ยุคสมัยที่สูญหายของ ‘โมโนทรีม’ ได้ถูกศึกษาอีกครั้ง ผ่านฟอสซิลบรรพบุรุษโบราณของตุ่นปากเป็ดและตัวกินมดหนาม

ยุคสมัยที่สูญหายของ ‘โมโนทรีม’ ได้ถูกศึกษาอีกครั้ง ผ่านฟอสซิลบรรพบุรุษโบราณของตุ่นปากเป็ดและตัวกินมดหนาม

นักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลีย ได้ค้นพบชิ้นส่วนฟอสซิลของกระดูกขากรรไกรของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘Echidnapus’ ควบคู่ไปกับหลักฐานของ ‘โมโนทรีม’ (Monotreme) โบราณที่สูญพันธุ์ไปแล้วอีกหลายชนิด

การค้นพบครั้งสำคัญนี้เกิดขึ้นบริเวณเหมืองโอปอล (lightning ridge opal field) ในเมืองชนบทเล็กๆ ชื่อ Lightning Ridge ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวในสมัยดึกดำบรรพ์เคยเป็นป่าชื้นที่มีอากาศเย็น และตั้งอยู่ติดกับ ‘ทะเลใน’ หรือส่วนของท้องทะเลที่ยื่นล้ำเข้ามาในแผ่นดินใหญ่

นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า น่าจะมีสัตว์จำพวกนี้อยู่ที่เหมืองโอปอล มากกว่าที่ใดในโลก ไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน

โมโนทรีม มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก mono (หนึ่ง) + trema (รู) เนื่องจากสัตว์ในอันดับนี้มีช่องขับถ่ายและช่องสืบพันธุ์เป็นช่องเดียวกัน เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพียงอันดับเดียวที่ออกลูกเป็นไข่ และไข่เริ่มมีการแบ่งเซลล์ขณะที่อยู่ในมดลูก มดลูกมีต่อมสร้างอาหารส่งผ่านเข้าไปยังเปลือกไข่ ทำให้ตัวอ่อนที่อยู่ในไข่รับอาหารจากมดลูกได้ ซึ่งถือเป็นวิวัฒนาการของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในการเลี้ยงดูตัวอ่อนโดยอาหารผ่านทางมดลูก 

จากนั้นหลังวางไข่แล้วตัวอ่อนจะเจริญต่อไปโดยอาศัยนมจากแม่ แทนที่จะออกลูกเป็นตัวเหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ รวมถึงยังมีลักษณะร่วมกับสัตว์เลื้อยคลานบางอย่าง เช่น การวางไข่ ในขณะที่มีลักษณะเฉพาะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างการมีขนและสามารถให้น้ำนมได้

ในปัจจุบัน โมโนทรีมเหลืออยู่เพียงแค่สองชนิด ได้แก่ ตุ่นปากเป็ด (Platypus) และอีคิดนา (Echidna) หรือ ตัวกินมดหนาม (Spiky Anteater) จากการศึกษาทางพันธุกรรม ชนิดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจากโมโนทรีมที่ออกลูกเป็นไข่ อาจมีความแตกต่างจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ออกลูกเป็นตัว นับย้อนกลับไปประมาณ 187 ล้านปีก่อน เมื่อทวีป ออสเตรเลีย ตั้งอยู่ใกล้กับขั้วโลกใต้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาทวีปกอนด์วานา 

อีคิดนาพุส หมายเลข 1

สัตว์ดึกดำบรรพ์ที่เป็นบรรพบุรุษของอีคิดนาด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Opalios splendens แต่ด้วยเหตุที่มันมีลักษณะคล้ายกับอีคิดนาและตุ่นปากเป็ด จึงได้ชื่อสามัญว่า ‘อีคิดนาพุส’ (Echidna + pus) โดยทั้งอีคิดนาและตุ่นปากเป็ดนั้น ถือเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพียงสองชนิดในโลกปัจจุบันที่ออกลูกเป็นไข่

ผลการศึกษาครั้งนี้กลับชี้ชัดว่า ฟอสซิลชุดดังกล่าวเป็นซากโมโนทรีมโบราณกว่า  6 ชนิดด้วยกัน ซึ่งมีถึงสามชนิดที่เป็นสกุลใหม่ ประกอบด้วย 

1. Opalios splendens : อาจเป็นสัตว์น้ำ ที่สามารถกินอาหารอ่อนนุ่ม และมีขนาดประมาณตุ่นปากเป็ดสมัยใหม่ (หนึ่งในสามสกุลใหม่) 

2. Stirtodon elizabethae : เป็นโมโนทรีมขนาดใหญ่ ในปัจจุบันพบแค่ฟอสซิลฟันกรามเพียงชิ้นเดียว ซึ่งสามารถบดขยี้ขนาดใหญ่ ถูกสันนิษฐานว่าอาจมีขนาดเท่ากับหมูตัวเล็ก 

3. Kollikodon ritchiei :  มีฟันลักษณะคล้ายนากทะเลที่เหมาะสําหรับการกินเหยื่อที่มีเปลือกแข็ง เช่น หอย  

4. Steropodon galmani : ขากรรไกรของมันดูเหมือน คอมมอนบรัชเทลพอสซัม (Common brushtail possum) และมีขนาดใกล้เคียงกัน 

5. Parvopalus clytiei : มีขนาดเล็กที่สุดในสายพันธุ์นี้ (หนึ่งในสามสกุลใหม่) 

6. Dharragarra aurora : มีขนาดตัวสองในสามของตุ่นปากเป็ดและมีลักษณะทางกายภาพคล้ายตุ่นปากเป็ด (หนึ่งในสามสกุลใหม่) 

“โดยทั่วไปแล้ว โครงสร้างร่างกายของ อีคิดนาพุส นั้นคล้ายกับตุ่นปากเป็ดมาก เพียงแต่รูปทรงขากรรไกร รวมทั้งส่วนจมูกและปากที่ยื่นยาวออกมานั้น ดูคล้ายกับอีคิดนามากกว่า” ศ.คริส เฮลเกน (Professor Kris Helgen) กล่าว 

การค้นพบนี้ได้สนับสนุนทฤษฎี การแผ่รังสีโมโนทรีม (Monotreme radiation) ซึ่งหมายถึงการกระจายตัวทางวิวัฒนาการของชนิดพันธุ์โมโนทรีมออกจากบรรพบุรุษตัวเดียวกันในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไป นำไปสู่การมีลักษณะเฉพาะ

ผลของการศึกษานี้ทำให้เราได้เข้าใจวิวัฒนาการของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของความหลากหลายทางชีวภาพในการปรับตัวให้สอดคล้องกับถิ่นที่อยู่ 

“มันเผยให้โลกรู้ว่า นานแสนนานก่อนที่ออสเตรเลียจะกลายเป็นดินแดนแห่งสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้อง สถานที่แห่งนี้เคยเป็นทวีปของสัตว์ขนปุยที่ออกลูกเป็นไข่อย่างโมโนทรีมมาก่อน” ดร. เอลิซาเบธ สมิธ  (Dr.Elizabeth Smith) กล่าว

แต่การค้นพบครั้งนี้ยังมีนักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มมองว่าหลักฐานที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการเกิดขึ้นของ ยุคสมัยโมโนทรีม (Age of Monotreme) ในทวีปออสเตรเลีย

การค้นพบล่าสุดประกอบกับแหล่งอ้างอิงจากข้อมูลของวารสารวิชาการ Alcheringa: An Australasian Journal of Palaeontology ฉบับล่าสุด ชี้ให้เห็นว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ท่องไปในภูมิประเทศยุคก่อนประวัติศาสตร์ของออสเตรเลียเมื่อประมาณ 100 ล้านปีก่อนในช่วง ยุคครีเทเชียส (Cretaceous) และนำไปสู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับเส้นทางวิวัฒนาการและบทบาททางนิเวศวิทยาของสายพันธุ์โมโนทรีม ว่ามีแหล่งอาศัยและมีปฏิสัมพันธ์อย่างไรภายในสภาพแวดล้อมของพวกมัน 

ซึ่งนำไปสู่ความสนใจใหม่ในการสำรวจเพิ่มเติมที่อาจให้ข้อมูลเชิงลึกมากขึ้นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของสัตว์ป่าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในทวีปออสเตรเลีย โดยเฉพาะยุคสมัยของของสายพันธุ์โมโนทรีม

อ้างอิง 

ผู้เขียน

+ posts

ชายหนุ่มผู้หลงไหลในกาแฟไม่ใส่น้ำตาล รักการเดินทางไปกับสินค้าของแบรนด์ Patagonia