เราควรรู้สึกยินดีหรือไม่? ที่แพขยะใหญ่แปซิฟิก ได้กลายเป็นระบบนิเวศใหม่ของสิ่งมีชีวิตไปแล้ว  

เราควรรู้สึกยินดีหรือไม่? ที่แพขยะใหญ่แปซิฟิก ได้กลายเป็นระบบนิเวศใหม่ของสิ่งมีชีวิตไปแล้ว  

ผืนน้ำอันกว้างใหญ่ที่เรียกว่ามหาสมุทรกินพื้นที่ไปแล้ว 3 ใน 4 ของโลก มันเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศที่หลากหลาย และยังมีสิ่งมีชีวิตมากมายที่รอการค้นพบอยู่ข้างใต้มหาสมุทร  

ปัจจุบันมหาสมุทรได้เปลี่ยนไปแล้ว หลายประเทศทั่วโลกเลือกใช้ผืนน้ำแห่งนี้เป็นบ่อขยะสำหรับทิ้งขยะ ขยะปริมาณมหาศาลล่องลอยอยู่ในเกือบทุกมหาสมุทร จนแทบจะกลายเป็นประเทศใหม่ไปแล้ว  

แพขยะในมหาสมุทร แปซิฟิก (Great Pacific Garbage Patch) หรือแพขยะตะวันออก (Eastern Garbage Patch) คือ หนึ่งในห้า แพขยะมหาสมุทรที่ใหญ่ที่สุดในโลก แพขยะดังกล่าวเกิดจากการรวมตัวของขยะหลายประเภท ทั้ง เศษขยะพลาสติก อวนเก่า ไมโครพลาสติก และขยะอื่น ๆ ด้วยกระแสลมและกระแสน้ำได้พัดพาขยะพลาสติกเข้าสู่วงวนกลางมหาสมุทร  (Pacific Trash Vortex) แปซิฟิก โดยมันมีขนาดใหญ่ถึง 1.6 ล้านตารางกิโลเมตร หรือราว ๆ 3 เท่าของประเทศฝรั่งเศสเลยทีเดียว   

จากการสำรวจพบว่า 80% เป็นขยะจากบนบกจากทั้งฝั่งทวีปอเมริกาเหนือ จะใช้เวลาพัดมาประมาณ 5 ปี และทวีปเอเชีย ใช้เวลาพัดมา 1 ปี ส่วนอีก 20% ที่เหลือมาจากเรือที่แล่นในมหาสมุทร  

ใจกลางของแพขยะมีความหนาแน่นของขยะมากถึง 100,000 ตัน โดยแพขยะแปซิฟิกนั้นมีเศษพลาสติกราว ๆ ประมาณ 80,000 ตัน หรือราว ๆ 1.8 ล้านล้านชิ้นลอยอยู่นั่นเอง ซึ่งขยะพลาสติกที่ลอยอยู่ท่ามกลางมหาสมุทรนี้จะย่อยกลายเป็นไมโครพลาสติกอย่างช้า ๆ ทั้งนี้ไมโครพลาสติกที่ย่อยแล้วจะมีขนาดเล็กมากกว่า 5 มิลลิเมตร ส่วนขยะประเภทอื่นนั้นจะค่อย ๆ จมลงสู่ก้นทะเลไปในที่สุด  

จากแพขยะสู่ระบบนิเวศแห่งใหม่ของโลก   

แพขยะเหล่านี้กำลังสะท้อนให้เห็นถึงความมักง่ายและเห็นแก่ตัวของมนุษย์ มนุษย์ผลิตขยะเหล่านี่ขึ้นมา เพื่อความสะดวกสบายของตนเอง เมื่อใช้ประโยชน์ของมันได้เต็มที่แล้ว ก็โยนมันทิ้งอย่างไม่ไยดี โดยที่ไม่แม้แต่จะคิดวิธีมาจัดการพวกมันอย่างเหมาะสม ท้ายที่สุดขยะเหล่านี้ก็ไหลเข้าสู่วงวนขยะและกลายเป็นภัยคุกคามระบบนิเวศทางทะเลและสิ่งมีชีวิตอีกมากมายในมหาสมุทร  

นักวิจัยได้รายงานในวารสาร Nature Communications ว่ามีสิ่งมีชีวิตกว่า 40 ชนิดกำลังขยายพันธุ์ในแพขยะดังกล่าว เช่น ดอกไม้ทะเล ไฮดรอยด์ แอมฟิพอด ฯลฯ ซึ่งในอดีตสัตว์เหล่านี้มักจะอาศัยตามขอนไม้หรือพืชใต้ทะเล แต่ตอนนี้พวกมันได้เริ่มใช้ขยะพลาสติกเหล่านี้แทนแล้ว 

แต่สิ่งที่ทำให้นักวิจัยประหลาดใจคือ การค้นพบสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ชายฝั่งทะเลอาศัยอยู่ และสามารถอยู่รอดได้ เพราะพวกเขาคิดว่าถ้าพื้นที่นี้ไม่ได้มีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์มากพอก็จะไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ตรงนี้ได้ เกรก รูอิส (Greg Ruiz) นักนิเวศวิทยาทางทะเลจากศูนย์วิจัยสิ่งแวดล้อมของ Smithsonian ตั้งคำถามต่อการค้นพบนี้ว่า “สัตว์ทะเลชายฝั่งเหล่านั้นสามารถเอาตัวรอดได้อย่างไรบนขยะพลาสติกกลางมหาสมุทร?”  

นอกจากนี้ รีเบคกา เฮลม์ (Rebecca Helm) จากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ได้ศึกษาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนแพขยะแปซิฟิกอย่างจริงจัง จนได้พบกับระบบนิเวศและความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ บนแพขยะ เธอยังค้นพบสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า มังกรทะเลสีน้ำเงิน (Blue Sea Dragon) ด้วย มันถูกจัดอยู่ในสัตว์ประเภททาก ที่สามารถกินแมงกะพรุน แล้วเอาพิษมาทำเป็นเกราะป้องกันของตัวเองจากการโจมตีของเหยื่อรายถัดไปได้ด้วย  

สิ่งที่รีเบคกากังวลคือ ระบบนิเวศนี้เป็นระบบนิเวศจากฝีมือของมนุษย์ อีกทั้งมันยังมาจากปัญหาขยะของมนุษย์ด้วย ถึงแม้ว่าในตอนนี้มันจะยังกินพลาสติกเป็นอาหารอยู่ แต่ในไม่ช้าระบบนิเวศนี้อาจเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศของมหาสมุทรดั้งเดิมจากการกินสัตว์อื่นในมหาสมุทร ดังที่จะเห็นจากกรณีของมังกรทะเลสีน้ำเงินและแมงกะพรุน  

ไม่แน่ว่าความกังวลของรีเบคกาอาจจะกลายเป็นจริงขึ้นมาก็ได้ ในท้ายที่สุดแล้วระบบนิเวศที่ถูกสร้างโดยมนุษย์นี้อาจเข้าไปทำลายระบบนิเวศอื่น ๆ บนโลก จนโลกเสียสมดุล หากมนุษย์ยังมีพฤติกรรมแบบเดิมก็คงไม่เหลือระบบนิเวศหรือทรัพยากรอะไรให้คนรุ่นหลังได้ใช้แน่นอน  

อ้างอิง  

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ