เชนร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดในฝรั่งเศสต่างเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรอบหลายทศวรรษเมื่อรัฐบาลประกาศแบนสารพัดอุปกรณ์ใช้แล้วทิ้งอย่างจาน แก้วน้ำ และช้อนส้อมสำหรับลูกค้าที่ตัดสินใจว่าจะรับประทานที่ร้าน
เชนร้านอาหาร อาทิ แมคโดนัลด์ เบอร์เกอร์คิง สตาร์บัคส์ และซับเวย์ ต่างเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่เหล่านักสิ่งแวดล้อมเรียกว่า ‘การปฏิวัติ’ ในวันที่ 1 มกราคมที่จะถึงนี้เพราะมาตรการใหม่ของภาครัฐจะบังคับใช้ในฝรั่งเศสเพื่อจัดการกับปัญหาขยะ
อุตสาหกรรมฟาสต์ฟู้ดส่วนใหญ่มักจะใช้โมเดลธุรกิจที่อิงกับอุปกรณ์ เช่น กล่อง แก้ว และบรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้งโดยที่ผู้บริโภคสามารถเททุกอย่างลงถังขยะได้ทันทีหลังจากรับประทานอาหารเสร็จ
แต่ภายใต้กฎหมายใหม่ ร้านอาหารใดก็ตามที่มีจำนวนมากกว่า 20 ที่นั่ง ไม่ว่าจะเป็นโรงอาหารในที่ทำงาน เชนร้านเบเกอรี ฟาสต์ฟู้ด และร้านซูชิ จะต้องมีบริการอุปกรณ์รับประทานอาหารที่สามารถล้างแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งแก้วน้ำ จานชาม และช้อนส้อม สำหรับลูกค้าที่รับประทานอาหารในร้าน นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมในฝรั่งเศสเรียกการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ว่า “การปรับกระบวนทัศน์ครั้งใหญ่” สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร
ในฝรั่งเศสมีสาขาร้านฟาสต์ฟู้ดราว 30,000 ร้าน เสิร์ฟอาหารกว่า 6 พันล้านครั้งในแต่ละปี และผลิตขยะน้ำหนักรวม 180,000 ตัน กลุ่มรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมระบุว่าขยะกว่า 55 เปอร์เซ็นต์นั้นมาจากลูกค้าที่รับประทานอาหารในร้าน
“เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่กฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ได้เสียที” Alice Elfassi ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของ Zero Waste France องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ผลักดันมาตรการดังกล่าวจนผ่านเป็นกฎหมายในปี 2020 และจะให้เวลาบริษัทเตรียมการถึงปี 2023 ให้สัมภาษณ์ “อุตสาหกรรมฟาสต์ฟู้ดคือธุรกิจที่ผลิตขยะปริมาณมหาศาล แม้ว่าพลาสติกใช้แล้วทิ้งจะถูกแบนไปแล้ว แต่พลาสติกกลับถูกแทนที่ด้วยผลิตภัณฑ์ใช้แล้วทิ้งแบบอื่น เช่น ไม้ ไม้ไผ่ ไม้อัด ซึ่งเราก็ยังมองว่าเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองเกินกว่าที่จะรับได้”
Zero Waste France และเครือข่ายนักสิ่งแวดล้อมร่วมกันกดดันรัฐบาลให้ตรวจสอบอย่างเข้มข้นว่าร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดทำตามกฎหมายหรือไม่ พร้อมทั้งให้สั่งปรับหากจำเป็น พวกเขาระบุว่ารัฐบาลควรพิจารณาถึงทางเลือกที่นำมาใช้ทดแทนเมื่อกฎหมายบังคับใช้ด้วยด้วย “ร้านฟาสต์ฟู้ดส่วนใหญ่ไม่ยอมกลับมาใช้อุปกรณ์ทานอาหารแบบคลาสสิค เช่น แก้วหรือจานที่ใช้ซ้ำได้นานหลายปี แต่กลับเลือกใช้พลาสติกแข็งซึ่งเราค่อนข้างกังวลถึงความคงทนว่ามันจะสามารถใช้ซ้ำได้กี่ครั้งหลังจากทำความสะอาด หรือล้างเพียงสองสามครั้งก็ต้องนำไปทิ้ง เราจะจับตาดูประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด”
อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวบังคับเฉพาะอุปกรณ์รับประทานอาหารที่ใช้สำหรับลูกค้าที่ทานในร้าน ส่วนใครที่สั่งกลับบ้าน เช่น สั่งจากแมคโดนัลด์ ก็จะยังได้รับบรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้ง แต่นักสิ่งแวดล้อมก็หวังว่าบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วทิ้งสำหรับสั่งอาหารกลับบ้านจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต เช่น ลูกค้าอาจต้องจ่ายเงินมัดจำสำหรับค่าบรรจุภัณฑ์แล้วต้องนำมาคืนเพื่อรับเงินก้อนดังกล่าว
กฎหมายฉบับใหม่บังคับให้เบอร์เกอร์และแซนด์วิชที่ทานในร้านจะต้องไม่เสิร์ฟในกล่อง แต่ก็ยังสามารถเสิร์ฟโดยห่อในกระดาษได้ ส่วนอาหารประเภทอื่นๆ เช่น เฟรนช์ฟรานส์ นักเก็ต พิซซา ไอศกรีม และเค้ก จะต้องเสิร์ฟในจาน ชาม หรือแก้วที่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้หลังจากผ่านการล้างที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียสตามมาตรฐานร้านอาหารทั่วไป
ร้านแมคโดนัลด์และเบอร์เกอร์คิงได้เริ่มนำร่องการใช้อุปกรณ์ใส่อาหารแบบคงทนที่สามารถทดแทนบรรจุภัณฑ์ดั้งเดิมแบบใช้แล้วทิ้ง แต่ความท้าทายของร้านฟาสต์ฟู้ดส่วนใหญ่คือการหาพื้นที่เพื่อติดตั้งเครื่องล้างจานสำหรับแก้วน้ำและจานชาม พร้อมทั้งว่าจ้างพนักงานเพื่อคอยห้ามไม่ให้ลูกค้าเอาจานชามไปทิ้ง หรือแอบหยิบกลับบ้าน ลูกค้าวัยรุ่นบางคนยังกังวลว่าแก้วน้ำที่นำมาใช้ซ้ำอาจจะล้างไม่สะอาดพอ และต้องการขอแก้วแบบซื้อกลับบ้านดีกว่า
เครือข่ายองค์กรสิ่งแวดล้อม 4 แห่ง อาทิ Surfrider และ No Plastic In My Sea ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงผู้บริโภคโดยขอร้องให้ทุกคนคอยจับตาและอย่ารับประทานอาหารในร้านใดก็ตามที่ยังไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายฉบับใหม่
ถอดความและเรียบเรียงจาก Ban on single-use restaurant tableware hailed as fast-food ‘revolution’ in France
ผู้เขียน
บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก