ามาเอี่ยว ดังเช่นเหตุการณ์ฝูงตั๊กแตนนับล้านระบาดในแอฟริกาตะวันออก เพราะอุณหภูมิที่สูงส่งผลให้ตั๊กแตนกระจายพันธุ์ได้มากขึ้นและไวขึ้น

ซึ่งสารเคมีอาจเป็นคำตอบของทางรอดที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาดังกล่าว แม้ว่าจะไม่ใช่หนทางที่ถูกที่ควรก็ตาม

แน่นอนว่าการใช้ยาฆ่าแมลงมีผลทำให้แมลงหลายชนิดหายไป

และผลของการสูญเสียแมลงนั้น นำมาซึ่งการล่มสลายของสายพันธุ์พืชอีกนับไม่ถ้วน ที่จำเป็นต้องอาศัยแมลงในการช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์

แม้ปัจจุบันมนุษยชาติจะมีความรู้ความสามารถในการขยายพันธุ์พืช ตลอดจนการเพาะปลูกกู้ชีวิตสายพันธุ์ต่างๆ ให้อยู่รอดได้ แต่กระบวนการสร้างล้วนมีต้นทุน ตรงกันข้ามกับการดำรงอยู่ในวงจรของธรรมชาติ ที่เรียกว่านิเวศบริการซึ่งเป็นสิ่งที่เราได้รับมาฟรีๆ 

นอกจากปัญหาที่เกี่ยวพันกับคนเราและแมลงแล้ว ในหลายต่อหลายครั้งยังเกี่ยวโยงกับสิ่งมีชีวิตอีกหลายชนิดที่ต้องมารับกรรมโดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่

ในเหตุการณ์ที่ใกล้เคียงสังคมในประเทศมากที่สุด ตัวอย่างเช่น ผลกระทบของยาฆ่าแมลงได้ทำให้เกิดเหตุการณ์นกเป็ดแดงตายเกลื่อนในทุ่งนา จ.ลำปาง

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไขปรับปรุงทั้งประโยชน์ต่อตัวมนุษย์เอง

รวมถึงเพื่อนร่วมโลก ที่คอยเกื้อหนุนประโยชน์ให้แก่เราอีกนานับประการ

อนึ่ง ในเบื้องต้น งานวิจัยนี้มุ่งหวังให้เห็นว่าการตรวจสอบสารตกค้างเป็นประจำทุกปีเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อตรวจหาแนวโน้มเพื่อจัดการและลดความเสี่ยงจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

ขณะเดียวกัน ก็ควรหาวิธีการเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตรที่ยั่งยืน ซึ่งช่วยลดการสูญเสียอาหาร (เพราะสารเคมีตกค้าง) พร้อมๆ กับลดการใช้ยาฆ่าแมลงลงไปในตัว

 


อ้างอิง
64% of global agricultural land at risk of pesticide pollution?
เจาะวิกฤตตั๊กแตนทะเลทรายระบาดภัยคุกคามจากภูมิอากาศที่แปลี่ยนแปลง
โศกนาฏกรรมนกเป็ดแดง และความตายที่เรายังมองไม่เห็น

ผู้เขียน

Website | + posts

โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน