ประชากรโลกราว 25 เปอร์เซ็นต์เผชิญกับคลื่นความร้อนในเมืองที่อันตรายถึงชีวิต

ประชากรโลกราว 25 เปอร์เซ็นต์เผชิญกับคลื่นความร้อนในเมืองที่อันตรายถึงชีวิต

ประชากรที่เผชิญคลื่นความร้อนในเมืองเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าตัวเมื่อเทียบกับราว 40 ปีก่อน การศึกษาพบว่ากลุ่มประชากรดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วน 25 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก

.
นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์แนวโน้มที่น่ากังวลโดยรวมเอาอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นประกอบกับจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองที่เพิ่มสูงขึ้น พร้อมกับเตือนถึงสัญญาณอันตรายที่อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิต

เมื่อไม่กี่ทศวรรษก่อน ประชากรหลายร้อนล้านคนได้ย้ายจากพื้นที่ชนบทสู่พื้นที่เมือง ปัจจุบันมีประชากรอาศัยอยู่ในเมืองคิดเป็นสัดส่วนถึงครึ่งหนึ่งของประชากรโลก แต่เมืองมีพื้นผิวคอนกรีตและยางมะตอยซึ่งกักเก็บความร้อน ทำให้ความร้อนเข้มข้นขึ้น ประกอบกับมีพื้นที่สีเขียวน้อย ส่งผลให้พื้นที่ในเมืองมีอุณหภูมิสูงกว่าโดยเปรียบเทียบ

อุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง” Cascade Tuholske หัวหน้าทีมวิจัยของผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสาร PNAS และนักวิจัยประจำมหาวิทยาลัยโคลัมเบียให้สัมภาษณ์มันเพิ่มอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิต อีกทั้งกระทบต่อความสามารถในการทำงานของประชาชน นำไปสู่ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่ต่ำลง และทำให้อาการเจ็บป่วยที่มีอยู่เดิมทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

การศึกษาชิ้นดังกล่าวใช้ภาพถ่ายดาวเทียมอินฟราเรดประกอบกับค่าอุณหภูมิและความชื้นสูงสุดซึ่งรวบรวมจากเมือง 13,000 แห่งทั่วโลกตั้งแต่ ค.. 1983 ถึง 2016 พร้อมทั้งประเมินจำนวนวันที่ประชาชนต้องเผชิญกับความร้อนเกิน 30 องศาเซลเซียสในแต่ละปี โดยอ้างอิงจากระดับอุณหภูมิแบบ wet-bulb globe (ซึ่งคำนึงถึงผลกระทบหลากหลายมิติจากความชื้นที่สูงขึ้น) ในพื้นที่ พวกเขานำข้อมูลชุดดังกล่าวมาประกอบการวิเคราะห์กลุ่มประชากรในเมืองในช่วงเวลาเดียวกัน

ผลลัพธ์การศึกษาระบุว่าจำนวนวันต่อคนที่ต้องเผชิญคลื่นความร้อน (จำนวนประชากรสะสมที่เผชิญกับความร้อนสะสมในแต่ละปี ณ พื้นที่หนึ่งๆ) เพิ่มขึ้นจาก 40 พันล้านต่อปีในปี 1983 เป็น 119 พันล้านต่อปีในปี 2016 คิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว ในปี 2016 ประชากร 1.7 พันล้านคนเจอกับสภาวะความร้อนสุดขั้วเป็นเวลาหลายวัน

ถึงแม้ว่าผลลัพธ์จะแตกต่างกันไปในแต่ละเมืองและภูมิภาค นักวิทยาศาสตร์สรุปว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนวันและประชาชนที่เผชิญความเสี่ยงต่อภาวะความร้อนราว 2 ใน 3 มีสาเหตุมาจากวิกฤติภูมิอากาศ

เมืองที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือธากา (Dhaka) ประเทศบังคลาเทศ ระหว่างปี 1983 ถึง 2016 ซึ่งประชาชนในเมืองดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เมืองหลวงของบังคลาเทศมีจำนวนวันต่อคนที่ต้องเผชิญคลื่นความร้อนถึง 575 ล้านวันต่อคน เมืองอื่นๆ ที่มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก็เช่น เซียงไฮ้และกวางโจว ประเทศจีน ย่างกุ้ง ประเทศพม่า กรุงเทพฯ ประเทศไทย และ ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

เมืองใหญ่ที่ภาวะความร้อนที่รุนแรงขึ้นมีผลมาจากวิกฤติภูมิอากาศคือแบกแดด ประเทศอิรัก ไคโร ประเทศอียิปต์ และมุมไป ประเทศอินเดีย สำหรับเมืองที่อยู่ในการศึกษาชิ้นนี้ ราว 17 เปอร์เซ็นต์ต้องเจอกับวันที่ความร้อนสูงเพิ่มขึ้นราวหนึ่งเดือนต่อปี

Tuholske กล่าวว่าเมืองใหญ่เหล่านี้มีรูปแบบคล้ายกับประวัติการก่อร่างสร้างอารยธรรมของมนุษย์ที่พัฒนามากว่า 15,000 ปี มีทั้งบริเวณลุ่มน้ำไนล์ ไทกรีสยูเฟรตีส และคงคา รูปแบบพื้นที่ที่เราตั้งรกรากนั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่ปัจจุบันพื้นที่เหล่านั้นแทบไม่สามารถอยู่อาศัยได้ แล้วมนุษย์จะยังต้องการอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวอีกหรือ?”

งานวิจัยของ PNAS คือหนึ่งในหลายชิ้นในหัวผลกระทบของความร้อนแบบสุดขั้วที่เพิ่งได้รับการเผยแพร่

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจคือการศึกษาในประเทศบราซิลที่พบว่าการสูญเสียพื้นที่ป่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ และคาดว่าภายในปี 2100 ประชาชนชาวบราซิลราว 12 ล้านคนอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากคลื่นความร้อนเนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่าแอมะซอนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ร่วมรักษาป่าใหญ่ ผ่านระบบ Thai QR Code


ถอดความและเรียบเรียงจาก Nearly 25% of world population exposed to deadly city heat

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก