IUCN เผย! สัตว์อีก 44,000 ชนิด กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

IUCN เผย! สัตว์อีก 44,000 ชนิด กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รายงานฉบับล่าสุดของ IUCN เผยว่า มีสัตว์ในบัญชีกว่า 44,000 ชนิด กำลังมีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ คิดเป็น 28% ของสัตว์ในบัญชีทั้งหมด โดยสาเหตุหลักของความเสี่ยงสูญพันธุ์นี้มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รายงานฉบับล่าสุดเกี่ยวกับสัตว์ที่ถูกขึ้นบัญชีแดงของ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN ถูกเผยแพร่ออกมาที่การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่  28 หรือ COP28  ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งประชุมกันเสร็จเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ที่ผ่านมา 

เนื้อหาของรายงานระบุว่า มีสัตว์จำนวนมากกว่า 44,000 ชนิดทั่วโลก กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ โดยในรายงานระบุว่าภัยคุกคามหลักคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังสร้างผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตไปทั่วโลก 

ดร. เครก ฮิลตัน-เทย์เลอร์ หัวหน้าหน่วยบัญชีแดง ทีมประเมินและความรู้ความหลากหลายทางชีวภาพ ศูนย์วิทยาศาสตร์และข้อมูล IUCN กล่าวว่า “สัตว์หลายชนิดทั่วโลกกำลังตกที่นั่งลำบาก นับวันสัตว์ยิ่งถูกคุกคามเพิ่มมากขึ้น จากการที่ตรวจสอบสาเหตุแล้ว หลัก ๆ เราพบว่ามาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อระบบนิเวศของสัตว์นานาชนิด และเร็ว ๆ นี้อาจมีสัตว์ถูกคุกคามเพิ่มมากขึ้นด้วย” 

ด้านเกรเธล อากีลาร์ ผู้อำนวยการใหญ่ของ IUCN กล่าวถึงผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศไว้ว่า “การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้นเชื่อมโยงกับความหลากหลายทางชีวภาพโดยตรง ดังนั้น การลดลงของสายพันธุ์สัตว์จึงถือเป็นหนึ่งในหายนะที่น่ากลัวที่เกิดขึ้น” 

“พวกเราทุกคนมีพลังมากพอที่จะหยุดยั้งมัน หัวใจหลักคือการดำเนินการอย่างเร่งด่วน ดังนั้นแล้วการรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเราไม่ให้พุ่งสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรตระหนักได้แล้ว” 

นอกจากนี้ไม่เพียงแต่ 44,000 สายพันธุ์ที่อยู่บนความเสี่ยง แต่ในบัญชีแดงของ IUCN ยังมีการประเมินสถานะของปลาน้ำจืดทั่วโลกด้วย ซึ่ง IUCN เป็นกังวลต่อสถานการณ์ของปลาน้ำจืดทั่วโลกมากที่สุด จากการตรวจสอบปลาน้ำจืดทั้งหมด 14,898 ชนิด พบว่าปลากว่า 3,000 ชนิด หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของปลาน้ำจืดทั้งหมด กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

สาเหตุหลักที่พวกเขาระบุเอาไว้ในรายงานคือ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล อันมีสาเหตุมาจากอุณหภูมิโลกที่ค่อย ๆ สูงขึ้น ทำให้น้ำเค็มไหลเข้ามาตามแหล่งน้ำจืด และได้เปลี่ยนแปลงระบบนิเวศเดิมของพวกมันไป 

นอกจากภัยคุกคามตามธรรมชาติแล้ว ยังมีภัยคุกคามอื่น ๆ ที่น่าจับตามองเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น ปัญหามลพิษทางแหล่งน้ำ การสร้างเขื่อน และปลาสายพันธุ์รุกรานต่างถิ่น ตลอดจนการจับปลามากเกินไป ทั้งหมดนี้ล้วนเกิดขึ้นจากมนุษย์ทั้งสิ้น 

บาร์นีย์ ลอง จากกลุ่มอนุรักษ์ Re:wild กล่าวว่า “เป็นเรื่องที่น่าตกใจที่ 1 ใน 4 ของปลาน้ำจืดทั้งหมดกำลังจะสูญพันธุ์ มันถึงเวลาที่เราจะต้องลุกขึ้นปกป้องระบบนิเวศน้ำจืดของเราเอาไว้ มันไม่ใช่เพียงที่อยู่อาศัยของปลาเพียงเท่านั้น แต่มันยังเป็นระบบนิเวศบริการของมนุษย์ด้วย หากมนุษย์สูญเสียแหล่งน้ำจืดที่ล้ำค่าไป ก็คงไม่มีอะไรจะมาทดแทนได้”

ไม่เพียงแค่สัตว์เท่านั้นที่เสี่ยงสูญพันธุ์ พืชเองก็ได้รับผลกระทบดังกล่าวด้วยเช่นกัน ในรายงานฉบับนี้ได้พูดถึง มะฮอกกานีใบใหญ่ (Swietenia macrophylla) เป็นหนึ่งในต้นไม้ที่ถูกใช้งานโดยมนุษย์มากที่สุด โดยมันถูกนำไปทำเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน หรือผลิตภัณฑ์จากไม้ต่าง ๆ ซึ่งการทำการเกษตรและการเจริญเติบโตของเมืองคือภัยคุกคามแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของพวกมันโดยแท้ นอกจากมะฮอกกานีใบใหญ่แล้ว ยังมีพืชอีกหลายชนิดที่ถูกเพิ่มเข้าไปในบัญชีแดงปีนี้เช่นกัน 

เราไม่ได้กำลังสูญเสียอย่างเดียว แต่กำลังได้คืนด้วย 

ท่ามกลางข่าวร้ายก็ยังมีข่าวดี เมื่อ IUCN ได้รายงานอัปเดตว่า ออริกซ์เขาดาบโค้ง ( scimitar-horned oryx) สัตว์ที่เคยถูกระบุไปว่าสูญพันธุ์ในป่าไปแล้ว ทว่าเรากลับได้รับแจ้งว่ามีลูกออริกซ์เขาดาบพึ่งเกิดมากถึง 331 ตัวในเขตอนุรักษ์ Ouadi Rimé-Ouadi Achim Fauna 

ยังมีกวางแอนทีโลปสายพันธุ์ ไซกะ  (saiga antelope) ที่พึ่งถูกย้ายจากสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งไปเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์แทน หลังจากที่จำนวนประชากรของพวกมันในประเทศคาซัคสถานเพิ่มขึ้น 1,100% ระหว่างปี 2015 – 2022 ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการบังคับใช้มาตรการต่อต้านการลักลอบล่าสัตว์

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์พยายามอย่างยิ่งที่จะรักษาและฟื้นฟูสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ให้มีชีวิตอยู่บนโลกต่อได้ กรณีตัวอย่างที่ยกมาทั้ง 2 สายพันธุ์ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวของความสำเร็จของมนุษย์ที่ได้แสดงให้เห็นว่าพวกเขามุ่งมั่นและตั้งใจที่จะรักษาธรรมชาติเอาไว้ ดังที่เกรเธลได้กล่าวเอาไว้ว่า 

“พวกเราทุกคนมีพลังมากพอที่จะหยุดเรื่องราวทุกอย่างนี้” ดังนั้น เราจึงอยากให้ทุกคนตระหนักถึงเรื่องนี้เอาไว้ให้มาก เพราะถ้าหากสัตว์ชนิดใดสูญพันธุ์ไปจริง ๆ เราก็จะคงจะไม่ได้เห็นสัตว์ชนิดนั้นอีกเลย

อ้างอิง

ภาพประกอบ