งานวิจัยเปิดเผยว่าสัตว์มีกระดูกสันหลังที่อาศัยอยู่บนบกกว่า 40 เปอร์เซ็นต์จะเผชิญภัยคุกคามจากความร้อนสุดขั้วก่อนสิ้นศตวรรษนี้ ภายใต้ฉากทัศน์การปล่อยแก๊สเรือนกระจกในระดับสูงที่ทำให้อุณภูมิสูงสุดขั้วกลายเป็นเรื่องปกติ
สัตว์เลื้อยคลาน นก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เผชิญกับวิกฤติความร้อนสุดขั้วที่บ่อยครั้งขึ้น ยาวนานขึ้น และรุนแรงขึ้น เนื่องจากภาวะโลกร้อนที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์จะกลายเป็นภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพบนโลกใบนี้
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ระบุว่าภายใต้ฉากทัศน์การปล่อยแก๊สเรือนกระจกในระดับสูงจนอุณหภูมิโลกสูงขึ้น 4.4 องศาเซลเซียส ส่งผลให้สัตว์มีกระดูกสันหลังที่อาศัยอยู่บนบก 41 เปอร์เซ็นต์เผชิญภัยพิบัติด้านความร้อนภายในปี พ.ศ. 2642 โดยภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดคือทะเลทรายโมฮาวีในสหรัฐอเมริกา ที่ราบแกรนชาโค (Gran Chaco) ในอเมริกาใต้ ภูมิภาคซาเฮลและทะเลทรายสะฮาราในแอฟริกา และพื้นที่ส่วนส่วนหนึ่งของอิหร่านและอัฟกานิสถาน สัตว์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ 100 เปอร์เซ็นต์จะเผชิญกับภาวะความร้อนสุดขั้ว แม้จะยังตอบฟันธงไม่ได้ว่าพื้นที่ดังกล่าวจะไม่สามารถอยู่อาศัยได้ แต่มีแนวโน้มอย่างยิ่งว่าชนิดพันธุ์จำนวนมากจะสูญพันธุ์
นักวิจัยทำแผนที่ผลกระทบจากภาวะความร้อนสุดขั้วต่อสัตว์มีกระดูกสันหลังที่อาศัยอยู่บนบกกว่า 33,000 ชนิดพันธุ์ พร้อมทั้งใช้ข้อมูลอุณหภูมิสูงสุดระหว่างปี พ.ศ. 2493 จนถึง 2642 พร้อมกับพิจารณาการทำนายฉากทัศน์ทั้งห้ารูปแบบตามแบบจำลองภูมิอากาศโลกที่อิงตามระดับการปล่อยแก๊สเรือนกระจก ร่วมกับการกระจายตัวของสัตว์มีกระดูกสันหลังที่อาศัยอยู่บนบกเพื่อวิเคราะห์ว่าประชากรสัตว์เหล่านั้นจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง
“งานศึกษาล่าสุดบางชิ้นแสดงแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิที่สอดคล้องกับฉากทัศน์ว่าโลกจะร้อนขึ้น 4.4 องศาเซลเซียส” Gopal Murali หัวหน้าทีมวิจัยของงานชิ้นดังกล่าวจาก University of Negev ประเทศอิสราเอลให้สัมภาษณ์ “เราต้องการแสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์อันเลวร้ายต่อสัตว์ป่าถ้าเรายังเดินหน้าปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์โดยไม่คิดจะลด”
สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำจะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ 55 เปอร์เซ็นต์และ 51 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ โดยคาดว่าจะเผชิญกับภาวะร้อนสุดขั้วภายในสิ้นศตวรรษนี้ ขณะที่นกจะได้รับผลกระทบราว 26 เปอร์เซ็นต์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมราว 31 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุที่สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงก็เนื่องจากพวกมันมักกระจายพันธุ์อยู่ในพื้นที่ซึ่งอุณหภูมิแตกต่างกันไม่มากนัก
หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นไม่เดิน 3.6 องศาเซลเซียส สัตว์มีกระดูกสันหลังที่อาศัยอยู่บนบก 29 เปอร์เซ็นต์จะเผชิญภาวะความร้อนสุดขั้ว แต่ตัวเลขดังกล่าวจะลดลงเหลือเพียง 6 เปอร์เซ็นต์หากเราสามารถจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิให้ไม่เกิน 1.8 องศาเซลเซียส “การลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกอย่างรวดเร็วจึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อปกป้องไม่ให้ชนิดพันธุ์เหล่านี้ต้องเผชิญกับความร้อนสูง”
ความเครียดจากความร้อนอาจส่งผลให้สัตว์ป่าตายจำนวนมาก และอาจทำลายล้างทั้งระบบนิเวศดังที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2564 เมื่อคลื่นความร้อนบริเวณชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของแคนาดาซึ่งผู้เชี่ยวชาญคาดว่าคร่าชีวิตสัตว์น้ำไปกว่าหนึ่งพันล้านตัว Gopal Murali แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า “คลื่นความร้อนกลายเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เป็นเรื่องที่เราเจอแทบทุกฤดูร้อนพร้อมกับตัวเลขสถิติใหม่แทบทุกครั้ง คลื่นความร้อนเหล่านี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสัตว์ป่า และสามารถทำลายระบบนิเวศได้นชั่วข้ามคืน แต่ยังไม่มีงานวิจัยขนาดใหญ่ที่วิเคราะห์ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ จะส่งผลอย่างไรต่อความหลากหลายทางชีวภาพในอนาคต”
ในแต่ละปี อุณหภูมิสุดขั้วคร่าชีวิตประชาชนไปกว่า 5 ล้านคนทั่วโลก จำนวนผู้เสียชีวิตจากความร้อนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง “ถ้าเรายังเดินหน้าไปตามทิศทางนี้ อนาคตของเราก็ดูจะไม่สดใสนัก” Uri Roll จาก Ben-Gurion University of the Negev ให้สัมภาษณ์
ขณะที่มนุษย์สามารถหลบแดดใต้ร่มเงาอาคาร ดื่มน้ำมากเท่าที่จะมากได้ อีกทั้งยังมีตู้เย็นสำหรับแช่อาหาร “สำหรับสัตว์ป่าแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นไปไม่ได้” Uri Roll กล่าว “ดังนั้นวิกฤติความร้อนสุดขั้วจะกระทบต่อชนิดพันธุ์จำนวนมาก นี่เป็นเพียงหนึ่งด้านของอีกหลากหลายมิติที่เราคาดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง อาทิ ถิ่นอาศัยที่เปลี่ยนแปลง การรุกรานของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำฝน”
ศาสตราจารย์ Nathalie Pettorelli นักนิเวศวิทยาประยุกต์จากองค์กรสัตววิทยาสมาคมแห่งลอนดอนซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานวิจัยชิ้นนี้แสดงความเห็นว่ารายงานฉบับดังกล่าวคือ “การคาดการณ์ที่ค่อนข้างแม่นยำ” เกี่ยวกับแรงกดดันจากความร้อนสุดขั้วที่ส่งผลต่อสัตว์มีกระดูกสันหลังที่อาศัยอยู่บนบก ณ สิ้นศตวรรษนี้ ขณะที่ Dr. Ryan Long อาจารย์ด้านสัตววิทยาจาก University of Idaho แสดงความเห็นต่องานชิ้นนี้ว่า “ทีมวิจัยเสนอข้อมูลที่น่ารับฟังว่าถ้าเรายังไม่จัดการกับระดับการปล่อยแก๊สเรือนกระจกในปัจจุบัน สิ่งมีชีวิตจำนวนมากบนพื้นโลกจะเผชิญกับวิกฤติอุณหภูมิที่สูงสุดขั้วอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนภายในสิ้นศตวรรษนี้ โดยเฉพาะทะเลทรายและทุ่งหญ้าแถบเส้นศูนย์สูตร”
ถอดความและเรียบเรียงจาก Extreme heat could put 40% of land vertebrates in peril by end of century
ผู้เขียน
บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก