เกือบครึ่งหนึ่งของสัตว์อพยพกำลังเผชิญความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

เกือบครึ่งหนึ่งของสัตว์อพยพกำลังเผชิญความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

ฝูงนกที่บินว่อนเต็มท้องฟ้าระหว่างการอพยพระยะไกลและฝูงสัตว์ที่เดินทางข้ามผืนแผ่นดินอันกว้างใหญ่กำลังลดจำนวนลง เนื่องจากแหล่งพักพิงระหว่างเส้นทางที่ทอดผ่านภูมิภาคต่างๆ กำลังหายไป

เรื่องราวนี้อ้างอิงจากรายงานของ ‘สหประชาชาติ’ ที่ได้สรุปว่า 44 เปอร์เซ็นต์ ของสิ่งมีชีวิตที่อพยพย้ายถิ่นทั่วโลก กำลังลดจำนวนลง โดยหนึ่งในห้าชนิดกำลังเผชิญกับภัยคุกคามจากการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่

ชนิดของสัตว์อพยพที่ลดจำนวนลง อาทิเช่น นก พบว่า 14 เปอร์เซ็นต์ของนกอพยพทั่วโลกอยู่ในข่ายใกล้สูญพันธุ์ โดยเฉพาะนกที่ใช้เส้นทางอพยพแอฟโฟร-พาเลียร์กติก จากเอเชียและยุโรปลงไปทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา

เช่นเดียวกับประชากรปลาที่สูงถึง 97 เปอร์เซ็นต์ โดยมี 58 ชนิด (ที่ได้รับการติดตาม) กำลังตกอยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ อาทิ ปลาสเตอร์เจียน ฉลาม ปลากระเบน

นอกจากนี้ ยังมีสัตว์อีก 399 ชนิด ที่ไม่ได้อยู่ในรายชื่ออนุสัญญาว่าด้วยการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่อพยพย้ายถิ่น (Convention on the Conservation of Migratory Species of Wild Animals: CMS) ในปัจจุบัน ที่เข้าข่ายสัตว์ใกล้สูญพันธุ์หรือมีความเสี่ยงถูกคุกคาม

การลดลงของสัตว์อพยพย้ายถิ่นนั้นเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ประกอบผสมกัน โดยมีสาเหตุใหญ่ๆ อย่างการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ซึ่งสัตว์อพยพย้ายถิ่นจะมีความอ่อนไหวในเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ เนื่องจากสัตว์ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงในสถานที่ใดสถานที่หนึ่งเท่านั้น แต่ยังเคลื่อนที่ไปมา และในหลายๆ กรณียังเคลื่อนที่ไปในระยะทางไกลข้ามทวีป

รายงานของสหประชาชาติ ระบุว่าพื้นที่ที่ได้รับการตรวจสอบ 58 เปอร์เซ็นต์ มีแนวโน้มสูญเสียระบบนิเวศ ซึ่งสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในรายชื่อ CMS จำนวน 3 ใน 4 ส่วนได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ โดยมีองค์ประกอบจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย ความเสื่อมโทรม และการขาดกันของระบบนิเวศ

การสูญเสียที่อยู่อาศัยเกิดขึ้นเมื่อที่ดินถูกเปลี่ยนเป็นเมือง ถูกเปลี่ยนสภาพเพื่อการใช้งานของมนุษย์ หรือเสื่อมโทรมลงเพราะมลพิษ รวมถึงปัญหาระบบนิเวศที่ถูกตัดแบ่งให้แยกออกจากกันเป็นส่วนเล็กๆ โดยมีการทำเกษตรเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกในลักษณะนี้ พร้อมกันนั้นกิจกรรมทางการเกษตรและอุตสาหกรรมยังปล่อยสารเคมีอันตรายสู่ถิ่นที่อยู่อาศัย โดยพบสารพิษหลายชนิดปนเปื้อนในร่างกายของสัตว์อพยพ

และประเด็นที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ อย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็จัดเป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ ที่ส่งผลให้จำนวนสัตว์อพยพลดลง จากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน และรูปแบบของสภาพอากาศ ที่ส่งผลต่อความเหมาะสมของแหล่งเพาะพันธุ์และจุดแวะพักตามเส้นทางอพยพ และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ ไม่สามารถอพยพตามรูปแบบปกติได้อีกต่อไป จนส่งผลให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ ตายลงโดยตรงหรือขยายพันธุ์น้อยลง

ตัวอย่างเช่น ประชากรนกอพยพในแอฟริกา ภูมิภาคซาเฮล จะผันผวนตามรูปแบบของฝน ฤดูหนาวที่มีฝนตกจะส่งผลดีต่อประชากรนกจากแหล่งอาหารมากขึ้น แต่หากประสบกับภัยแล้ง นกจะกลับเข้ามาในพื้นที่น้อยลง

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ทางรถไฟ และเขื่อน ที่เป็นอุปสรรคต่อการย้ายถิ่นฐานของสัตว์ รวมถึงอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาอุตสาหกรรม เช่น การขนส่งทางเรือและเสียงรบกวน

ผลที่ตามมาหลังสัตว์อพยพลดลงนั้น ไม่ได้กระทบเพียงกับสัตว์ชนิดนั้นๆ เพียงด้านเดียว แต่ยังสะเทือนไปถึงประเด็นทางนิเวศวิทยา เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม

เพราะการอพยพของสัตว์ชนิดต่างๆ มีส่วนช่วยรักษาระบบนิเวศไม่ให้เสื่อมโทรมหรือพังทลาย ผ่านการผสมเกสร การแพร่กระจายเมล็ดพืช ซึ่งอาจหมายความถึงเป็นหนึ่งในกลไกของการสร้างแหล่งกักเก็บคาร์บอน ช่วยกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศ บรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

หรือในอีกตัวอย่าง เมื่อสัตว์กินพืชที่อพยพมากินหญ้าและเหยียบย่ำถิ่นที่อยู่อาศัยของทุ่งหญ้าสะวันนา การกระทำดังกล่าวมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพของทุ่งหญ้าด้วย

ขณะที่การอพยพของนก ปลา และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ยังเป็นการถ่ายโอนสารอาหารในระดับขนาดใหญ่ระหว่างสภาพแวดล้อม และสิ่งมีชีวิตหลายชนิดอาจทำหน้าที่เป็นเหยื่อของสัตว์ป่าอื่นๆ ด้วย

การเปลี่ยนแปลงเส้นทางการอพยพเนื่องจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจทำให้สัตว์อพยพเข้าใกล้พื้นที่เกษตรมากขึ้น ส่งผลให้พืชผลเสียหาย เกษตรกรสูญเสียรายได้ทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจทำให้โรคจากสัตว์อพยพกระจายไปสู่ปศุสัตว์หรือมนุษย์ได้มากขึ้น

ยังไม่นับว่า การลดลงของสัตว์อพยพยังทำให้โอกาสที่มนุษย์ได้สัมผัสและเพลิดเพลินกับธรรมชาติเป็นความสุขทางใจที่ยากจะประเมินค่าหายไปอีกเรื่อง

แม้สถานการณ์จะดูไม่สู้ดีนัก แต่ในรายงานระบุว่า ความหวังยังมี การป้องกันสัตว์อพยพจากการสูญพันธุ์ สามารถทำได้โดยใช้นโยบายและมาตรการการอนุรักษ์กำกับลงไปในถิ่นที่อยู่อาศัยต่างๆ และจำเป็นต้องจัดตั้งเครือข่ายพื้นที่คุ้มครองข้ามหลายประเทศ และในบางกรณีอาจต้องเป็นเครือข่ายไกลกันข้ามทวีป

ซึ่งที่ผ่านมามีตัวอย่างงานอนุรักษ์สัตว์อพยพที่ประสบความสำเร็จเกิดขึ้นบ้างแล้ว เช่น ประชากรวาฬหลังค่อม ทางตะวันตก ในแอตแลนติกใต้ จากที่เคยมีสถานะ ‘สิ่งมีชีวิตที่ใกล้การสูญพันธุ์’ ในสถานะการอนุรักษ์ ตามบัญชีแดงของ IUCN ปัจจุบันถูกปรับให้เป็น ‘สิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการสูญพันธุ์’ แทน ผ่านการดำเนินงานด้วยอนุสัญญาว่าด้วยการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่อพยพย้ายถิ่น

หรือเขตอนุรักษ์ทางทะเลกาลาปากอส ใกล้ชายฝั่งของเอกวาดอร์ ในพื้นที่ 133,000 ตารางกิโลเมตร ถือเป็นพื้นที่ทางทะเลที่ได้รับการคุ้มครองที่ใหญ่ที่สุด และมีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง

พร้อมๆ กับการอนุรักษ์ เรายังสามารถดำเนินการควบคู่กับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมได้ โดยการรบกวนพื้นที่น้อยลง เพื่อรับประกันความหลากหลายทางชีวภาพให้กับสัตว์และมอบประโยชน์กลับสู่มนุษย์

อ้างอิง

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม