งานวิจัยฉบับล่าสุดเปิดเผยว่า 30 วงจรอันตรายด้านภูมิอากาศกำลังส่งผลให้ภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้น และสร้างความเสี่ยงที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกไปอย่างถาวร
วงจรภูมิอากาศคือปฏิกิริยาลูกโซ่ต่อเนื่องซึ่งจะเกิดเมื่อการเปลี่ยนแปลงหนึ่งทำให้เกิดอีกการเปลี่ยนแปลงหนึ่งเป็นทอดๆ กระบวนการดังกล่าวจะเกิดขึ้นซ้ำแล้วครั้งเล่า บางวงจรอาจทำให้โลกเย็นลง แต่บางวงจรก็ยิ่งเร่งทำให้โลกร้อนเร็วยิ่งขึ้น
ตัวอย่างเช่นน้ำแข็งอาร์กติก อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทำให้น้ำแข็งในทะเลละลายจนเปิดให้แสงแดดส่องถึงผืนน้ำดำสนิท พื้นผิวสีดำจะดูดซับความร้อนได้มากกว่าพื้นผิวที่มีกำลังสะท้อนสูงอย่างน้ำแข็ง ส่งผลให้น้ำในมหาสมุทรอุณหภูมิสูงขึ้นและเร่งให้น้ำแข็งละลายมากขึ้น
กลุ่มนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจากหลากหลายสถาบัน อาทิ มหาวิทยาลัยออริกอนสเตต มหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ และสถาบันพอทสแดมเพื่อการวิจัยผลกระทบจากภาวะโลกร้อนในประเทศเยอรมนี ทบทวนงานวิจัยด้านภูมิอากาศจำนวนมหาศาลเพื่อรวบรวมวงจรภูมิอากาศ 41 วงจร โดย 27 วงจรจะเป็นตัวเร่งให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น อ้างอิงจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน One Earth วารสารด้านวิทยาศาสตร์ ขณะที่ 7 วงจรจะช่วยชะลอความเร็วของวิกฤติภูมิอากาศ
William Ripple ศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยาที่มหาวิทยาลัยออริกอนสเตต และหัวหน้าทีมวิจัยของการศึกษาชิ้นนี้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNN ว่าการยืนต้นตายของต้นไม้ในป่า ผืนป่าพรุที่ระอุกรุ่น และการหลอมละลายของเพอร์มาฟรอสต์ต่างเป็นสิ่งที่ชวนกังวลอย่างยิ่ง
“วงจรเหล่านี้มีแต่จะยิ่งเลวร้ายลงและยากที่จะประเมินผลกระทบเชิงปริมาณอย่างแม่นยำ” Ripple ให้สัมภาษณ์กับ CNN ส่วนนักวิจัยคนอื่นๆ ต่างประหลาดใจกับวงจรด้านภูมิอากาศจำนวนมากที่พวกเขาพบเจอ “เท่าที่ความรู้ของพวกเรา นี่คือลิสต์วงจรด้านภูมิอากาศที่ครอบคลุมที่สุด และในแบบจำลองด้านภูมิอากาศก็อาจไม่ได้คำนึงถึงวงจรเหล่านี้ทุกอย่าง” Christopher Wolf นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออริกอนสเตต และหนึ่งในทีมวิจัยระบุในแถลงการณ์
การศึกษาชิ้นนี้ยังเปิดเผยว่า วงจรด้านภูมิอากาศยังส่งผลกระทบทางอ้อมต่อกันและกัน ทำให้เกิดโครงข่ายที่สลับซับซ้อนซึ่งเชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงที่จะเร่งให้ผลกระทบจากวิกฤติภูมิอากาศมีความรุนแรงยิ่งขึ้น
ตัวอย่างเช่น แก๊สเรือนกระจกซึ่งเกิดจากการละลายของเพอร์มาฟรอสต์ ซึ่งหมายถึงชั้นดินเยือกแข็งซึ่งห่มคลุมทวีปอาร์กติก และพื้นที่ส่วนอื่นๆ ทางตอนเหนือของโลกจะเป็นปัจจัยที่เร่งให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น พร้อมกับเป็นสาเหตุของอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งยิ่งขึ้น ส่งผลต่อไฟป่าที่รวดเร็ว กินพื้นที่กว้าง และมีความรุนแรงอย่างยิ่ง ไฟป่าจะปล่อยแก๊สเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อนขึ้นไปอีก วนเวียนกลับไปมาเช่นนี้
ความเชื่อมโยงดังกล่าว “ทำให้การคาดการณ์ผลกระทบจากวิกฤติภูมิอากาศมีความท้าทายอย่างมาก” Ripple กล่าว
เรายังเผชิญความเสี่ยงที่วงจรเหล่านี้อาจทำให้เราผ่านจุดวิกฤติของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจไม่สามารถย้อนกลับมาแก้ไขได้ ตัวอย่างเช่น วงจรซึ่งเร่งให้น้ำแข็งในอาร์กติกละลายอาจทำให้แผ่นน้ำแข็งในกรีนแลนด์พังทลายลง “ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด หากวงจรภูมิอากาศดังกล่าวมีกำลังสูงมากพอก็อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศที่เลวร้ายเกินว่าที่มนุษย์จะสามารถควบคุมได้” Ripple ระบุในแถลงการณ์
งานศึกษาชิ้นนี้ยังระบุถึงวงจร 7 วงจรที่ “ชะลอ” ภาวะโลกร้อน และช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบภูมิอากาศ อาทิ ความสามารถของผืนดินและมหาสมุทรในการดูดซับแก๊สเรือนกระจกที่ทำให้อุณภูมิโลกสูงขึ้น
Tim Lenton หนึ่งในทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ให้สัมภาษณ์กับ CNN ว่าความ “พยายามวัดความรุนแรงของแต่ละวงจร” มีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อทำให้เข้าใจว่ากลไกดังกล่าวส่งผลอย่างไรต่อระบบภูมิอากาศที่สลับซับซ้อน “เราตอนนี้ยืนอยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียสและมีแนวโน้มที่จะผ่านจุดวิกฤติไป ส่งผลให้วงจรที่ถือเป็นทางเลือกเพื่อโลกใบที่ภูมิอากาศยังปลอดภัยต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์น้อยลงไปอีก” Johan Rockström ผู้อำนวยการสถาบันพอทสแดมเพื่อการวิจัยผลกระทบจากภาวะโลกร้อนในประเทศเยอรมนีและหนึ่งในทีมวิจัยให้สัมภาษณ์กับ CNN
ทีมวิจัยเรียกร้องให้มีการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก “อย่างเร่งด่วนที่สุด” พร้อมทั้งเพิ่มการศึกษาเรื่องวงจรภูมิอากาศให้มีความชัดเจนกว่านี้ “เราเดินหน้าช้าเกินกว่าที่จะหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ถ้าเราดำเนินมาตรการที่จำเป็นโดยให้ความสำคัญต่อความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ และความเป็นธรรมทางสังคม ก็ยังเป็นไปได้ว่าเราจะสามารถจำกัดความเสียหายเอาไว้ได้” Ripple กล่าว
ถอดความและเรียบเรียงจาก Nearly 30 dangerous feedback loops could permanently shift the Earth’s climate, scientists say
ผู้เขียน
บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก