นิยามของคำว่า Ecocide หมายถึง “การกระทําที่ผิดกฎหมายหรือประพฤติมิชอบโดยรู้ว่ามีความเป็นไปได้อย่างมากที่จะเกิดความเสียหายร้ายแรงและแพร่หลายหรือในระยะยาวต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการกระทําเหล่านั้น” หรือหากแปลแบบตรงตัว ก็คือ ‘การฆ่าล้างสิ่งแวดล้อม’ คำนี้ถูกเข้าใจอย่างกว้างขวางว่าเป็นความเสียหายต่อธรรมชาติในระดับล้างผลาญ เป็นต้นเหตุของวิกฤตสภาพอากาศและภาวะฉุกเฉินทางนิเวศวิทยาที่เราเผชิญอยู่ขณะนี้
แนวคิดเรื่อง Ecocide ถูกเสนอขึ้นครั้งแรกปี ค.ศ. 1970 ในช่วงสงครามเวียดนาม โดยนักชีววิทยา Arthur W Galston ที่ได้ประท้วงต่อต้านการใช้สารเคมีกําจัดวัชพืช และสารทำให้ใบไม้ร่วง (Defoliant) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘ฝนเหลือง’ (Agent Orange) โดยกองทัพสหรัฐฯในเวียดนาม เพื่อเปิดเผยตำแหน่งและทำลายพืชผลทางการเกษตรของศัตรู
ซึ่งที่ผ่านมา โลกเคยเผชิญกับภัยคุกคามทางธรรมชาติระดับ Ecocide อยู่หลายครั้ง โดยหนที่รุนแรงและถูกจดจำมากที่สุด คือ ‘หายนะทะเลอารัล’ (The Aral Sea disaster) ในช่วงทศวรรษ 1960 ที่สหภาพโซเวียตได้ริเริ่มโครงการชลประทานโดยเปลี่ยนแปลงการไหลของแม่น้ำ อามุ ดาเรีย (Amu Darya) และ เซียร์ ดาเรีย (Syr Darya) ที่เคยไหลสู่ทะเลอารัล เพื่อการปลูกฝ้าย
ปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่ทะเลกับน้ำที่ระเหยไปเกือบจะเท่ากัน แต่เมื่อมีการขุดคลองชลประทานแบ่งน้ำบางส่วนจากแม่น้ำไปใช้ในการเกษตร ทำให้น้ำที่ไหลลงทะเลอารัล น้อยกว่าน้ำที่ระเหยไป สมดุลที่มีมายาวนานจึงเสียไป จนทำให้ปริมาณน้ำลดลงอย่างมากจนไม่สามารถทำการประมงได้ในช่วงทศวรรษ 2000 เนื่องจากพื้นที่ทะเลสาบกลายเป็นทะเลทรายแห้งแล้ง ดินเค็มจนปลูกพืชไม่ได้ เกิดพายุอยู่บ่อยครั้ง ลมพัดพาเอาทราย เกลือ และสารพิษมาสู่ชุมชน ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ ตามมา
ภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมครั้งนั้นเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่านโยบายทางการเกษตรขนาดใหญ่และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่เหมาะสมอาจนำไปสู่วิกฤตทางนิเวศวิทยาและความอยู่รอดของมวลมนุษย์ได้ ทั้งนี้ยังมีเหตุการณ์ที่ร้ายแรงอย่างอื่นที่เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมแบบล้างผลาญ
ทั้งนี้ ด้วยพลวัตทางสังคมระดับนานาชาติในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้ผลักดันกระบวนการให้ผู้กระทำและการก่อการทำลาย สิ่งแวดล้อมในทุกรูปแบบบรรจุเป็นความผิดทางอาญา โดยสามารถถูกพิจารณาว่าเป็น ‘อาชญากรรมระหว่างประเทศ’ ที่สมควรมีการพิพากษาในศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court – ICC)
อย่างไรก็ดี ระบอบกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นมีความกระจัดกระจาย ไม่ชัดเจน และมีปฏิกิริยาตอบสนอง เนื่องจากการขาดกรอบกฎหมายหรือสถาบันที่ครอบคลุมเพียงกรอบเดียว อีกทั้งยังมีภาระผูกพันโดยสมัครใจและไม่ผูกมัดเป็นส่วนใหญ่ กฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศจึงไม่สามารถใช้เพื่อดําเนินคดี Ecocide ได้กับปัจเจกและรัฐได้
แม้ว่าสนธิสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างน้อยสองฉบับ อย่าง อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศในสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) และอนุสัญญาบาเซิลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายข้ามพรมแดนและการกําจัด (Basel Convention) ได้กําหนดให้รัฐสร้างกฎหมายอาญาภายในประเทศในหัวข้อเฉพาะ ซึ่งเป็นไปในแต่ละกรณีและมีขอบเขตที่จํากัดสามารถบังคับใช้ภายในเขตแดนของรัฐเท่านั้น ไม่มีการขยายไปถึง Ecocide โดยทั่วไป ทั้งนี้ การขาดกฎหมายระดับชาติควบคู่ไปกับการขาดการประสานกันของเกณฑ์ในการระบุอาชญากรรม Ecocide นี่เป็นยังคงเป็นสิ่งที่ต้องหารือกันต่อไปเพื่อเกิดความร่วมมืออย่างจริงจังมากขึ้น
ในปัจจุบัน สหภาพยุโรปได้กลายเป็นองค์กรระหว่างประเทศแห่งแรกที่อนุมัติคำสั่งสำคัญฉบับล่าสุดที่มุ่งหมายให้คดีร้ายแรงที่สุดที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งคล้ายกับ ‘การฆ่าล้างระบบนิเวศ’ เป็นอาชญากรรม กฎหมายนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่กว้างขึ้นเพื่อจัดการกับอาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเพิ่มขึ้นเร็วกว่าเศรษฐกิจโลกและกลายเป็นภาคอาชญากรรมที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลก
กฎหมายดังกล่าวได้ถูกรับการรับรองเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2024 และได้ผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2024 มีขอบเขตที่ครอบคลุมถึงความผิดด้านสิ่งแวดล้อมมากมายที่เกิดขึ้นเช่น การค้าไม้ผิดกฎหมาย การทำลายทรัพยากรน้ำ การละเมิดกฎหมายสารเคมีของสหภาพยุโรปอย่างร้ายแรง และมลพิษที่เกิดจากเรือ โดยอาชญากรรมร้ายแรงส่วนใหญ่จะถูกจัดประเภทเป็น ‘ความผิดทางอาญาที่มีคุณสมบัติเหมาะสม’ (Qualified criminal offence) ซึ่งอาจนำไปสู่การลงโทษที่เข้มงวดยิ่งขึ้น รวมถึงโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี หากส่งผลให้เสียชีวิตหรือทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ
ถึงอย่างไรก็ตาม การเดินหน้าให้ Ecocide เป็นอาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศนั้นยังคงมีต่อไป ทั้งนักเคลื่อนไหวรณรงค์แคมเปญ นักกฎหมาย และประเทศหมู่เกาะข้างต้น และรัฐบาลหรือพรรคการเมืองของประเทศที่ให้ความสำคัญ จะต้องช่วยกัน ‘นิยามขอบเขต’ ความท้าทายในเชิงกฎหมายให้ชัดเจน เพื่อผ่านกระบวนการโหวตให้เป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ไปจนถึงขั้นการให้สัตยาบัน
ในขณะที่การผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างจริงจังไปในประเทศต่างๆ ที่พิจารณาถึงมาตรการเหล่านี้ยังดำเนินต่อไป เราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นพลเมืองโลก ผู้กำหนดนโยบาย และองค์กรระหว่างประเทศ จะต้องรวมตัวกันและสนับสนุนกรอบการทำงานที่แข็งแกร่งเพื่อจัดการและป้องกันการทำลายล้างระบบนิเวศอย่างมีประสิทธิผล การเสริมสร้างกฎหมายระหว่างประเทศให้มีความภาระผูกพันมากขึ้น และการส่งเสริมความมุ่งมั่นทางจริยธรรมต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ข้ามพรมแดน
อ้างอิง
- IUCN WCEL Advances Proposal to Incorporate Environmental Destruction as a Crime Against Humanity in Forthcoming Negotiations on a Dedicated Convention
- Ecocide อาชญากรรมฆ่าล้างสิ่งแวดล้อมกับการผลักดันให้มีความผิดทางอาญาระดับโลก
- What is ecocide
- The Invention of Ecocide
- ‘Revolutionary’: EU Parliament votes to criminalise most serious cases of ecosystem destruction
- ELI Report on Ecocide
- EU Parliament votes to criminalise environment crimes comparable to “ecocide”
- บทเรียนแสนเศร้าจากทะเลอารัล
ผู้เขียน
ชายหนุ่มผู้หลงไหลในกาแฟไม่ใส่น้ำตาล รักการเดินทางไปกับสินค้าของแบรนด์ Patagonia