ระบบกรองน้ำสำหรับห้องน้ำแบบชักโครกของเมืองแห่งหนึ่งในโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ ล้อมรอบขอบชิดด้วยรั้วเหล็กและลวดหนาม เพราะเมื่อปีที่ผ่านมามีโจรพยายามบุกเข้าไปขโมยอุปกรณ์สำคัญก่อนที่ชุมชนจะร่วมกันขับไล่ออกไป นี่คือห้องน้ำเพียงสี่ห้องสำหรับประชากร 340 คนในละแวกใกล้เคียง แต่พื้นที่เล็กๆ นี้สร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมหาศาล เพราะช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อเพราะขาดสุขอนามัย
ไม่มีใครชอบใช้ส้วมเคมี ตัวเลือกยอดนิยมก่อนมีส้วมชักโครก ปัญหาของส้วมเคมีคือการทำความสะอาดสองครั้งต่อสัปดาห์และมักจะล้นอยู่เสมอ แต่ส้วมใหม่ไม่จำเป็นต้องต่อกับระบบระบายน้ำเพราะใช้น้ำหมุนเวียนแบบระบบปิด
หลังจากกดชักโครก ของเสียจะถูกเก็บรวบรวมอยู่ในถัง ก่อนที่น้ำจะซึมผ่านตัวกรองหลายต่อหลายชั้นเพื่อแยกกากออกจากของเหลวและขจัดแบคทีเรียโดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี ขั้นตอนสุดท้ายคือการฉีดโอโซนเข้าไปในน้ำซึ่งจะช่วยขจัดสิ่งปนเปื้อนที่ยังหลงเหลืออยู่ น้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ไม่มีจำกัด ส่วนพลังงานที่ใช้ก็มาจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งกับประเทศที่ไฟฟ้าดับเป็นเรื่องปกติ
บริษัทที่ดูแลการติดตั้งห้องน้ำดังกล่าวชื่อว่า Enviro Options ตั้งอยู่ชานเมืองโจฮันเนสเบิร์กโดยความร่วมมือกับคณะกรรมการวิจัยน้ำแห่งแอฟริกาใต้ Enviro เริ่มวิจัยทางแก้ปัญหาเรื่องห้องน้ำเป็นเวลายาวนานกว่าทศวรรษ และเริ่มติดตั้งห้องน้ำระบบปิดหลายแห่งทั่วแอฟริกาใต้ซึ่งสามารถช่วยประหยัดน้ำดื่มได้ราว 180,000 ลิตรต่อแห่ง
หนึ่งในโครงการเช่นที่โซเวโตได้รับการผลักดันอย่างมากโดยรัฐบาลเพื่อยกระดับสุขอนามัยของชุมชน พวกเขายังได้ทำการทดลองเทคโนโลยีที่จะช่วยขจัดปัญหาเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการระบายน้ำที่ราคาแพงและซับซ้อนซึ่งนับเป็นอุปสรรคสำคัญในประเทศที่เผชิญภัยแล้งบ่อยครั้ง และมีแนวโน้มที่อากาศจะร้อนขึ้น
การแสวงหาทางออกเรื่องระบบระบายน้ำของแอฟริกาใต้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ย้อนกลับไปสมัยประธานาธิบดีเนลสัน แมนเดลาเมื่อราวสามทศวรรษก่อน ประชากร 14 ล้านคนอยู่โดยไม่สามารถเข้าถึงน้ำประปา และอีก 21 ล้านคนหรือคิดเป็นครึ่งหนึ่งของประชากรไม่มีวิธีการกำจัดสิ่งปฏิกูลที่ถูกหลักอนามัย รัฐบาลลงทุนหลายล้านดอลลาร์เพื่อน้ำสะอาดและระบบสุขอนามัย ทำงานร่วมกับองค์กรไม่แสวงหากำไรและโครงการช่วยเหลือจากต่างชาติ ในปี พ.ศ. 2543 ประชากรแอฟริกาที่เข้าถึงระบบสุขอนามัยพื้นฐานได้เพิ่มขึ้นเป็น 59 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อปี พ.ศ. 2563 ตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็น 78 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกยังมีประชาชนอีกนับ 3.6 พันล้านชีวิตที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบสุขอนามัยพื้นฐาน การขาดแคลนน้ำและการรักษาความสะอาดคือสาเหตุของการเสียชีวิตของประชากรกว่า 829,000 คนทุกปีในประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง เมื่อผนวกรวมกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลลัพธ์ที่ได้คือวงจรอุบาทว์ที่โบยตีประชากรกลุ่มที่เปราะบางอยู่เป็นทุนเดิม เช่นในมาลาวี พายุและภัยแล้งส่งผลให้ระบบสุขภาพล่มสลายท่ามกลางการระบาดของอหิวาตกโรคส่งผลให้มีคนเสียชีวิตนับพันราย
ในพื้นที่ห่างไกล พวกเขาไม่มีทางเลือกมากนัก ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาจำต้องใช้ส้วมเคมีซึ่งเป็นที่นิยมในพื้นที่ก่อสร้าง แต่ทางเลือกดังกล่าวเหมาะกับการใช้ชั่วคราวและมักจะรั่วไหลไปปนเปื้อนแหล่งน้ำใกล้ๆ โดยเฉพาะถ้าไม่มีการบำรุงรักษาที่ดี แต่ส้วมดังกล่าวก็ใช่ว่าจะหาได้ง่าย หลายแห่งก็ต้องขับถ่ายในที่โล่ง
การพัฒนาระบบสาธารณสุขโดยอิงต้นแบบจากประเทศพัฒนาแล้วก็ไม่สามารถใช้ได้ ส้วมชักโครกทั่วไปจะใช้น้ำ 4 ถึง 11 ลิตรต่อการชักหนึ่งครึ่ง สร้างน้ำเสียที่ไหลลงสู่ใต้ดินเข้าระบบท่อระบายน้ำที่ราคาแพงและสลับซับซ้อนก่อนจะไปถึงศูนย์บำบัดน้ำที่ใช้ทั้งสารเคมีและพลังงานมหาศาลในการเปลี่ยนน้ำให้สะอาดก่อนจะปล่อยกลับสู่แหล่งน้ำ ทางเลือกดังกล่าวแทบเป็นไปไม่ได้ในประเทศที่ขาดแคลนทั้งเงินทุนและน้ำอย่างแถบแอฟริกา
บริษัท Enviro มุ่งมั่นกับการสร้างระบบสาธารณสุขแบบไม่ต้องใช้น้ำตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2005 เป็นเวลาหลายปีที่บริษัทเลือกใช้เทคโนโลยีที่แตกต่าง ระบบดังกล่าวซึ่งติดตั้งในหลายร้อยชุมชนและอาคารสาธารณะหลายแห่งทั่วแอฟริกาใต้ทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบตามแผน เพราะไม่จำเป็นต้องใช้น้ำ ระบบระบายน้ำ สารเคมีอันตราย และยังมีอายุการใช้งานยาวนานถึง 50
ถอดความและเรียบเรียงจาก This Toilet Works Off the Grid
ผู้เขียน
บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก