หมีอ้วนจะไม่อ้วนอีกแล้ว น้ำแข็งเริ่มน้อย หาอาหารยิ่งยาก หนทางเอาตัวรอดลดลง 

หมีอ้วนจะไม่อ้วนอีกแล้ว น้ำแข็งเริ่มน้อย หาอาหารยิ่งยาก หนทางเอาตัวรอดลดลง 

ภาพหมีขั้วโลกตัวผอมคงเป็นสิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้บ่อยขึ้นในทศวรรษนี้

สาเหตุเป็นเพราะแผ่นน้ำแข็งบนทะเลกรีนแลนด์จับตัวเป็นพื้นให้หมีเหยียบเหลือน้อยลง 

แถมช่วงเวลาที่มีน้ำแข็งยังหายไปเพิ่มอีก 3 สัปดาห์

สัตว์ที่ต้องการไขมันมากๆ อย่างหมีจึงต้องอด(ทน)นานขึ้น เพื่อรอวันที่น้ำแข็งจะจับตัวอีกครั้ง

และผลของการทนอดก็ตามมาด้วยสภาพร่างกายที่ผอมลงอย่างที่เราเคยได้เห็นผ่านตากันมาบ้าง

นับตั้งแต่ปี 2013 ที่เราได้เห็นภาพหมีขั้วโลกนอนตายในสภาพผอมโซ จากช่างภาพ แอชลีย์ คูเปอร์ (Ashley Cooper) อันแสนสลดหดหู่

ตามมาด้วยผลงานของ คริสตีน แลงเอนเบอร์เกอร์ (Kerstin Langenberger) ในปี 2015 ที่ถ่ายภาพหมีผอมตัวหนึ่งกำลังเดินหาอาหาร ตลอดจนสารคดีของ National Geographic ปี 2018 

ภาพเหล่านั้นเป็นเพียงปฐมบทของการเริ่มต้น – หลังจากนี้คงได้เห็นอีกหลายภาพตามมา 

เช่นเดียวกับงานวิจัยหลายๆ ชิ้นที่ถูกผลิตตามออกมา และให้คำตอบอย่างชัดเจนแล้วว่า หมีขั้วโลกกำลังผอมลงจริงๆ พวกมันไม่สามารถรักษาหุ่นอันอวบอั๋นเอาไว้ได้อีกแล้ว

แนวโน้มที่เคยวิเคราะห์ว่าหมีขั้วโลกจะสูญพันธุ์เมื่อถึง ค.ศ. 2100 จึงเริ่มใกล้ความจริงเข้ามาเรื่อยๆ

PHOTO : Ashley Cooper
PHOTO : Kerstin Langenberger

เรื่องราวที่ว่าถูกย้ำชัดอีกครั้งจากผลการศึกษาที่เพิ่งตีพิมพ์ออกมาล่าสุด 

นักวิทยาศาสตร์พบว่า หมีขั้วโลกยังไม่สามารถปรับตัวให้อยู่รอดจากสภาพปัญหาที่ต้องเผชิญ

โดยการศึกษาใหม่ที่ติดตามดูหมีขั้วโลกมาตลอด 3 ปี แสดงให้เห็นแล้วว่าหมีขั้วโลกไม่สามารถหาสารอาหารมาทดแทนในฤดูร้อนที่ยาวนานขึ้นได้ดีสักเท่าไหร่ 

ตามปกตินั้น เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนที่น้ำแข็งละลายหายไปหมด พวกหมีขั้วโลกจะอาศัยอยู่บนบก วันๆ ไม่ทำอะไร เอาแต่นอนและนอนและนอน

หรือหากตัวไหนเริ่มรู้สึกว่าพลังงานเริ่มหดหายมากเกินไป ก็จะเดินเตร็ดเตร่ไปหาพืช ผลเบอร์รี่ ซึ่งแน่นอนว่ามีสารอาหารไม่เพียงพอต่อสัตว์ที่กินจุและหนักเกือบ 600 กิโลกรัม สำหรับตัวผู้ที่โตเต็มวัย

หากแต่ในอดีตที่ผ่านมา การหากินบนบกในช่วงไร้น้ำแข็งนั้นก็เพียงการประทังหิวในช่วงเวลาสั้นๆ ที่กลไกลร่างกายของหมียังพอปรับตัวได้

แต่เมื่อต้องอยู่นานขึ้นนั่นย่อมไม่ใช่เรื่องดี

หรือในบางกรณีหมีอาจพาตัวเองลงน้ำ ลอยละล่องไปหาซากสัตว์กิน เช่น ซากวาฬเบลูกา ชดเชยพลังงานที่เสียไปในการออกเดินแต่ละวัน 

แต่การลอยน้ำเพื่อกินก็ถือเป็นงานที่ยากของหมี และเปลืองพลังงานพอสมควร

อีกทั้งหมีขั้วโลกไม่สามารถที่จะว่ายน้ำแล้วกินไปพร้อมกันได้ 

พวกมันทำได้แค่อย่างใดอย่างหนึ่ง

โดยหมีจะแทะเล็มซากทีละหน่อย และอาศัยซากนั้นเพื่อพยุงตัวพักเอาแรงไว้สำหรับว่ายกลับเข้าฝั่ง

ผลก็คือ พลังงานที่ได้มา ก็เหมือนจะหมดไปเพราะการว่ายกลับอยู่ดี

อันที่จริงหมีขั้วโลกเป็นสัตว์ที่ว่ายน้ำเก่ง แต่ก็คงไม่เหมาะกับช่วงเวลาที่ร่างกายกำลังผ่ายผอมลงในฤดูร้อน

ไม่ว่าจะการหาอาหารบนบกหรือในน้ำ อย่างไหนก็ไม่ใช่ทางรอดของหมี – หมีไม่สามารถได้อาหารได้ดีเท่ากับการเดินทางบนแผ่นน้ำแข็ง อย่างที่เคยทำมาเมื่อในอดีตอย่างปกติสุข

ยิ่งแผ่นน้ำแข็งมาช้าเท่าไหร่ พวกหมีก็ยิ่งเสี่ยงต่อการอดอาหารตายมากขึ้นเท่านั้น

งานวิจัยใหม่นี้ สอดคล้องกับการสังเกตุการณ์ของนักวิทยาศาสตร์อีกกลุ่มก่อนหน้านั้น ที่พบว่าหมีในแคนาดามีความพยายามปรับตัวเริ่มออกล่าไข่นกบนบกมากินเพิ่มมากขึ้น

ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เล่าว่าเกาะ Mitivik Island กลายเป็นภัตราคารแห่งใหม่ของเหล่าหมีในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

หมีหลายตัวมักจะแวะมาเยี่ยมเยียนเกาะแห่งนี้ในช่วงฤดูร้อนและฤดูใบไม้ผลิ

โดยเฉพาะบรรดาหมีหนุ่มที่มักจะหิวอยู่ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม ในมุมของนักวิทยาศาสตร์ พวกเขามองว่าหมีขั้วโลกยังไม่ใช่ ‘สัตว์ผู้ล่า’ ที่หาไข่นกได้เก่งกาจสักเท่าไหร่

หมีต้องอาหาศัยการ ‘มอง’ เพื่อค้นหารังนกบนเกาะ และมีบ่อยครั้งที่พวกมันต้องพบกับความผิดหวัง เพราะรังนั้นว่างเปล่า

ตามปกติ หมีจะใช้ความสามารถในการดมกลิ่น เพื่อค้นหาแมวน้ำหรือตัววอลรัส แต่ดูเหมือนหมียังไม่สามารถใช้ทักษะพิเศษนี้เพื่อค้นหาไข่นกได้

ชะตากรรมของหมีขั้วโลกนับจากนี้ จะเป็นอย่างไร คงขึ้นอยู่กับว่าเราจะแก้ไขปัญหาโลกเดือดได้เร็วแค่ไหน

แต่ทั้งนี้ผลการวิจัยล่าสุดชี้ว่า น้ำแข็งกรีนแลนด์ละลายตัวเฉลี่ยถึง 30 ล้านตันในทุกๆ 1 ชั่วโมง 

สะท้อนให้เห็นว่า วิกฤตการณ์โลกเดือดนับวันจะยิ่งสร้างผลกระทบที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

และหากเป็นเช่นนี้ต่อไป 

หมีขั้วโลกตัวอ้วนกลม คงกลายเป็นแค่ภาพจำอันเลือนลางของโฮโมเซเปี้ยนในโลกอนาคต

อ้างอิง

ผู้เขียน

Website | + posts

โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน