ในแต่ละปี อุตสาหกรรมอาหารผลิตขยะเป็นเปลือกของสัตว์ทะเลอย่างปู กุ้ง และล็อบสเตอร์น้ำหนักมากกว่า 8 ล้านตัน ขยะเหล่านี้อาจมีปลายทางที่บ่อขยะหรือมหาสมุทร ปัจจุบัน TômTex สตาร์ตอัปผลิตวัสดุจากชีวภาพสามารถแปลงขยะดังกล่าวให้กลายเป็นวัสดุที่หน้าตาราวกับหนังสัตว์
บริษัทจากบรุกลินได้คิดค้น “หนัง” รูปแบบใหม่ที่ทำมาจากเปลือกของสัตว์ทะเล หรือหากพูดให้ชัดเจนมากขึ้น วัสดุดังกล่าวผลิตมาจากโพลิเมอร์ที่เรียกว่าไคโตซานซึ่งสกัดมาจากเปลือกสัตว์ทะเลเหล่านั้น (สำหรับเหล่าวีแกน TômTex ก็มีอีกหนึ่งทางเลือกโดยใช้เห็ดเป็นวัตถุดิบแทน) นอกจากนี้ กระบวนการผลิตหนังยังแตกต่างจากหนังสังเคราะห์อื่นๆ ในตลาด เพราะหนังจากเปลือกสัตว์ทะเลไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีอันตราย (ใช้เพียงสารเคมีที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม) อีกทั้งยังไม่ต้องใช้พลาสติกอีกด้วย
บริษัท TômTex ก่อตั้งในปี 2020 โดย Uyen Tran นักออกแบบและนักวิจัยด้านวัสดุชาวเวียดนามที่ต้องการพัฒนาวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและใช้วัตถุดิบจากขยะเป็นหลัก ขั้นแรกบริษัทประสบความสำเร็จในการผลิตวัสดุ ก่อนจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์แรกโดยจับมือกับนักออกแบบ Peter Do เป็นเสื้อและกางเกงซึ่งผลิตจากหนัง TômTex ที่มันวาวจากการเคลือบด้วยขี้ผึ้ง
TômTex ร่วมมือกับหน่วยงานในเวียดนามเพื่อจัดเก็บเปลือกสัตว์ทะเลและเกล็ดปลา นำมาสกัดสารไคโตซานซึ่งบริษัทรับซื้อมาในรูปของผง บริษัทจะนำผงที่ได้มาผสมกับน้ำและสารสกัดอื่นๆ ที่ไม่เป็นพิษ (สารใดๆ ที่เป็นพิษมากกว่าเกลือทะเลจะนับว่าไม่เหมาะสม) ก่อนจะเทส่วนผสมทั้งหมดลงในแม่พิมพ์ ทิ้งไว้หนึ่งคืน ก่อนจะได้วัสดุที่นุ่มหยุ่นแต่แข็งแรงคงทน
“ความสวยงามของวัสดุที่เราสร้างขึ้นคือเราสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบอย่างไรก็ได้” Atom Nguyen ผู้บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท TômTex กล่าว การใช้แม่พิมพ์ทำให้สามารถออกแบบวัสดุให้คล้ายกับหนังสัตว์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นหนังจระเข้ หรือหนังงู (วัสดุนี้ยังสามารถนำมาปั๊มนูนได้ในภายหลัง) สามารถนำมาย้อมด้วยสีธรรมชาติอย่างถ่านหรือมะขาม ความหนาก็สามารถกำหนดได้ไม่ยาก และความยืดหยุ่นของวัสดุก็สามารถปรับเปลี่ยนได้โดยการปรับสัดส่วนและสารที่ผสม
เนื่องจากความสามารถในการปรับเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นอย่างมาก Nguyen ระบุว่าวัสดุนี้จึงสามารถพัฒนาได้หลากหลายรูปแบบเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย แม้ว่า TômTex จะเริ่มต้นในอุตสาหกรรมแฟชัน แต่ Nguyen มองว่าวัสดุนี้มีโอกาสปรับใช้ได้หลากหลายตั้งแต่การใช้ผลิตเคสโทรศัพท์มือถือ หรือเบาะรถยนต์ แม้กฎเกณฑ์เกี่ยวกับวัสดุที่ใช้ในอุตสาหกรรมดังกล่าวจะเข้มงวดอย่างมาก แต่ Nguyen ก็เชื่อว่าอาจต้องใช้เวลาหนึ่งหรือสองปีเพื่อพัฒนาทั้งนวัตกรรมและแบรนด์
ปัจจุบัน เสื้อผ้าแต่ละชุดใช้เวลาผลิตราวสี่สัปดาห์ สาเหตุก็เนื่องจากวัสดุดังกล่าวยังพัฒนาขึ้นในห้องทดลอง ทำให้ยังไม่สามารถผลิตคราวละมากๆ ได้ แต่ตอนนี้บริษัทกำลังออกแบบกระบวนการผลิตที่เหมาะสม ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราอาจนั่งอยู่บนเบาะหนังที่ทำมาจากเปลือกกุ้ง โดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันทำมาจากอะไร
ถอดความและเรียบเรียงจาก This looks like leather — but it’s made from shrimp shells
ผู้เขียน
บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก