แม้จะไม่มีลมหายใจแล้วแต่มนุษย์เราก็ยังรักษ์โลกต่อได้ ด้วยวิธีการเปลี่ยนกายหยาบของเราให้กลายเป็นปุ๋ย สำหรับนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
Human Composting หรือ ปุ๋ยมนุษย์ คือ การแปลงสภาพร่างกายมนุษย์ให้กลายเป็นปุ๋ย โดยนำร่างผู้เสียชีวิตบรรจุในภาชนะแบบปิด แล้วนำเศษหญ้า ไม้ หรือฟางแห้ง ที่สับเป็นชิ้นเล็ก ๆ มากลบร่างผู้เสียชีวิต เพื่อให้จุลินทรีย์และแบคทีเรียมีประสิทธิภาพในการย่อยสลายร่างได้ดีขึ้น
กระบวนการดังกล่าวใช้เวลาประมาณ 60 วัน ในช่วง 30 วันแรก ร่างกายจะเริ่มย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยแล้ว เหลือเพียงแต่กระดูกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ ชิ้นส่วนที่ย่อยสลายไม่ได้ เช่น ฟันปลอม โลหะ ฯลฯ จะถูกแยกไปรีไซเคิล 30 วันที่เหลือจะนำกระดูกมาบดให้เล็กลงและปล่อยให้ย่อยสลายต่อไป สำหรับปุ๋ยที่ได้จากกระบวนการดังกล่าวจะมีปริมาณอยู่ที่ 1 ลูกบาศก์เมตร
จุดเริ่มต้นของการทำปุ๋ยมนุษย์
จุดเริ่มต้นของปุ๋ยมนุษย์นี้ เริ่มมาจาก แคทรีนา สเปด (Katrina Spade) ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Recompose เป็นบริษัทสตาร์ตอัปในแคลิฟอร์เนียที่ได้ให้บริการจัดการศพแบบรักษ์โลก ก่อตั้งขึ้นในปี 2020 โดยที่นี้ถือเป็นสถานที่สำหรับทำปุ๋ยมนุษย์แห่งแรกของสหรัฐอเมริกา
ไอเดียของแคทรีนาเริ่มต้นมาจากการทำปุ๋ยจากปศุสัตว์หรือสัตว์เลี้ยงที่ตายในฟาร์ม ซึ่งมันสามารถนำมาใช้ประโยชน์หมุนเวียนต่อได้ในฟาร์ม ในทางเดียวกันเองเธอก็มองว่าถ้าหากเราสามารถเปลี่ยนร่างกายมนุษย์ให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้งจะเป็นอีกหนทางในจัดการดูแลสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน โดยที่ปุ๋ยดังกล่าวสามารถกลับคืนสู่มือของคนในครอบครัวได้ดังเดิม
วอชิงตัน เป็นรัฐแรกของสหรัฐฯ ที่ผ่านกฎหมายการจัดการศพในรูปแบบนี้ หลังจากนั้นรัฐโคโลราโด โอเรกอน เวอร์มอนต์ แคลิฟอร์เนีย และนิวยอร์ก ซึ่งเป็นรัฐล่าสุดที่ผ่านกฎหมายนี้ เมื่อ 2 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังมีประเทศสวีเดนที่รองรับการจัดการศพด้วยวิธีดังกล่าว ส่วนสหราชอาณาจักรนั้นอนุญาตให้ใช้วิธีการฝังตามธรรมชาติโดยไม่มีโลงศพหรือใช้โลงที่ย่อยสลายได้แทน
แล้วเปลี่ยนศพให้เป็นปุ๋ยช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมได้อย่างไรบ้าง
แคทรีนาระบุว่า การจัดการศพให้เป็นปุ๋ยนั้นจะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึงหนึ่งตันเมื่อเทียบกับการเผาศพหรือการฝังศพแบบเดิม โดยการจัดการศพแบบเดิมนั้นสร้างคาร์บอนฟุตปริ๊นต์ให้กับโลกเรามหาศาล กล่าวคือ การจัดการศพแบบเดิมทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของปัญหาก๊าซเรือนกระจก และยังสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติเกินจำเป็น เช่น ไม้ ที่ดิน ฯลฯ
บริษัทได้ตั้งเป้าหมายในกระบวนการดังกล่าวไว้ว่า มันจะช่วยปลูกต้นไม้ให้แก่โลกเราได้ถึง 1.2 ล้านต้นทั่วโลก และมันจะช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ แคทรีนาคาดหวังว่าการจัดการศพด้วยวิธีนี้จะกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ของคนในสังคมมากขึ้น
นอกจากเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว Human Composting ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนด้วย โดยมันจะช่วยประหยัดค่าฝังศพแบบได้ถึง 48% และที่สำคัญในเมืองใหญ่ที่ไร้สุสานหรือไม่มีพื้นที่มากพอที่จะฝังศพ การจัดการศพด้วยวิธีนี้ก็เห็นจะเป็นอีกวิธีที่เข้ามาแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ในอนาคต
อ้างอิง
- รู้จัก Human Composting ธุรกิจจัดการ “ศพมนุษย์” ให้เป็นปุ๋ย ตอบโจทย์ยั่งยืน
- สตาร์ตอัปแคลิฟอร์เนีย ผุดไอเดียการฝังศพแบบรักษ์โลก
- ภาพประกอบ Sandie Clarke
ผู้เขียน
หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ