ค้นพบ ‘ป่าฟอสซิล’ ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก อายุกว่า 390 ล้านปีที่ประเทศอังกฤษ 

ค้นพบ ‘ป่าฟอสซิล’ ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก อายุกว่า 390 ล้านปีที่ประเทศอังกฤษ 

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) และคาร์ดิฟฟ์ (Cardiff University) ได้ค้นพบเศษซากของ ‘ป่าฟอสซิล’ ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มีอายุย้อนกลับไปกว่า 390 ล้านปี การค้นพบนี้นับเป็นการค้นพบป่าฟอสซิลที่เก่ากว่าที่เคยพบมาก่อนหน้าอย่าง ‘ป่าฟอสซิลกิลโบ’ (Gilboa Fossil Forest) ในนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2019 ซึ่งมีอายุมากกว่าถึงสี่ล้านปี 

การค้นพบฟอสซิลในหน้าผาหินทรายสูงตระหง่าน ตามแนวชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ ได้สร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้คนในท้องที่ เพราะถือเป็นการค้นพบร่องรอบของฟอสซิลพืชเป็นครั้งแรกในบริเวณนี้ และยังเปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับระยะเริ่มต้นของระบบนิเวศบนบก รวมถึงวิวัฒนาการของพืชในยุคแรกเริ่มบนโลกของเรา 

สำหรับป่าฟอสซิลที่ถูกค้นพบล่าสุดตั้งอยู่บนที่ราบกึ่งแห้งแล้ง (Semi-arid plain) มีแม่น้ำสายเล็กๆ ไหลผ่านภูเขาไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ ในขณะนั้น ภูมิภาคนี้ไม่ได้เชื่อมต่อกับส่วนที่เหลือของอังกฤษ แต่กลับเป็นส่วนหนึ่งของผืนแผ่นดินที่ต่อมาจะกลายเป็นประเทศเยอรมนีและเบลเยียมซึ่งพบฟอสซิลป่าไม้ที่คล้ายคลึงกัน 

โครงสร้างของป่าโบราณจะเรียบง่ายกว่าป่าสมัยใหม่มาก โดยข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือจะไม่พบการเจริญเติบโตของหญ้าและพุ่มไม้ เนื่องจากยังไม่มีการวิวัฒนาการในขณะนั้น แต่พื้นป่าจะถูกปกคลุมไปด้วยกิ่งก้านที่ร่วงหล่นจากต้นไม้  

ป่าโบราณพี่พบเจริญเติบโตภายใต้สภาพภูมิอากาศที่แตกต่างจากป่าสมัยใหม่ พื้นที่ส่วนมากถูกปกคลุมไปด้วยต้น Calamophyton ซึ่งทีมนักวิจัยเชื่อว่าเป็นต้นแบบของต้นไม้ในปัจจุบัน มีลักษณะคล้ายเฟิร์น พืชจะมีใบที่แผ่ออกคล้ายมงกุฎหรือร่มกันแดดออกมาจากด้านบนของลําต้นที่ยาวและแคบ ในทางกลับกัน กิ่งก้านถูกปกคลุมไปด้วยโครงสร้างคล้ายกิ่งไม้นับร้อยซึ่งบ่งบอกถึงรูปแบบอื่นของการสังเคราะห์ด้วยแสง  

โดยทั่วไป ลักษณะของต้นไม้ที่พบจะสูงประมาณ 2-4 เมตร และแตกกิ่งก้านตอนล่างเมื่อโตเต็มที่ ทำให้เกิดชั้นเศษซากหนาแน่นบนพื้นป่า เศษซากนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเป็นอาหารแก่สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในยุคแรกๆ 

ทางด้านระบบรากของต้นไม้จะช่วยป้องกันการกัดเซาะ ส่งผลต่อการพัฒนาพลวัตของแม่น้ำและแนวชายฝั่งในช่วงยุคดีโวเนียน (Devonian) ซึ่งเป็นช่วงที่สรรพชีวิตเริ่มขึ้นมาอาศัยบนพื้นดิน 

เมื่อพืชเริ่มแพร่กระจายบนบก จะมีการพัฒนาโครงสร้างเพื่อปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ โดยสร้างเนื้อเยื่อที่แข็งแรงขึ้นเพื่อนําน้ำและสารอาหารขึ้นไปบนลําต้นที่สูงขึ้น 

ในยุคปัจจุบัน ชีวมวลทั้งหมดของโลกเท่ากับคาร์บอนประมาณ 550 จิกะตัน (gigatons) ซึ่งมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ประกอบด้วยพืช วิวัฒนาการของต้นไม้และป่าไม้โดยพื้นฐานแล้วเปลี่ยนโฉมหน้าโลกไปตลอดกาล และมีส่วนช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพโดยเป็นแหล่งอาศัยที่แตกต่างกันสำหรับพืชและสัตว์หลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งเอื้อต่อการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนมากขึ้น  

นอกจากนี้ ยังช่วยควบคุมวงจรอุทกวิทยา (Hydrology) โดยมีอิทธิพลต่อการตกตะกอนและการเติมน้ำใต้ดินผ่านการคายน้ำ ระบบรากที่กว้างขวางยังช่วยรักษาเสถียรภาพและสร้างดิน ลดการกัดเซาะและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ด้วยอินทรียวัตถุ  

การค้นพบล่าสุดนี้ได้สร้างความกระจ่างเกี่ยวกับบทบาทของระบบนิเวศแต่เก่าก่อนและรับรู้ถึงรายละเอียดเปลี่ยนแปลงกระบวนการทางธรณีวิทยาอีกทั้ง การวิจัยยังได้เน้นย้ำถึงผลกระทบที่สำคัญของวิวัฒนาการของป่าไม้บนโลก การเปลี่ยนแปลงปฏิสัมพันธ์ระหว่างน้ำและพื้นดินโดยพื้นฐาน ที่ได้วางรากฐานสำหรับระบบนิเวศบนบกที่หลากหลายที่ตามมา 

การศึกษาในครั้งนี้ได้ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Journal of the Geological Society ที่นำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญเกี่ยวกับระบบนิเวศของป่าในยุคแรกๆ ของโลกและความสำคัญทางวิวัฒนาการของป่าเหล่านี้ โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการตรวจสอบแหล่งทางธรณีวิทยาซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งแหล่งที่ได้รับการศึกษาอย่างถี่ถ้วน เนื่องจากพื้นที่เหล่านั้นอาจยังมีเบาะแสที่สำคัญเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในโลกยุคโบราณ 

อ้างอิง 

ผู้เขียน

+ posts

ชายหนุ่มผู้หลงไหลในกาแฟไม่ใส่น้ำตาล รักการเดินทางไปกับสินค้าของแบรนด์ Patagonia