น้ำร้อน ภัยแล้ง โลมาตาย โศกนาฏกรรมโลมาแม่น้ำแอมะซอนตายเกลื่อนกว่า 120 ตัว

น้ำร้อน ภัยแล้ง โลมาตาย โศกนาฏกรรมโลมาแม่น้ำแอมะซอนตายเกลื่อนกว่า 120 ตัว

โบโต หรือ โลมาสีชมพูแห่งลุ่มน้ำแอมะซอน กำลังมีชีวิตอยู่บนความเสี่ยง รอบกายเต็มไปด้วยภยันตรายทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น

ล่าสุด เมื่อช่วงคาบเกี่ยวปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคม 2023 มีรายงานการพบซากโลมาในทะเลสาบเทเฟ ลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำแอมะซอน ตายเกลื่อนมากถึง 120 ตัว

บางรายงานอ้างว่าพบซากมากกว่า 125 ตัว (ตามข้อมูลวันที่ 11 ตุลาคม 2023)

โดย 8 ใน 10 ของซากโลมาที่พบเป็นโบโต ส่วนที่เหลือเป็น ตูคูซี หรือโลมาแม่น้ำสีเทา

ถึงตอนนี้ยังไม่ทราบว่ามัจจุราชตนไหนเป็นผู้พรากชีวิตสายพันธุ์เหล่านี้ไป

ส่วนเชื่อมโยงที่ใกล้เคียงที่สุดเป็นเรื่องอุณหภูมิของน้ำที่อุ่นขึ้นมากแบบผิดปกติ โดยวัดอุณหภูมิในช่วงปลายเดือนได้ 39 องศาเซลเซียส 

ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุณหภูมิน้ำในเวลานี้ของปีก่อนๆ ถึง 10 องศาเซียลเซียส 

เนื่องจากน้ำที่ร้อนจัดจนเกินพอดี จะทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลง ปลาต้องเพิ่มอัตราการหายใจให้มากขึ้น ส่งผลไปยังเรื่องการเผาผลาญพลังงาน 

และทำให้ปลาตายเพราะหายใจไม่ออก

โดยปัจจัยที่ทำให้อุณหภูมิน้ำสูงอาจมีสาเหตุมาจากภัยแล้ง และทำให้พื้นที่ปลอดภัยของโลมาเหลือน้อยลง 

Bruno Kelly/Reuters

อย่างไรก็ตาม สัตวแพทย์และนักสิ่งแวดล้อมที่ลงพื้นที่สำรวจยังไม่ได้ตัดความเป็นไปได้อื่นๆ เช่น การตายเพราะแบคทีเรีย หรือสิ่งปฏิกูลอื่นๆ ที่ปนเปื้อนในน้ำ

เรื่องนี้ต้องรอผลการตรวจตัวอย่างเนื้อเยื้อจากห้องแล็บก่อน ถึงจะยืนยันได้ว่า โลมากว่า 120 ตัวตายเพราะอะไร 

แต่ก็คาดว่าต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ๆ จึงจะทราบผล เนื่องจากภัยแล้งทำให้การเดินทางเข้าออกจุดที่พบซากโลมาทำได้ยาก 

เส้นทางสัญจรที่ต้องแล่นเรือตามแม่น้ำเพียงทางเดียวได้เหือดแห้งลงหลายจุด

นอกจากซากโลมาที่พบ ในการตรวจสอบยังพบโลมาอีกหลายสิบตัวที่มีอาการป่วย เป็นตายมะรอมมะร่อ หลายๆ ตัวอยู่ในความดูแลของสัตวแพทย์อย่างใกล้ชิด

รวมถึงได้ย้ายโลมาที่ป่วยออกจากจุดเกิดเหตุ นำไปไว้ในสระน้ำเทียมที่สร้างเพื่อพักฟื้นฟู 

ส่วนจะรอดหรือไม่ เวลานี้ยังไม่มีคำตอบ ตัวเลขการเสียชีวิตอาจเพิ่มขึ้นหรือหยุดนิ่ง มีโอกาสเป็นไปได้ทั้งสองทาง

นอกจากนี้ ยังพบปลาตัวเล็กตัวน้อยชนิดอื่นๆ ประสบชะตากรรมเดียวกัน จนบางจุดของทะเลสาบเทเฟเปรียบได้ดั่งสุสานของปลาไปเสียแล้ว 

“สถานการณ์มันเลวร้าย มีโลมาตายจำนวนมาก เราพูดคุยกับชาวบ้านและผู้คนที่อยู่ริมแม่น้ำในภูมิภาคนี้ พวกเขาบอกว่าไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อนเลย” อายัน เฟลสช์แมน (Ayan Fleischman) นักสิ่งแวดล้อมจากสถาบันมามิเรา หนึ่งในผู้ลงพื้นที่สำรวจกล่าวกับผู้สื่อข่าว

Bruno Kelly/Reuters

สำหรับเรื่องราวของโลมาแห่งลุ่มน้ำแอมะซอน ปัจจุบันคาดว่าเหลืออยู่ราวๆ 1,400 ตัว

สถานะในบัญชีแดง IUCN ระบุว่าอยู่ในกลุ่มที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

การจากไปของโลมาทั้ง 120 ตัว จึงทำให้จำนวนประชากรลดหายไปอีก 10 เปอร์เซ็นต์

ข้อมูลการศึกษาในอดีตที่ผ่านมา (ปี 2018) พบว่าโลมาที่อาศัยอยู่ลุ่มน้ำแอมะซอนลดลงครึ่งหนึ่งในทุกๆ ทศวรรษ 

ด้วยอัตรานี้ คาดว่าอีกไม่นาน สายพันธุ์โลมาแม่น้ำแห่งแอมะซอนคงสูญสิ้นไปจากโลก 

สาเหตุหลักที่ทำให้โลมาลดลงมาจากการล่าโดยตรงของมนุษย์ โดยชาวประมงมักล่าโลมาเพื่อนำเนื้อไปใช้เป็นเหยื่อจับปลาชนิดอื่นๆ 

และถึงแม้ในปัจจุบัน โลมาแม่น้ำจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย แต่การล่าก็ไม่ได้ลดลง เนื่องจากความหย่อนยานในการบังคับใช้ ไม่ได้มีการกวดขัน ดูแลโลมา หรือตามจับกุมผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง

ในทางตรงกันข้าม โลมาแม่น้ำหรือโลมาน้ำจืดเป็นสายพันธุ์ที่ใช้เวลาในการสืบพันธุ์ค่อนข้างนาน ทำให้อัตราการเกิดค่อนข้างต่ำ 

โอกาสเพิ่มจำนวนประชากรจึงทำได้ยาก หากไม่รักษาส่วนที่เหลือเอาไว้ให้ได้ก่อน

รวมถึงยังมีปัญหาเรื่องโลกเดือดตามมารุมเร้า

ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Animal Conservation แสดงให้เห็นว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบนบกส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในป่าบราซิลถูกคุกคามจากสภาพอากาศสุดขั้ว

ขณะที่ผลการศึกษาอีกชิ้นที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances ชี้ว่า นกในแอมะซอนมีขนาดลำตัวเล็กลงเมื่อสภาพอากาศอบอุ่นขึ้น

โดยหนึ่งในเหตุผลที่เป็นเช่นนี้เพราะนกตัวเล็กจะสามารถระบายความร้อนได้มีประสิทธิภาพมากกว่านกตัวใหญ่

การเปลี่ยนแปลงที่คล้ายกันนี้ ยังเกิดขึ้นกับปลา ทำให้มีขนาดเล็กลงและพบเห็นได้น้อยลงในพื้นที่ชุ่มน้ำและลำธารด้วย

รายงานของ WWF ล่าสุดระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำให้สายพันธุ์พืชและสัตว์ครึ่งหนึ่งหายไปจากป่าฝนแอมะซอนภายในปี 2100

อ้างอิง

ผู้เขียน

Website | + posts

โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน